พระอธิการคล้าย วิชิโต | พระสังฆาธิการ

พระอธิการคล้าย วิชิโต


 
เกิด พ.ศ. ๒๔๐๙
อายุ ๘๒ ปี
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๓๐
พรรษา ๖๑
มรณภาพ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑
วัด วัดพระมหาธาตุคีรีอินทรวิหาร
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 944

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระอธิการคล้าย วิชิโต มีนามเดิมว่า คล้าย ฤทธิกุล เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ ณ บ้านกะเปา เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายคลาย นางทับทอง ฤทธิกุล

มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน คือ
     ๑. นางแดง
     ๒. นายคลิ้ง
     ๓. นายคล้าย (พระอธิการคล้าย วิชิโต)
     และมีน้องต่างมารดาคือ นางครัน ฤทธิกุล


ปฐมวัย

     วัยเยาว์ได้เข้าศึกษาอักขระสมัย กับ พระอุปัชฌาย์เกตุ แห่งวัดโกศาวาส(กะเปา) ซึ่งสมัยนั้นท่านปกครองอยู่ ๒ วัด รวมทั้งวัดอินทราวาส (ย่านปราง) ด้วย

     อายุได้ ๑๘ ปี บรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระอาจารย์เกตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุย่างเข้า ๒๐ ปี เกิดป่วยหนัก จึงต้องลาสิกขาบทเพื่อรักษาตัวอยู่ประมาณ ๑ ปีเศษ


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ณ วัดโกศาวาส (กะเปา) โดยมี พระอาจารย์เกตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า "วิชิโต" แปลว่า ผู้ชนะแล้ว

     จากนั้นจำพรรษาอยู่ทั้ง ๒ วัด ร่วมกับพระอาจารย์เกตุ ได้ปฏิบัติศาสนกิจช่วยพระอาจารย์ ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน และวิชาต่างๆกับพระอุปัชฌาย์เกตุ อยู่ ๕ พรรษา จากนั้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๖ ท่านได้กราบลาพระอาจารย์เพื่อธุดงค์ไปในที่ต่างๆ


ธุดงค์/บำเพ็ญตน/ศึกษาสรรพวิชา/พัฒนาวัด

     ท่านเดินธุดงค์องค์เดียวด้วยใจเด็ดเดี่ยว มิกลัวอันตรายใดๆ ลงใต้สู่จังหวัดนครศรีธรรมราช กราบนมัสการพระธาตุนครศรีฯ การเดินทางสมัยนั้นเป็นป่าเขาเดินทางลำบากมาก ช่วงนั้นก็เป็นช่วงฤดูฝน ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดๆหนึ่ง(ไม่ทราบชื่อวัด) หยุดธุดงค์ระยะหนึ่ง เพื่อจำพรรษา พอออกพรรษาท่านก็ได้รับกฐิน สิ้นฤดูฝนท่านก็จัดเตรียมเครื่องบริขารเพื่อธุดงค์ต่อ

     เข้าเขตจังหวัดพัทลุง มุ่งหน้าสู่วัดเขาอ้อ ซึ่งเป็นสำนักตรรกศิลาแหล่งรวบรวมสรรพวิชาต่างๆมากมาย ทั้งพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ ท่านได้ศึกษาวิชาเหล่านั้นจากพระอาจารย์ทองเฒ่า เจ้าสำนัก สมภารวัดเขาอ้อในสมัยนั้น ศึกษาอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง นานเท่าใดไม่ปรากฏ เมื่อแตกฉานในวิชาพอควรแล้ว ออกพรรษา ท่านก็จัดเตรียมธุดงค์ต่อ

     ท่านธุดงค์กลับมาจำพรรษาที่วัดย่านมะปราง อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีญาติโยมซึ่งเป็นญาติๆท่านดูแลอุปัฏฐากอย่างดี กลับมาจำพรรษาอยู่นานเท่าไหร่ไม่ทราบ เมื่อถึงหน้าแล้ง การเดินทางสะดวก ท่านก็ได้เตรียมการธุดงค์ต่อ โดยธุดงค์ไปองค์เดียวอีกเช่นเคย ก่อนออกธุดงค์นั้นท่านได้ดูฤกษ์ดูยามตามตำราที่ท่านศึกษามาเป็นอย่างดี

     ธุดงค์ผ่านจังหวัดพังงา ข้ามท่านุ่น นั่งเรือประทุนเข้าเขตถลาง จังหวัดภูเก็ต จากนั้นจาริกตามที่ต่างๆบนเกาะภูเก็ตเป็นเวลา ๗ วัน พบเจอชาวบ้านพูดคุยสนทนาถึงสมภารวัดฉลอง (หลวงพ่อแช่ม) เรื่องท่านเป็นขวัญและกำลังใจในการปราบกบฏอั้งยี่ โดยเป็นพระสงฆ์ผู้มีอภิญญา มีอาคมขลัง ประพรมน้ำมนต์ทำเครื่องรางของขลังผ้าประเจียดโพกหัว ให้ชาวบ้านใช้โพกหัวป้องกันตัวรอดพ้นอันตรายจากอาวุธของพวกกบฏได้ จากนั้นท่านจึงมุ่งหน้ากราบนมัสการหลวงพ่อแช่ม สมภารวัดฉลอง แล้วมอบตัวเป็นศิษย์ อาศัยจำพรรษา ณ วัดฉลอง ศึกษาวิปัสนากรรมฐานและวิชาจากหลวงพ่อแช่ม ศึกษาอยู่เป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่ทราบ พอออกพรรษา รับกฐินเสร็จสรรพ ก็กราบลาหลวงพ่อแช่ม ธุดงค์กลับวัดย่านมะปราง

     เที่ยวธุดงค์กลับผ่านเมืองพังงา เข้าตะกั่วป่า ธุดงค์เรื่อยมา แวะฉันภัตตาหารที่บ้านท่าหัน เดินต่อข้ามเขาสกเข้าเขตพนม จ.สุราษฯ ผ่านหมู่บ้านศก เข้าเขตหมู่บ้านหญ้าปล้องในตอนเย็น มีผู้คนที่รู้จักท่านนิมนต์ขอให้ท่านหยุดพักสักคืน เพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้ทำบุญ ถวายภัตตาหารเช้า ท่านก็ไม่ขัด เพราะในแถบละแวกหมู่บ้านนั้นตั้งอยู่ห่างไกลวัดมาก เมื่อฉันเช้าเสร็จท่านก็เดินธุดงค์ต่อเข้าเขตบ้านสองพี่น้อง เดินเรื่อยไปจนถึงถิ่นเดิมวัดย่านมะปราง พี่น้องญาติมิตรต่างดีใจพร้อมใจอุปัฏฐากดูแลเอาใจใส่ ท่านก็ได้จำพรรษา ณ วัดย่านมะปราง เมื่อออกพรรษาท่านก็เตรียมธุดงค์ต่อ

     ในสมัยนั้นเต็มไปด้วยป่าดงพงไพร ไม่มีหนทางสัญจรสะดวกแบบปัจจุบัน สัตว์ร้ายต่างๆนาๆ เต็มไปด้วยอันตราย ถ้าวิชายังไม่กล้าแกร่งพอ หรือไม่มีความมั่นใจก็ไม่สามารถธุดงค์ได้ หลวงพ่อคล้ายท่านธุดงค์เพียงองค์เดียวตลอด นับว่าท่านเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญมากๆ อีกทั้งมีวิชากล้าแกร่ง ไม่มีอันตรายใดๆกร้ามกรายหรือทำร้ายท่านได้เลยแม้แต่น้อย เพราะท่านมีวิชาดีที่ได้ร่ำเรียนจากพระอาจารย์หรือสำนักขลัง ดังที่กล่าวมาเพื่อป้องกันตัว จึงทำให้ท่านไม่ได้รับอันตรายใดๆในการธุดงค์เลยแม้แต่น้อย

     ธุดงค์ไปภาคกลาง ผ่านไชยา ผ่านหลังสวน ชุมพร ผ่านประจวบคีรีขันธ์ เขาสามร้อยยอด เข้าสู่ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ต่อไปถึงกาญจนบุรี เข้าเขตท่ามะกา นมัสการพระแท่นดงรัง ธุดงค์ต่อไปยังสระบุรี กราบนมัสการพระพุทธบาทฯ จากนั้นเข้าเมืองหลวง กรุงเทพฯ กราบนมัสการพระแก้วมรกต วัดพระแก้ว ในวังหลวง ท่านจาริกในเมืองหลวงได้ระยะหนึ่ง จากนั้นขึ้นเรือสำเภาที่แม่น้ำเจ้าพระยา ออกสู่อ่าวไทย มุ่งสู่งสุราษฯ กลับวัดย่านมะปราง ใช้เวลา ๒ คืน ๓ วัน เรือเทียบปากอ่าวบ้านดอนในเวลาสายๆ จากนั้นเดินธุดงค์กลับสู่วัดย่านมะปรางถิ่นเดิม

     ถึงวัดย่านมะปราง ครานี้ท่านเลิกธุดงค์ ด้วยคำขอร้องของญาติมิตร ท่านได้ช่วยศาสนกิจพ่อท่านแก้ว เจ้าอาวาสวัดย่านมะปรางซึ่งอยู่ในวัยชรา ในการเป็นครูสอนหนังสือ อบรมสั่งสอน พระ-เณร ช่วยพัฒนาเสนาสนะ และสร้างสิ่งถาวรในวัด เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอฉัน กุฏิ เป็นต้น รวมทั้งสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้น เพื่อให้ลูกหลานชาวบ้านใช้เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ โดยท่านเป็นครูผู้สอน ท่านเป็นที่ไว้ใจของพ่อท่านแก้ว เจ้าอาวาส เพราะท่านอยู่ในวัยชรา ภิกษุคล้ายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงกำลังสำคัญในการพัฒนา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๙ พ่อท่านแก้ว สมภารวัดย่านมะปราง มรณภาพ ภิกษุคล้ายก็ได้รับการแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาสต่อ เป็นพระอธิการคล้าย วิชิโต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดย่านมะปราง ขณะนั้นท่านมีอายุ ๖๐ ปี ๓๙ พรรษา และได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดตามกฎหมายฝ่ายศาสนา จากวัดย่านมะปราง เป็น วัดอินทราวาส โดยท่านเดินทางไปเมืองหลวง(กรุงเทพฯ)เป็นครั้งที่ ๒ เดินทางโดยเรือ เพื่อเป็นธุระติดต่อเรื่องการเปลี่ยนชื่อวัด โดยพักจำวัดที่ วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) แล้วก็เดินทางกลับโดยเรือเช่นเดิม

     ในสมัยท่านเป็นเจ้าอาวาส มีการสร้างเรือยาวโดยฝีมือของท่านเอง โดยท่านตั้งชื่อว่า "เรือพิฆาตนาวา" ลงแข่งคราใดไม่มีแพ้ เป็นที่โจษจันและเป็นที่น่าเกรงของคู่แข่ง ผู้นำฝีพายชื่อนายพร้อม ภายหลังอายุเยอะได้เป็นกำนัน จากนั้นฝีพายเก่าๆก็อายุเยอะขึ้น เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่หัดพาย เรือลำนี้ได้จอดเฉยสิ้นลวดลายอยู่หลายปี มีผู้มาขอยืมใช้จำนวนมาก ท่านก็ไม่ขัดด้วยความเมตตา จนตกไปอยู่ในการครอบครองในถิ่นอื่น

     ท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านทั้งมวล ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อในทุกด้าน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เช่น ยาสมุนไพรรักษาโรค สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของขลังกันภัยให้ชาวบ้านได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในคราวสงคราม เป็นต้น ชาวบ้านเคารพนับถือท่านมาก มีการบนบานกับท่านตั้งแต่ท่านยังมีชีวิต ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ศีล เคร่งวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นแบบอย่างที่ดีแต่พระ-เณรและชาวบ้าน ในฐานะพระสงฆ์สมภารผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ใหญ่ลูกดกให้นกกิน

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๖๙  เป็น เจ้าอาวาสวัดอินทราวาส

มรณกาล


     ในพรรษาเดือน ๑๐ ข้างขึ้น ท่านบอกกับศิษย์ว่า ออกพรรษานี้ ท่านจะดับสังขาร ถ้าดับฯในพรรษาจะลำบาก พระจะไปมาไม่สะดวก พอออกพรรษา ท่านก็บอกวันดับฯ พอรุ่งขึ้นวันนั้น ท่านก็บอกเวลามรณภาพให้ศิษย์ทราบ (ท่านรู้ล่วงหน้า)

     พระอธิการคล้าย วิชิโต มรณภาพ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ตรงกับแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด เวลา ๑๑.๐๐ น. (วันเวลาตรงตามที่ท่านบอกล่วงหน้าทุกประการ) สิริอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑

     ศพของท่านไม่ได้ทำการฌาปนกิจในช่วงนั้น เพราะยังอยู่ในหน้าฝน ได้ทำการปิดศพไว้ระยะหนึ่ง เมื่อถึงหน้าแล้งได้จัดงานพิธีศพ ๓ คืน แล้วก็ทำการฌาปนกิจ ในงานมีพระครูสถิตสันตคุณ (พัว เกสโร) เจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม เป็นประธาน ศิษยานุศิษย์ในงานมีหลวงพ่อเชื่อม ธมฺมโชโต วัดปราการ (ละมุ) พ่อท่านรัช วิริยนนฺโท หรือ พระครูวิรัชพิริยาทร วัดโกศาวาส (กะเปา) หลวงพ่อฟุ้ง โกวิโท พระมหาพลาย สุนฺทโร เป็นต้น

อ้างอิงข้อมูล


     หนังสือประวัติหลวงพ่อคล้าย วิชิโต วัดอินทราวาส(ย่านปราง) จัดพิมพ์เนื่องในงานฉลองรูปหล่อของท่านเมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ - ๒ มีนาคม ๒๕๑๒ ประพันธ์โดยพระครูพจนกวี (หลวงพ่อฟุ้ง โกวิโท) วัดปราการ อ.คีรีรัฐนิคม

     เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ พระครูพจนกวี (หลวงพ่อฟุ้ง โกวิโท) วัดปราการ ที่ได้มีความตั้งใจในการประพันธ์บทกลอนขึ้น ในการนี้เพื่อความสะดวกในการอ่านทำความเข้าใจของผู้สนใจ กระผมจึงได้ถอดคำกลอนออกเป็นร้อยแก้วแยกตามประเด็นให้เห็นชัดซึ่งเนื้อหา โดยเนื้อความไม่ได้มีปรุงเพิ่มหรือเสริมแต่งใดๆ

ขอขอบคุณ


ผู้แต่งหนังสือ : พระครูพจนกวี (หลวงพ่อฟุ้ง โกวิโท) วัดปราการ
แหล่งข้อมูล : ส.ต. ผิน จรูญรักษ์
ผู้ให้ข้อมูลเผยแพร่ครั้งนี้ : คุณสิทธิศักดิ์ ถนัดอนุศาสน์
ท่าน สท.ชาย แห่งเทศบาลตำบลตาขุน


ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook