พระอธิการเอียด อริยวํโส | พระสังฆาธิการ

พระอธิการเอียด อริยวํโส


 
เกิด ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๒
อายุ ๘๒ ปี
อุปสมบท ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๒
พรรษา ๖๒
มรณภาพ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔
วัด วัดคงคาวง
ท้องที่ นครศรีธรรมราช
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 1,021

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระอธิการเอียด อริยวํโส เกิดประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๒ ปีมะเส็ง ณ บ้านทับชัน หมู่ ๖ ตำบลนาตะเคียน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายเรือง นางหนู ชูบุญเรือง มีน้องสาว ๑ คน ชื่อ นางส้มแก้ว ชูบุญเรือง


บรรพชา อุปสมบท

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๖ ปี (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๘)

     อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ ๒๐ ปี (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๒) ณ พัทธสีมาวัดวังตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี พระครูเหมเจติยานุรักษ์ (หนู) เจ้าคณะเมืองนครศรีธรรมราช วัดจันทาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูกาชาด วัดวังตะวันตก เมื่อครั้งยังเป็นพระอธิการย่อง อินฺทสุวณฺโณ วัดวังตะวันตก เป็นพระคู่สวด ได้ฉายาทางธรรมว่า อริยวํโส แปลว่า ผู่เป็นวงศ์แห่งพระอริยะเจ้า


เรื่องราวพ่อท่านเอียดดำ

     เมื่อท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้จำพรรษา ศึกษาพระธรรมและสรรพวิชาต่างๆ ในสำนักของพระอธิการย่อง (พระครูกาชาด) วัดวังตะวันตก ซึ่งในสมัยนั้นพระอาจารย์ย่อง ท่านกำลังสร้างกุฏิทรงไทยหลังใหญ่ ตามบันทึกว่า

     "เริ่มหาเครื่องสร้าง (ไม้) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๕ เริ่มสร้าง พ.ศ. ๒๔๓๑ สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๔๓๘" แสดงว่า พระครูกาชาด (ย่อง) ท่านมีความสัมพันธ์กับวัดวังตะวันตกตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๒๕ เป็นต้นมา ท่านคือ ๑ ใน ๔ สมณศักดิ์พระครูกาที่รักษาอยู่ตามทิศทั้ง ๔ ของพระบรมธาตุฯ

     ในสมัยนั้นพระเอียด อริยวํโส เพิ่งอุปสมบทเป็นพระใหม่ๆ ท่านมีส่วนช่วยเหลือพระอาจารย์ของท่านในการช่วยสร้างกุฏิไม้หลังใหญ่ควบคู่กับการศึกษาธรรมและสรรพวิชาไปด้วย เนื่องจากพระอาจารย์ย่องท่านนี้มีความรู้ในหลายๆอย่าง โดยเฉพาะวิชาอาคม ศาสต์โบราณต่างๆ ได้ศึกษากับพระอาจารย์ย่องอยู่ระยะหนึ่ง จนเข้าใจแตกฉานพอที่จะช่วยเหลือตนเองและสั่งสอนผู้อื่นได้แล้ว จากนั้นได้กราบลาพระอาจารย์ย่อง เพื่อธุดงค์ไปตามสถานที่ห่างไกลเพื่อประกอบหิตานุหิตประโยชน์แก่ประชาชนตามเส้นทางที่จาริกธุดงค์ผ่าน

     พ่อท่านเอียดหรือพ่อท่านเอียดดำท่านยังเป็นศิษย์ในสายสำนักวัดเขาอ้อ โดยได้เรียนสรรพวิชาต่างๆจากพระอาจารย์ทองเฒ่า แห่งวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง จนแตกฉาน มีความรอบรู้เป็นอย่างยิ่ง ในการศึกษาวิชาที่สำนักวัดเขาอ้อนั้นท่านได้พบและรู้จักกับสหธรรมิกรุ่นน้องที่อ่อนพรรษากว่าคือ พระอาจารย์ทอง พุทฺธสุวณฺโณ วัดดอนสะท้อน จังหวัดชุมพร

     พ่อท่านเอียดท่านชอบปลีกวิเวก ชอบเดินออกธุดงค์ไปในที่ต่างๆหลายพื้นที่ เช่น ประเทศพม่า และทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะพระสงฆ์สหธรรมิกในภาคใต้ที่ท่านได้เดินธุดงค์ไปมาหาสู่ เช่น
     - พระครูวิสุทธิจารี (พุ่ม อินฺทสโร) วัดจันพอ จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พระครูอินคีรีสมานคุณ (เรือง ปุญฺญโชโต) วัดอินทคีรี (บ้านนา) จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พ่อท่านเสน สีสุวณฺโณ วัดเสนาราม จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พ่อท่านขี้หนู (สมภารขี้หนู) วัดวนาราม (ยวนแหล) จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พ่อท่านทอง พุทฺธสุวณฺโณ วัดดอนสะท้อน จังหวัดชุมพร
     - พระครูประกาศิตธรรมคุณ (เพชร อินฺทโชติ) วัดวชิรประดิษฐ์ (เฉงอะ) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
     - พ่อท่านพุ่ม ฉนฺโท วัดปากคู จังหวัดสุราษฎร์ธานี

     และมีอีกมากมาย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านจะมีความสนิทสนมกับพระครูวิสุทธิจารี (พ่อท่านพุ่ม อินฺทสโร) วัดจันพอ ซึ่งมีความอาวุโสกว่าพ่อท่านเอียด ประมาณ ๑๐ ปี (พ่อท่านพุ่ม กำเนิดปี ๒๔๐๒) พ่อท่านพุ่ม กับ พ่อท่านเอียด เป็นศิษย์พระอาจารย์เดียวกันคือพระครูกาชาด (ย่อง) วัดวังตะวันตก นับได้ว่าเป็นศิษย์พี่-ศิษย์น้องกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นสหธรรมิกกัน และเป็นคนบ้านเดียวกันด้วย กล่าวคือเกิดในหมู่บ้านเดียวกัน อีกทั้งในสมัยที่ท่านทั้ง ๒ ดำรงขันธ์อยู่นั้น พ่อท่านเอียดได้ไปพักค้างคืน หรือ แวะสนทนาธรรมกับพ่อท่านพุ่มบ่อยครั้ง บางครั้งพักอยู่หลายๆคืน

นอกจากนี้ท่านยังมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งเพศบรรพชิตและฆราวาส ลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียง ได้แก่
     - พ่อท่านเขียว อินฺทมุนี วัดหรงบน จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พระครูวิสุทธิจารี (กล่ำ ถาวโร) วัดวิสุทธิยาราม จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พระครูวิริยานุศาสน์ (น่วม ธมฺมรกฺขิโต) วัดหลวงครู จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พระครูพิศาลพัฒนกิจ (บุญรอด ฆงฺคสุวณฺโณ) วัดประดู่พัฒนาราม จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พระครูอดุลธรรมวิมล (พิมน ฐานสุนฺทโร) หรือพ่อท่านอินทร์ วัดสระเกศ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
     - พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) เป็นต้น

     นอกจากเรื่องพลังจิตสูงและอาคมขลังแล้ว พ่อท่านเอียดท่านยังมีความสามารถด้านวิชาการอีกด้วย เช่น การแต่งบทร้อยกรอง (กลอนแปด) โดยท่านเขียนเป็นภาษาถิ่นใต้เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆแบบสำเนียงคนนครศรีธรรมราชได้ไพเราะมาก สัมผัสถูกต้องตามหลักภาษา แสดงให้เห็นว่าท่านได้ศึกษามาไม่น้อยเลย

     เหตุที่ได้เอ่ยนามท่านว่า "พ่อท่านเอียดดำ" ก็เพราะว่า ในสมัยที่พ่อท่านเอียด ครองวัดศาลาไพอยู่นั้นในละแวกใกล้กัน มีสมภารวัดชื่อ "เอียด" อยู่สองวัด คือ พ่อท่านเอียด อริยวํโส วัดศาลาไพ และ พ่อท่านเอียด มุนิโช วัดโรงฆ้อง เพื่อไม่ให้เป็นการสับสนเวลาเอ่ยนาม ด้วยรูปพรรณสัณฐานของพ่อท่านเอียด วัดศาลาไพ มีผิวพรรณที่คล้ำกว่า ชาวบ้านจึงขนานนามท่านว่า "พ่อท่านเอียดดำ" ส่วนพ่อท่านเอียด วัดโรงฆ้อง ชาวบ้านขนานนามว่า "พ่อท่านเอียดขาว"

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๗๐  เป็น เจ้าอาวาสวัดศาลาไพ
พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็น เจ้าอาวาสวัดคงคาวง (วัดอ้ายเขียว)

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๕  เป็น ผู้สร้างโรงเรียนวัดศาลาไพ

วัตถุมงคลพ่อท่านเอียด


     ส่วนมากจะเป็นพวกเครื่องรางของขลัง เช่น ตะกรุด เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ลูกอม เป็นต้น ซึ่งมีรูปแบบไม่แน่นอน ท่านโด่งดังมากในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะประสบการณ์ในวัตถุมงคลที่มีผู้นำไปใช้ ส่วนวัตถุมงคลประเภทที่ผู้คนนิยมและพูดถึงกันมากคือ เหรียญ ได้สร้างขึ้นโดยลูกศิษย์ที่เคารพศรัทธาในตัวท่าน ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๒ เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ติด ๑ ในเบญจภาคีพระเหรียญเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระเกจิที่รับนิมนต์อธิษฐานจิตปลุกเสกเหรียญพระเครื่องอื่นๆอีก เช่น
     - เหรียญรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๗๖ พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) วัดท่าโพธิ์ฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - เหรียญรุ่นแรกศิษย์พี่ของท่าน พ.ศ. ๒๔๘๕ พระครูวิสุทธิจารี (พุ่ม) วัดจันพอ จังหวัดนครศรีธรรมราช
     - พระผงผสมชันโรงวัดหน้าพระธาตุฯ พ.ศ. ๒๔๘๕ สร้างโดยพระศรีธรรมราชมุนี (หมุ่น อิสฺสโร) วัดหน้าพระบรมธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

มรณกาล


     พระอธิการเอียด อริยวํโส มรณภาพ เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ตรงกับ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ สิริอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๒

     ฌาปณกิจศพ เมื่อวันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง ตรงกับ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖



ที่มา


หนังสือที่ระลึก วัดคงคาวง (วัดอ้ายเขียว) พร้อมสำเนาเอกสารอ้างอิงประกอบในเล่ม อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช.

ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook