|
VIEW : 1,506
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล ๑. นายข้อง ผอมเกลี้ยง
๒. นายเขียว ผอมเกลี้ยง (พ่อท่านเขียว ญาณสุทฺโธ)
๓. นายเข้ง ผอมเกลี้ยง
๔. นางฉีด ผอมเกลี้ยง
รูปพรรณสัณฐาน พ่อท่านเขียวท่านเป็นคนรูปร่างเล็ก ร่างกายท้วมๆ ผิวคล้ำดำแดง เวลาพูดเสียงท่านจะเล็กๆ พ่อท่านเขียวท่านเกิดที่ ตำบลปากฉลุย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพ่อท่านนุ้ย วัดอัมพาราม (วัดม่วง) จากการสัมภาษณ์ คุณตาเตื้อง โตยัง (ผอมเกลี้ยง) อายุ ๙๐ ปี บุตรของนายข้องพี่ชายของพ่อท่านเขียว (ตาเตื้องเป็นหลานแท้ๆของพ่อท่านเขียว) กล่าวว่า พ่อแม่ของท่านจะเรียกพ่อท่านนุ้ยว่า "ลุงหลวงนุ้ย" คาดว่าน่าจะเป็นเครือญาติกันแถวบ้านบางครามนั้น
อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ (อายุ ๒๕ ปี) ณ พัทธสีมาวัดอัมพาราม (วัดม่วง) อำเภอท่าฉาง โดยมี พระครูยุตตโกฐยติกิจ (เนียม พุทฺธรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์
ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ญาณสุทฺโธ” แปลว่า ผู้มีญาณอันบริสุทธิ์
**ส่วนคนพื้นที่บอกว่า "บวชกับพ่อท่านนุ้ย" กล่าวคืออาจเป็นตอนสามเณร หรือมีพ่อท่านนุ้ยเป็นพระคู่สวด เพราะพ่อท่านนุ้ยไม่ได้ตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ทางสงฆ์ และพ่อท่านเขียวก็ได้ศึกษาวิชาจากพ่อท่านนุ้ยด้วย นับว่ามีความใกล้ชิดกับพ่อท่านนุ้ยเป็นอย่างมาก
ในเรื่องของการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น พ่อท่านเขียวได้ศึกษาจนจบนักธรรมชั้นเอกในสำนักวัดใดวัดหนึ่งใน ไชยา-ท่าฉาง และมีภาพถ่ายหมู่ปรากฏในคราวที่ท่านเป็นคณะกรรมการในการสอบความรู้นักธรรม ของคณะสงฆ์อำเภอท่าฉาง โดยมีพระครูยุตตโกฐยติกิจ (เนียม พุทฺธรกฺขิโต) เป็นประธาน ซึ่งถ่ายราวปี พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๐ ณ วัดบางน้ำจืด อำเภอท่าฉาง โดยในภาพพ่อท่านเขียวอยู่ในอิริยาบทยืน
นักธรรมชั้นเอก |
"ไหว้ไปถึงพ่อท่านนุ้ย อย่าติฉินนินทุย หนาพ่อท่านนุ้ยหนา" คือคำบอกกล่าว (ไหว้ครู) ที่พ่อท่านเขียวใช้อาราธนาขอบารมีหรือเพื่อบอกกล่าวแสดงความเคารพต่อพ่อท่านนุ้ย ก่อนที่พ่อท่านเขียวจะทำอะไร เช่น ก่อนจารตะกรุด ก่อนทำผ้ายันต์ ก่อนแสดงอภินิหาร เป็นต้น นั่นคือพ่อท่านเขียวท่านได้ศึกษาวิทยาคมจากพ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ โดยตรง ในด้านคาถาอาคมต่างๆ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งไสยศาสตร์ ซึ่งในสมัยนั้นเมื่อสำเร็จวิชาจากพ่อท่านนุ้ยแล้ว พระเขียวได้ไปจำพรรษา ณ สำนักไฟ ซึ่งสำนักไฟแห่งนี้เคยเป็นที่พักจำพรรษาของพ่อท่านนุ้ยก่อนที่จะไปรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดม่วง พระเขียวก็จำพรรษา ณ สำนักไฟเรื่อยมา ต่อจากนั้นเมื่อพ่อท่านเรือง วัดปากหมาก มรณภาพ ชาวบ้านก็ได้นิมนต์พระเขียวให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดวิโรจนาราม (ปากหมาก) จากนั้นสำนักไฟก็มีพระสงฆ์มาจำพรรษาเป็นระยะ และได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด คือ วัดธรรมประดิษฐ์ (วัดบ้านเหนือ) ตำบลปากฉลุย อำเภอท่าฉาง ในปัจจุบัน
พ่อท่านเขียวเป็นศิษย์พ่อท่านสุทธิ์ด้วย สมัยนั้นมีพระสงฆ์นามว่า "สุทธิ์" อยู่ ๒ วัด ๒ อำเภอ คือ พ่อท่านสุทธิ์ ติสฺโส วัดมัชฌิมาราม (หนองหวาย) อำเภอท่าชนะ และ พ่อท่านสุทธิ์ ปิยทสฺสี วัดสุทธาวาส อำเภอไชยา กล่าวคือ พ่อท่านสุทธิ์ทั้ง ๒ เป็นสหธรรมิกกับพ่อท่านเรือง (เจ้าอาวาสวัดวิโรจนารามองค์ก่อนพ่อท่านเขียว) ซึ่งพ่อท่านเรือง กับ พ่อท่านสุทธิ์ วัดสุทธาวาส อำเภอไชยา มรณภาพในช่วงปีเดียวกันคือ มรณภาพประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนที่พ่อท่านเขียวจะมาเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้นมา จากคำบอกเล่าของคุณตาเตื้อง โตยัง (ผอมเกลี้ยง) กล่าวว่า "พ่อท่านเขียวได้บวชเป็นสามเณรกับพ่อท่านสุทธิ์ ที่วัดสุทธาวาส แล้วสึกไปขอสาวกะว่าจะแต่งงาน แต่ผู้ปกครองของสาวผู้นั้นไม่ยกลูกสาวให้ อยู่มาจนอายุยี่สิบกว่าปีท่านจึงไปบวชแล้วอยู่กับพ่อท่านนุ้ย การบวชครั้งนี้ท่านตั้งใจบวชจะไม่สึกเลย"
ส่วนพ่อท่านสุทธิ์ ติสฺโส วัดมัชฌิมาราม (หนองหวาย) อำเภอท่าชนะ ท่านมรณภาพใน เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ความสัมพันธ์ระหว่างวัดวิโรจนารามกับพ่อท่านสุทธิ์ ติสฺโส นั้นมีมาตั้งแต่สมัยพ่อท่านเรืองเป็นเจ้าอาวาส แต่ว่าพ่อท่านเรืองมรณภาพไปเสียก่อน ในสมัยก่อนการเดินทางยากลำบาก ถ้าเดินทางไปแล้วต้องพักค้างคืน หลวงพ่อสุทธิ์ วัดหนองหวายได้เดินทางมาช่วยพ่อท่านเรืองสร้างและพัฒนาวัดวิโรจนาราม โดยมาจำวัดอยู่หลายราตรี หลังจากนั้นพ่อท่านสุทธิ์ ก็ได้ลาพ่อท่านเรืองกลับไปยังวัดหนองหวาย และพ่อท่านเรืองก็ได้ติดตามพ่อท่านสุทธิ์ไปช่วยพัฒนาวัดหนองหวายด้วย จากคำบอกเล่าของตาเชื่อม ทองภู่ กล่าวว่า "พ่อท่านเรืองได้ติดตามพ่อท่านสุทธิ์ไปที่วัดหนองหวายเพื่อไปขุดหัวตอไม้เคี่ยมที่วัดหนองหวาย เพราะพ่อท่านสุทธิ์มาช่วยพ่อท่านเรือง พ่อท่านเรืองก็ไปช่วยพ่อท่านสุทธิ์เป็นเรื่องของน้ำใจ" จวบจนมาถึงสมัยพ่อท่านเขียว ท่านกับหลวงพ่อสุทธิ์ วัดหนองหวายได้ไปมาหาสู่กันตลอด ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น งานวัด งานบุญ หรือเมื่อมีพิธีต่างๆ ด้วยอายุอานามแล้วเปรียบได้ว่าพ่อท่านสุทธิ์ วัดหนองหวาย เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของพ่อท่านเขียว เพราะพ่อท่านสุทธิ์ วัดหนองหวาย มีอายุมากกว่าพ่อท่านเขียวสามสิบกว่าปี และอีกวัดที่พ่อท่านเขียวมักไปพักจำวัดและไปบ่อยๆ คือ วัดกาฬสินธุ์ (น้ำดำ) อำเภอท่าชนะ เพราะการเดินทางไปกิจนิมนต์สมัยก่อนต้องเดินเท้า ท่านจะแวะพักจำวัดที่วัดน้ำดำเป็นประจำ โดยท่านจะพักจำวัดอยู่กับพ่อท่านข้อย เจ้าอาวาสวัดน้ำดำในสมัยนั้น ซึ่งเป็นญาติของท่าน
พ่อท่านเขียวกับกับพ่อท่านชุม ธมฺมานนฺโท วัดเวียง อำเภอไชยา สมัยก่อนพ่อท่านเขียวเดินทางไปวัดเวียงบ่อยมาก เนื่องจากพานาคไปอุปสมบท พ่อท่านชุมจะสนทนาธรรมถูกคอกับพ่อท่านเขียวมาก เมื่อท่านเจอกันท่านจะเล่นหมากรุก โดยรุกฆาตกันจนเสมอทุกตาไปโดยไม่มีใครแพ้ใคร และเมื่อพ่อท่านเขียวจะเดินทางกลับวัด พ่อท่านชุมก็บอกว่า เล่นให้ชนะท่านก่อนถึงจะให้กลับ เป็นความหมายโดยนัยๆว่า พ่อท่านชุมยังไม่อยากให้พ่อท่านเขียวกลับวัด บางครั้งพ่อท่านเขียวต้องจำวัดกับพ่อท่านชุม ที่วัดเวียงก็มี พ่อท่านชุมมีอายุมากกว่าพ่อท่านเขียว ๒๑ ปี นอกจากการสนทนาธรรมและเล่นหมากรุกแล้ว คาดว่าพ่อท่านชุมก็ยังเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนวิชาบางอย่างให้พ่อท่านเขียวและจะมีการแลกเปลี่ยนหรือทดสอบวิชาซึ่งกันและกันอยู่บ้าง
ต่อมาพ่อท่านเขียวได้ออกจากวัดวิโรจนาราม เดินทางธุดงค์ข้ามภูเขาไปจำพรรษาในเขต อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ทำให้วัดวิโรจนารามว่างเจ้าอาวาส จึงมอบให้พ่อท่านผล อายุวฑฺฒโน ศิษย์ของพ่อท่านเขียวให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวิโรจนาราม สืบต่อมา ขณะนั้นพ่อท่านเขียวท่านจำพรรษาอยู่ที่ อำเภอกะเปอร์ และไม่สามารถสืบทราบระยะเวลาว่าท่านจำพรรษาอยู่ที่กะเปอร์นานเท่าไร แต่พ่อท่านเขียวเป็นที่รักและเคารพนับถือของชาวบ้านปากหมาก แม้ขณะที่พ่อท่านเขียวยังไม่มรณภาพ ชาวบ้านยังบนบานศาลกล่าว (ออกชื่อออกนาม) ขอบารมีท่านให้ช่วยเสมอ จากนั้นชาวบ้านปากหมากร่วมกับพ่อท่านผลได้เดินทางไปนิมนต์พ่อท่านเขียวจาก อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดวิโรจนาราม (ปากหมาก) อำเภอไชยา เช่นเดิม จากนั้นพ่อท่านเขียวก็กลับมาจำพรรษาที่วัดวิโรจนารามจวบจนมรณภาพ
พ.ศ. ๒๔๘๙ | เป็น เจ้าอาวาสวัดวิโรจนาราม |
- พัฒนาวัดต่อจากพ่อท่านเรือง นอกจากเรื่องวิชาอาคมแล้ว พ่อท่านเขียวยังเป็นพระนักพัฒนา ท่านให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา ท่านเทศนาสั่งสอนบุตรหลานชาวปากหมากให้เป็นคนดี และพัฒนาเสนาสนะในวัดวิโรจนารามอย่างต่อเนื่อง
- พ.ศ. ๒๔๗๕ สร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดวิโรจนาราม ผู้ตั้งโรงเรียนคือพ่อท่านเรือง โดยเรียนในศาลาวัด ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปมีนักเรียนเพิ่มขึ้น พ่อท่านเขียวได้ร่วมกับคุณครูแช่ม พวงสุวรรณ ได้รับการสนับสนุนทั้งปัจจัยและกำลังคนจากชาวบ้านปากหมาก จัดการสร้างอาคารเรียนที่ทำด้วยไม้ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนหนังสือแก่นักเรียน
- สร้างสำนักสงฆ์บ้านพรุยายชี เดิมชื่อ สำนักต้นไทร ปัจจุบันตั้งอยู่ หมู่ที่ ๔ ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องด้วยในสมัยก่อนมีวัดแค่ไม่กี่แห่ง ประชาชนกระจายอยู่ทั่วไป การเดินทางไปวัดแต่ละทีก็ใช้เวลานาน พ่อท่านเขียวเล็งเห็นถึงศาสนา ท่านจึงได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นเพื่อให้คนได้เข้าวัดทำบุญ
- สร้างถนนสาย ไชยา-ปากหมาก พ่อท่านเขียว และพระเณร ได้ร่วมกับชาวบ้านถากถางป่าเพื่อทำเป็นถนนสัญจรไปมา เพื่ออำนวยความสะดวกในหมู่บ้านปากหมาก และมีการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน
- สงเคราะห์กุลบุตร พ่อท่านเขียวเป็นพระสงฆ์ที่มีเมตตา ท่านไม่ค่อยดุด่าใคร เป็นที่รักและนับถือของพระสงฆ์และสามเณร ตลอดจนชาวบ้านในแถบนั้น
- รักษาโรคบางอย่างทางไสยศาสตร์ เช่น รักษาคนถูกมนต์ดำ คนถูกกระทำ หรือคนโดนภูตผีต่างๆ วิชาหมอยาโบราณบางประการที่พ่อท่านเขียวสามารถทำได้ เช่น รักษาโรคงูสวัด โดยการพ่น หรือภาษาใต้เรียก พ่นซาง รักษาพิษงู เสกน้ำมันทาแก้ปวดเมื่อย เป็นต้น
พ่อท่านเขียวเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งพระธรรมวินัย ปฏิบัติกิจของสงฆ์ไม่ขาด แต่มาช่วงบั้นปลายชีวิตท่านงดการบิณฑบาต แต่ให้ลูกศิษย์ทำการหุงหาอาหารถวายท่าน เพราะท่านมีปัญหาด้านสุขภาพ ท่านมีโรคหอบเป็นโรคประจำตัว สิ่งที่ท่านชอบฉันคือ กล้วยหมกและหัวมันหมก ท่านจะชอบฉันมากเป็นพิเศษ จนปัจจุบันเมื่อชาวบ้านอธิษฐานบนบานขอบารมีให้ท่านช่วย เมื่อสำเร็จตามประสงค์แล้วชาวบ้านมักแก้บนด้วยกล้วยหมกหรือหัวมันหมกเสมอ
พ่อท่านเขียวสรงน้ำนานๆครั้ง ตาเชื่อมเล่าให้ฟังว่า เป็นเดือนก็มี หลายๆเดือนก็มี เนื้อตัวของพ่อท่านเขียวตัวเหนียวมาก คือการสะสมของขี้ไคลที่ไม่ได้อาบน้ำเป็นเวลานาน แต่อัศจรรย์ตรงที่ไม่มีกลิ่นตัวเลยแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้จะเป็นวิชาหนึ่งที่พระป่าหรือพระธุดงค์ใช้คาถาระงับไว้ ตรงกับประวัติพ่อท่านนุ้ยที่บันทึก ซึ่งพ่อท่านนุ้ยก็นานๆครั้งถึงจะสรงน้ำ บางทีเป็นปีก็มี
ต้องก่อกองไฟไว้ตลอด เป็นประจำทุกวันหน้ากุฏิหรือที่ที่ท่านพักอยู่ จะต้องก่อกองไฟไว้ตลอดทั้งคืนทั้งวัน อาจเป็นการเพิ่มความอบอุ่น หรือไล่สัตว์ มด แมลงเพื่อไม่ให้มารบกวน หรือทางวิชาก็คือกสิณไฟที่ท่านฝึกอยู่ทุกอิริยาบท
พระครูเกษมธรรมรังษี (ถาวร เขมรํสิโย) หรือพ่อท่านดำ วัดสุทธาวาส กล่าวว่า "ท่านอาจารย์เขียวเป็นลมถึงแก่มรณภาพตอนใกล้รุ่ง เวลาประมาณตีห้าเห็นจะได้ มรณภาพคามือเรา มือเราตั้งบนอกท่าน เรากอดท่านนิ๊" เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ อายุประมาณ ๗๐ ปี พรรษา ๔๕ และได้ตั้งบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา ๖ คืน ณ วัดวิโรจนาราม แล้วเผา(ฌาปนกิจ) ที่ลานหลังพระอุโบสถ อัศจรรย์วันฌาปนกิจ ร่างท่านเผาไม่ไหม้ไฟ จนต้องทำพิธีบางอย่างแล้วใช้ใบบอนริมคลองข้างวัดมาสุมไฟถึงจะไหม้จนติดหมด วันเก็บอัฐิปรากฎสิ่งหนึ่งที่ไม่ไหม้ไฟ แต่กลับกลายเป็นหิน นั่นคือ อัณฑะ(เล็ดไข่)
|
เอกสารสำรวจพระคณาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดไตรธรรมารามฯ บันทึกโดย พระวัตตจารีศีลสุนทร ศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ พระเทพรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี บันทึกเมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔. |
พระครูเกษมธรรมรังษี (ดำ เขมรํสิโย) เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส(โมถ่าย). |
พระครูไพโรจน์วรธรรม (สว่าง ชิรารกฺโข) เจ้าอาวาสวัดวิโรจนาราม(ปากหมาก). |
พระสมุห์มนัส ขนฺติโก เจ้าสำนักสงฆ์บ้านนา. |
คุณตาเตื้อง โตยัง(ผอมเกลี้ยง) อายุ ๙๐ ปี หลานแท้ๆของพ่อท่านเขียว ลูกนายข้อง พี่ชายแท้ๆของพ่อท่านเขียว. |
คุณตาหนู ถึงสถิตย์ อายุ ๙๐ ปี ลูกศิษย์วัดผู้เห็นอภินิหารที่พ่อท่านเขียวแสดง. |
คุณตาเชื่อม ทองภู่ อายุ ๘๘ ปี ลูกศิษย์ผู้อุปัฎฐากและเห็นอภิหารมากมายและยังเคยลุยไฟกับพ่อท่านเขียว. |
คุณตาซ้อย ทองแพรว อายุ ๘๗ ปี คนเก่าคนแก่ที่ทันยุคสมัย. |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook