พระพรหมวชิราภรณ์ (สนธิ์ อนาลโย ป.ธ.๓) | พระสังฆาธิการ

พระพรหมวชิราภรณ์ (สนธิ์ อนาลโย ป.ธ.๓)


 
เกิด ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
อายุ ๘๙ ปี
อุปสมบท ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗
พรรษา ๖๙
วัด วัดพุทธบูชา
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๓


VIEW : 14,861

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

ชาติภูมิ


     พระพรหมวชิราภรณ์ มีนามเดิมว่า สนธิ์ คำมั่น เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ ณ บ้านโนนชาติ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยโสธร) โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเป และนางกัน คำมั่น ครอบครัวมีอาชีพทำนา 

     พระพรหมวชิราภรณ์      เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบ้านสร้างมิ่ง แม้จะอยู่ในวัยเด็ก แต่มีนิสัยรักสงบ เชื่อฟังบิดา-มารดา กลัวบาป ท่านมีความรู้สึกที่แตกต่างจากเด็กรุ่นเดียวกัน มีความคิดอยากจะบวช และปรารภอยากไปอยู่วัด แต่โยมแม่ไม่ยอมให้ไป       กระทั่งตอนอายุ ๑๘ ปี ได้มีโอกาสเดินทางไปที่วัดป่าอุดมสมพร (วัดหลวงปู่ฝั้น อาจาโร) ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้เห็นความอัศจรรย์ และระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง จึงตัดสินใจออกบวช แต่ช่วงนั้นได้เตรียมตัวก่อนบวช ต้องสวดมนต์และทานข้าวมื้อเดียว ร่างกายซูบผอมลง แต่สุดท้ายท่านไม่ได้บวชเรียน ต้องกลับมาช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ       อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีความคิดอยากจะบวชอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดท่านได้นึกถึงที่โยมมารดาสั่งเสียไว้ว่า "จะทำอะไรจะมีครอบครัวก็ให้บวชเสียก่อน ขอให้บวชให้แม่ก่อน"


อุปสมบท

     อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสนธิ์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า อนาลโย ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่มีความอาลัย

     หลังอุปสมบทแล้ว ได้กลับไปอยู่จำพรรษาที่วัดป่ากลางโนนภู่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม ได้ปฏิบัติเดินจงกรม ฝึกภาวนา พิจารณากัมมัฏฐานตามที่พระอุปัชฌาย์บอก จนเกิดความรู้สึกปีติยินดี 

     ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พระอาจารย์กว่า สุมโน ไม่มีผู้ใดอุปัฏฐาก ท่านต้องกลับไปดูแลปรนิบัติรับใช้ และมาเรียนหนังสือที่วัดป่าสุทธาวาส เมืองสกลนคร วันแรกที่ไปอยู่วัดป่าสุทธาวาส ได้เกิดนิมิตว่าผีเจ้าของที่มาคอยหลอกหลอนรบกวน ท่านจึงปรารภความเพียรยิ่ง ระลึกถึงพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำความเพียรภาวนาต่อเนื่องกระทั่งจิตสงบสบาย จิตใจมีแต่ความเมตตาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 


ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

     ต่อมาท่านได้ไปอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ บังเอิญ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ขึ้นไปจังหวัดสกลนคร ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส ได้ให้คนไปตามพระอาจารย์สนธิ์ให้ไปหาที่วัดป่าสุทธาวาส

     หลวงปู่เทสก์จึงได้พาพระอาจารย์สนธิ์ไปอยู่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้อยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่เทสก์อย่างใกล้ชิด โดยท่านให้พระอาจารย์สนธิ์อยู่กุฏิเดียวกับท่าน 

     พระอาจารย์สนธิ์ชื่นชมในปฏิปทาของหลวงปู่เทสก์ ได้ปฏิบัติต่อหลวงปู่อย่างสม่ำเสมอ หลังจากถวายนวดเส้นแล้วก็จะออกมาปฏิบัติเดินจงกรมก่อนที่จะพักผ่อน 


มาพำนักจำพรรษาที่วัดพุทธบูชา

     ครั้นต่อมา ท่านมีความคิดที่อยากไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะอายุพรรษายังน้อย อยากเรียนบาลี จึงกราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งหลวงปู่เทสก์ก็ไม่คัดค้าน โดยมาพำนักจำพรรษาที่วัดพุทธบูชา ต่อมาท่านมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ 

     ทั้งนี้ หลวงพ่อสนธิ์ได้เล่าถึงความหลังให้ฟังว่า “ที่วัดพุทธบูชาในขณะนั้นบิณฑบาตลำบาก จะบิณฑบาตแต่ละครั้งก็ยาก ต้องลุยโคลนลุยเลนลำบากมาก เกิดมีมานะขึ้นมา ถ้าอย่างไรก็เรียนก่อนเถอะ ได้ตั้งใจมาแล้วต้องอดทนอยู่ต่อไป” 

     ครั้งหนึ่งหลวงพ่อสนธิ์ได้รับกิจนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องต่อเครื่องบินจากเมืองดัลลัส ไปลงที่รัฐเทนเนสซี่ ระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินอยู่ เกิดเหตุอากาศแปรปรวนและเครื่องบินเกิดมีปัญหา ทำให้เครื่องบินสั่นเสียการทรงตัว 

     ผู้โดยสารบนเครื่องบินเกิดอาการหวาดกลัวว่าเครื่องบินจะตก หลวงพ่อได้นั่งภาวนาจนจิตนิ่ง จึงกำหนดจิตภาวนา เมื่อจิตสงบนิ่ง รู้สึกว่าจิตนิ่ง และไม่คิดเสียดายชีวิต ยอมตาย และรู้สึกว่ากายหายไป ในขณะนั้นได้มีเสียงมากระซิบว่า “ไม่ตายๆ” ปรากฏว่าเครื่องบินได้เปลี่ยนเส้นทางบินมาลงจอด เพื่อซ่อมเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย 


สร้าง วัดป่าภูปัง

     คราวหนึ่งหลวงพ่อสนธิ์ได้นิมิตว่า หลวงพ่อได้ไปสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีผู้ปฏิบัติธรรมนุ่งขาวห่มขาวและมีความ ยินดีเมื่อหลวงพ่อสนธิ์เดินทางไปถึง หลวงพ่อสนธิ์ได้จดจำลักษณะของสถานที่แห่งนั้นได้เป็นอย่างดี และได้สอบถามไปยังผู้ที่รู้จักอยู่เสมอ เพื่อที่จะแสวงหาสถานที่แห่งนั้น 

     จนกระทั่ง พระอาจารย์บุญชวน ธัมมโฆสโก แห่งวัดป่าวังน้ำทิพย์ ตำบลสวาท อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้กราบเรียนหลวงพ่อสนธิ์ถึงเขาแห่งนั้น ในเขต อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อหลวงพ่อไปถึงเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวมีลักษณะตรงตามในนิมิตทุกประการ จึงได้ชักชวนคณะศรัทธาญาติโยมและคณะศิษยานุศิษย์ มาพัฒนาสถานที่แห่งนี้เพื่อสร้างเป็น วัดป่าภูปัง ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยได้สร้างศาลา ๓ ชั้นขึ้นจนสำเร็จ 

     ถัดมา หลวงพ่อสนธิ์ได้หล่อรูปจำลองพระพุทธพิชิตมาร ขนาดหน้าตัก ๘๐ นิ้ว โดยจำลองจากพระพุทธพิชิตมาร ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลาอุรุพงษ์ วัดบรมนิวาส เพื่อนำไปประดิษฐานที่วัดป่าภูปัง โดยหลวงพ่อได้ดูแลการปั้นหุ่นรูปจำลองอย่างใกล้ชิด และได้นิมนต์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นประธานในการเททอง และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นประธานในการเจริญพระพุทธมนต์ ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ที่มีเหตุฝนตกโปรยปรายลงมา 


การศึกษา

นักธรรมชั้นเอก
เปรียญธรรม ๓ ประโยค

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๕๔๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดพุทธบูชา

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็น เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท ที่ พระครูอุดมสังวรคุณ
พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระอุดมสังวรญาณ [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชภาวนาพินิจ ศาสนกิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเทพมงคลญาณ ปรีชาญาณวิมล โสภณศาสนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิราภรณ์ สุนทรวิสุทธิญาณ สีลาจารวิมล โสภณธรรมธาดา วิปัสสนาธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๕, ตอนที่ ๒๔ ข, ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๘
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๓, ตอนที่ ๒ ข, ๑๒ มกราคม ๒๕๔๙, หน้า ๗
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๓๓, ตอนที่ ๔๓ ข, ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๒
4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ [จำนวน ๓ รูป ๑. พระธรรมธัชมุนี ฯลฯ], เล่ม ๑๓๙, ตอนที่ ๑๙ ข, ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕, หน้า ๑
พระราชาคณะภูมิลำเนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลานธรรมจักร พระราชภาวนาพินิจ (หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย)
มงคลข่าวสด : พระราชภาวนาพินิจ พระกัมมัฏฐานกลางกรุง


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook