พระครูกาชาด (ย่อง อินฺทสุวณฺโณ) | พระสังฆาธิการ

พระครูกาชาด (ย่อง อินฺทสุวณฺโณ)


 
เกิด พ.ศ. ๒๓๗๘
อายุ ๘๒ ปี
อุปสมบท ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๘
พรรษา ๖๒
มรณภาพ พ.ศ. ๒๔๖๐
วัด วัดวังตะวันตก
ท้องที่ นครศรีธรรมราช
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 1,935

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูกาชาด มีนามเดิมชื่อ ย่อง เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๘ ปีมะแม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) บิดาเป็นชาวจีนไม่ทราบชื่อ มารดาชื่อนางบัวทอง ท่านเป็นบุตรคนโต มีน้องสาว ๒ คน ชื่อ นางไหม และ นางปาน พื้นเพเดิมบ้านของท่านตั้งอยู่ใกล้วัดพรหมโลก (บ้านหลังสวน) อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาโยมมารดาพร้อมด้วยน้องของท่านทั้ง ๒ ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านปากสระ ตำบลนาตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมา แม่บัวทองได้สามีใหม่ ชื่อ นายทองแก้ว ท่านจึงได้น้องอีก ๔ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๒ คือ นายคลิ้ง นายคล้าย นางศีล และนางทองทรัพย์


วัยเยาว์

     เมื่อสมัยวัยเยาว์ มารดาของท่านได้ฝากเรียนหนังสือในสำนักวัดประตูขาว ซึ่งสมัยนั้นมีพระครูกาชาด (บัวทอง) เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดประตูขาว กับพระครูกาชาด (บัวทอง) ต่อมา พระครูกาชาด (บัวทอง) มรณภาพ ท่านได้ย้ายไปจำพรรษา ณ วัดเสมาเมือง


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ณ พัทธสีมาวัดเสมาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระอุปัชฌาย์และพระคู่สวดไม่สืบทราบนาม

     ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาโดยได้เป็นศูนย์รวมแรงกายแรงใจชาวบ้านในการสร้างสะพานไม้ยาว ข้ามทุ่งปรัง เพื่อติดต่อระหว่างพื้นที่ “ท่าวัง” กับ “บ้านนอกไร่” สร้างในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๔๑ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง มีขนาดกว้าง ๒ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองนครฯในสมัยนั้น ซึ่งเป็นคุณประโยชน์กับชาวบ้านที่ติดต่อค้าขายไปมาหาสู่กันในสมัยนั้น ปัจจุบันได้สร้างเป็นถนนคอนกรีต และกลางถนนตรงบริเวณทางทิศตะวันตกของวัดศรีทวี (วัดท่ามอญ) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีศาลาประดิษฐานพระบูชาขนาดเท่าองค์จริงของพระครูกาชาด (ย่อง) ไว้เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกในคุณงามความดีของท่านอยู่จนถึงทุกวันนี้ และที่ยังกล่าวไม่หมดอีกมากมาย เป็นต้น

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๓๑  เป็น เจ้าอาวาสวัดวังตะวันตก

มรณกาล


     พระครูกาชาด (ย่อง อินฺทสุวณฺโณ) อาพาธด้วยโรคชรา ถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ณ กุฏิวัดวังตะวันตก สิริอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๒

     ได้มีการจั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้มีการเก็บศพท่านลงในโกศไม้ไว้ราวๆ ๒ ปีเศษ ต่อมาได้นำสรีระสังขารท่านออกมาจากโกศไม้ จึงจะเห็นได้ว่ามีการจัดท่านั่งของท่านในลักษณะคู้เข่าเพื่อมัดคร่อมหลักไม้ในโกศ เป็นการสุกำศพแบบโบราณเพื่อบรรจุลงโกศ เนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีการฉีดฟอร์มาลีนเพื่อรักษาสภาพศพ จึงต้องมีการรักษาสภาพศพโดยการกรอกน้ำผึ้งหรือปรอทลงทางปาก และมีการรองก้นโกศด้วยถ่าน,แกลบ เมื่อวางศพลงไปในโกศแล้วยังมีการโรยใบชาแห้งลงจนเต็มโกศ ทั้งนี้เพื่อเก็บสภาพศพเอาไว้ในได้นานและไม่ให้ส่งกลิ่นเหม็นจากน้ำเหลืองน้ำหนอง ต่อมาเมื่อถึงกำหนดการฌาปนกิจศพของท่าน จึงได้นำศพท่านออกมานั่งบนตั่งบูชา และได้มีการถ่ายรูปไว้ดังภาพ จะเห็นว่าศพท่านย่นแห้งอยู่ในสภาพสมบูรณ์และย่อเล็กลงไปมากและด้วยความที่ท่านเป็นคนร่างเล็กอยู่แล้วอีกประการหนึ่ง ในภาพห้อมล้อมไปด้วยศิษยานุศิษย์

สมณศักดิ์


ก่อน พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็น พระวินัยธร ฐานานุกรมใน พระครูเหมเจติยานุรักษ์ (หนู) เจ้าคณะเมืองนครศรีธรรมราช วัดจันทาราม
พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูกาชาด

ที่มา


ประวัติพระครูกาชาด (ย่อง อินฺทสุวณฺโณ) จาก วัดวังตะวันตก.
ข้อมูลจากการรวบรวมจากสื่อ และจากที่ต่างๆ.

ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง/เผยแพร่


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook