พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินฺทปญฺโญ) | พระสังฆาธิการ

พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินฺทปญฺโญ)


 
เกิด ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙
อายุ ๙๓ ปี
อุปสมบท ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙
พรรษา ๗๓
มรณภาพ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒
วัด วัดปราสาทเยอเหนือ
ท้องที่ ศรีสะเกษ
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 680

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูประสาธน์ขันธคุณ มีนามเดิมว่า มุม บุญโญ เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีกุน ณ บ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง (เดิมคือท้องที่อำเภอขุขันธ์) จังหวัดศรีสะเกษ (เดิมคือจังหวัดขุขันธ์) ซึ่งเป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมเป็นชาวเยอตั้งถิ่นฐานอยู่ มีโยมมารดาชื่อนางอิ่ม บุญโญ โยมบิดาชื่อนายมาก บุญโญ มีพี่น้องร่วมมารดาและบิดาเดียวกันจำนวน ๕ คน พื้นฐานครอบครัวเป็นชาวนาชาวไร่


ชีวิตวัยเด็ก

     ด้วยความที่ถือกำเนิดในครอบครัวเกษตรกรที่มีฐานะลำบาก เมื่อเจริญวัยถึงระยะที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้แล้ว ตั้งแต่อายุ ๕-๖ ขวบ เด็กชายมุม ได้ช่วยเหลือบิดามาดาทำไร่ทำนา แต่เมื่อว่างเว้นจากภารกิจดังกล่าว ก็มักจะคลุกคลีอยู่กับวัดเป็นส่วนใหญ่ โดยเจริญรอยตามบิดามารดาซึ่งเลื่อมใสและเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา เด็กชายมุมจึงใช้เวลาว่างส่วนมากในการสนทนากับพระภิกษุ สามเณร รวมทั้งเข้าโบสถ์เพื่อไหว้พระสวดสวดมนต์ ตลอดจนฟังพระสวดมนต์ ทำวัตรเย็น อยู่เป็นนิจ

     ครั้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน พระอาจารย์พิมพ์ เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ ในขณะนั้น เห็นว่าเด็กชายมุมมีอุปนิสัยศรัทธาในพระศาสนา จึงได้ปรารภกับนายมาก ผู้เป็นบิดา เพื่อให้เด็กชายมุมมาอยู่ที่วัดเป็นการถาวร บิดาเห็นพ้องกับพระอาจารย์พิมพ์ จึงได้นำบุตรชายมาฝาหให้อยู่ในความอุปการะของวัดตั้งแต่นั้นมา เพื่อศึกษาเล่าเรียนขั้นมูลฐานตามแบบโบราณ (ในขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียน) เจ้าอาวาสได้ให้ความเอ็นดูเด็กชายมุม ด้วยความชื่นชมในปฏิภาณ ไหวพริบและสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด เด็กชายจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ จากเจ้าอาวาส ทั้งการเขียน-อ่านภาษาไทย ภาษาขอม ภาษาบาลี ควบคู่ไปกับความรู้ทางพระธรรม โดยการเรียนร่วมกับพระภิกษุและสามเณรในวัดด้วยความตั้งใจเอาใจใส่ ทำให้มีความแตกฉาน ชำนาญในอักขรวิธีทางภาษาต่างๆและพระธรรม โดยเฉพาะภาษาขอมและภาษาบาลีเป็นอย่างดี จนกระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปี


บรรพชาอุปสมบท

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ขณะอายุ ๑๒ ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมี พระอาจารย์พิมพ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

     อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะอายุ ๒๐ ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมี เจ้าอธิการปริม เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพรหมมา วัดสำโรงระวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการทอง วัดไพรบึง อำเภอไพรบึง เป็นพระอนุสาวนาจารย์


การศึกษา

     เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้เพียรศึกษาพระปริยัติธรรมกับไวยากรณ์ภาษาบาลีและพระธรรมบทให้สูงขึ้นจนจบหลักสูตรและยังได้ศึกษามูลกัจจายนะ คัมภีร์พระไตรปิฎก จนจบ ๕ สูตร มีความรู้แตกฉานหาใครเปรียบได้ยากในสมัยนั้น อีกทั้งพระอาจารย์ปริมยังได้ถ่ายทอดพระคัมภีร์ทางด้านกรรมฐานและคาถาอาคมขลังทางลงเลขยันต์ ต่างๆ ให้กับพระภิกษุมุมด้วย

     นอกจากนั้น ด้วยอุปนิสัยที่รักทางขอมอักขระ อาคม ซึ่งแถบอีสานใต้นั้นศิลปวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณได้มีอิทธิพลเจริญรุงเรืองมาเป็นเวลาช้านาน พระภิกษุมุมจึงเข้ารับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์ชาวเขมรบ้าง ชาวลาวบ้าง โดยได้เอาใจใส่ฝึกฝนกับพระอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นจนเจนจัดเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสนากรรมฐานฝึกจิตให้กล้าแข็งมีสมาธิแน่วแน่ และได้นำมาสั่งสอนศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้ที่ศรัทธา


การเดินทางธุดงค์ กรรมฐานและจำพรรษาในต่างถิ่น

การธุดงค์ครั้งแรก

     เมื่อเจริญพรรษามากขึ้นตามลำดับแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ตามแบบรุกขมูลกับเพื่อนภิกษุจำนวน ๖ รูป ค่ำที่ไหนปักกลดจำวัดที่นั่น จากเมืองขุขันธ์ผ่านไปตามเส้นทางและพื้นที่ต่างๆ จนถึงวัดโคกมอญ เมืองกบินทร์บุรี จึงได้จำพรรษาที่วัดนี้เป็นเวลา ๓ พรรษา ได้พัฒนาความเจริญปลูกสร้างปฏิสังขรณ์ไว้กับวัดแห่งนี้หลายประการ เช่น สร้างโบสถ์ จากสำนักสงฆ์เล็กกลายเป็นวัดที่เจริญ ขณะนั้นมีพระอุปัชฌาย์โทเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโคกมอญ

การธุดงค์ครั้งที่สอง

     หลังจากออกพรรษาแล้วท่านจึงธุดงค์จากวัดโคกมอญกลับบ้านเกิดและจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอใต้หลายปีจึงเริ่มออกธุดงค์เป็นครั้งที่สอง โดยผ่านทางเมืองขุขันธ์ข้ามภูเขาพนมดงรัก มุ่งไปยังเมืองสาเก ในเขตจังหวัดพระตะบอง และได้พบกับอาจารย์บุญมี ผู้เรืองวิชา พระอาจารย์บุญมี ได้นำท่านเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ จนทั่วประเทศเขมร โดยใช้เวลาในการธุดงค์นานแรมปี จึงได้แยกกันออกเดินธุดงค์ไปคนละเส้นทาง พระมุมได้ผ่านมาทางกบินทร์บุรีข้ามภูเขาสองพี่น้อง อันเป็นทิวเขาดงพญาไฟ (ปัจจุบันคือดงพญาเย็น) จนกระทั่งมาถึงบ้านหวายได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อโฮม ซึ่งเก่งทางว่านสมุนไพร แก้อาถรรพ์และแก้คุณไสยต่างๆ

     เมื่อศึกษากับหลวงพ่อโฮมจนแตกฉานแล้วจึงออกออกธุดงค์ต่อไปอีก ผ่านป่าดงดิบไปสู่เขตจังหวัดสระบุรี เพื่อกราบสักการะรอยพระพุทธบาท พระพุทธฉาย ที่วัดพระพุทธบาท แล้วล่องต่อมาจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าจำพรรษาอยู่หลายวัด ก่อนจะต่อไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าสู่เขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ต่อเนื่องไปยังพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย อาณาจักรล้านช้าง เมืองเวียงจันทน์ ท่าแขก และสุวรรณเขต ตลอดระยะเวลาและเส้นทางในช่วงที่ท่านธุดงค์มานั้นก็ได้พบกับพระอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าหลายๆท่าน พระมุมได้ปวารณาตนเป็นศิษย์ ขอศึกษาเล่าเรียนและแลกเปลี่ยนความรู้วิชาต่างๆมากมาย จนได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เหล่านั้น ให้ไปหาสมเด็จลุน เกจิอาจารย์แห่งนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ท่านจึงธุดงค์ต่อไปเพื่อไปหาสมเด็จลุน แต่ต้องผิดหวังเพราะสมเด็จลุนเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี พระมุมจึงได้ตามไปที่จังหวัดอุบลราชธานี จนพบกับสมเด็จลุนและฝากตัวเป็นศิษย์ติดตามกลับเข้าไปนครจำปาศักดิ์อีกครั้ง ได้ศึกษาความรู้ทางอาคมขลัง เลขยันต์ต่างๆ สมเด็จลุนยังได้มอบตำราวิทยาคมไสยเวทย์ให้กับท่านเพื่อนำมาศึกษาเพิ่มเติม จากนั้น พระมุมได้ลาสมเด็จลุนออกจากจำปาศักดิ์เดินทางกลับมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างนั้นได้พบพระอาจารย์ดีๆในตัวเมืองอุบลราชธานีระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองขุขันธ์ จนกลับถึงบ้านเกิดอีกครั้ง

     การจาริกธุดงค์ของท่านแต่ละครั้งได้เดินทางเข้าป่าหาวิเวกแสวงธรรมไปตามป่าเขา ตามถ้ำ จนทั่วประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง ทั้งลาว พม่า เขมร และมาเลเซีย ใช้เวลาธุดงควัตรอยู่ ๑๐ พรรษา หลายครั้งของการออกเดินทางธุดงค์ต้องประสบกับความยากลำบากและอันตรายจึงเกือบถึงแก่ชีวิต เพราะต้องเดินด้วยเท้าเปล่า บางครั้งต้องเดินผ่านป่าดงดิบนับสิบๆวัน โดยมิได้พบหมู่บ้านเลย สาเหตุที่หลวงพ่อมีความอดทนอดกลั้นได้นั้น เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตที่แข็งกล้าและอาศัยอำนาจของ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันยึดมั่นอย่างแน่วแน่อยู่เสมอนั่นเอง จึงทำให้ท่านอยู่ได้โดยปราศจากความหิว ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง

     หน้าที่เจ้าอาวาส : พระมุมได้เดินทางกลับถึงบ้านปราสาทเยอและเข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอใต้ ซึ่งเป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน เป็นช่วงเวลาหลังจากหลวงพ่อปริม เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ รูปเดิมได้มรณภาพ ส่งผลให้วัดปราสาทเยอเหนือว่างเว้นจากการมีเจ้าอาวาสลงเป็นเวลานานถึง ๕ ปี เมื่อประชาชนในหมู่บ้านทราบข่าวการกลับจากเดินทางธุดงควัตรของท่าน จึงได้พร้อมใจกันไปอาราธนานิมนต์ท่านให้ย้ายไปอยู่ประจำ ณ วัดปราสาทเยอเหนือ หลวงพ่อก็ได้สนองศรัทธาของสาธุชน โดยการรับไปจำพรรษาถาวรอยู่ที่วัดปราสาทเยอเหนือ เป็นเจ้าอาวาสวัดตั้งแต่นั้นมา ระหว่างอยู่วัดนั้น สิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นนิจคือ การเดินจงกรม ทำกรรมฐานและทบทวนวิชาต่างๆในยามว่างจากผู้คนหรือกิจนิมนต์ นอกจากนั้น พระยาขุขันธ์ภักดีฯ เจ้าเมืองขุขันธ์ ยังได้นำเอาคัมภีร์สมุดข่อยไปถวายและตำราต่างๆไว้อย่างครบถ้วน ให้แก่หลวงพ่อมุมอีกด้วย บรรดาคัมภีร์และตำราดังกล่าวบรรจุศาสตร์ความรู้นานาประการ ทั้งวิชาอาคม และโหราศาสตร์

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๖๔ - ๒๕๒๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ
พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๕๐๙  เป็น เจ้าคณะตำบลปราสาทเยอ
พ.ศ. ๒๔๖๖ - ๒๕๒๒  เป็น พระอุปัชฌาย์ ในเขตตำบลปราสาทเยอ
พ.ศ. ๒๕๑๐  เป็น เจ้าคณะตำบลปราสาทเยอ กิตติมศักดิ์

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

  • ท่านได้เอาใจใส่เป็นพิเศษในการอบรมศีลธรรมให้แก่ พระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งญาติโยมทั่วไป โดยการสอนที่เน้นหนักไปทางปฏิบัติธรรม เนื่องจากท่านได้เคยปฏิบัติอบรมมาก่อนแล้วเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นการยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้ จึงมีพระภิกษุ สามเณร ตลอดประชาชนในยุคก่อนๆจำนวนมากสนใจไปถวายตัวเป็นศิษย์
  • ได้ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการคณะสงฆ์ในด้านการเผยแผ่พระธรรม ด้วยดีโดยตลอด โดยร่วมกับทางการคณะสงฆ์จัดองค์การเผยแผ่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด คณะพระธรรมทูตส่วนกลาง และคณะพระธรรมทูตส่วนท้องถิ่น

งานสาธารณูปการและพัฒนาวัด

วัดปราสาทเยอเหนือ

  • การก่อสร้างอุโบสถ ๑ หลัง กว้าง ๘.๐๐ เมตร ยาว ๑๘.๕๐ เมตร สร้างแบบถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา
  • การก่อสร้างกุฏิครึ่งไม้ครึ่งคอนกรีต ๑ หลัง ๒ ชั้น ๗ ห้อง
  • การก่อสร้างกุฏิตึก ๒ ชั้น ๑ หลัง
  • ทางราชการได้สร้างศาลา ภ.ป.ร. ถวาย ๑ หลัง ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
  • การก่อสร้างกำแพงล้อมรอบวัด โดยหล่อเสาปูนก่ออิฐ ถือปูน
  • การก่อสร้างซุ้มประตูวัด ซึ่งซุ้มประตูวัดนี้จำลองมาจากประเทศกัมพูชา
  • การก่อสร้างหอระฆัง ๑ หลัง แบบถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก

วัดอื่นๆ

  • ให้ความร่วมมือกับวัดต่างๆ ที่ขอความช่วยเหลือ โดยการร่วมระดมปัจจัยเป็นทุนทรัพย์ให้วัดต่างๆหลายแห่ง เพื่อดำเนินการพัฒนาวัดทั้งในเขตจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอื่นๆ

มูลนิธิประสาธน์ขันธคุณ

โดยการอนุญาตให้มีการก่อตั้งมูลนิธิ ในพ.ศ. ๒๕๐๗ ด้วยการมอบอำนาจให้คุณวรวัฒน์ รุ่งแสง รับดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดหาทุนทรัพย์มาก่อตั้งมูลนิธิเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะทั้งในวัดปราสาทเยอเหนือและวัดต่างๆ

งานด้านการศึกษา

     ในอดีต ระหว่างที่ยังเป็นจังหวัดขุขันธ์นั้น หม่อมหลวงช่วง ข้าราชการกระทรวงธรรมการ ได้รับหน้าที่ช่วยราชการที่เมืองขุขันธ์ เห็นว่าการศึกษาในหลายพื้นที่ของเมืองขุขันธ์รวมทั้งพื้นที่ตำบลปราสาทเยอนั้นยังด้อยอยู่มาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษา จึงได้เดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อมุมให้ช่วยสอนหนังสือพระ โดยทางราชการได้รับความเมตตาจากท่านเป็นครูใหญ่ทำหน้าที่สอนหนังสือไทย ณ โรงเรียนวัดบ้านปราสาทเยอเหนือคนแรก โดยสอนอยู่นานถึง ๑๕ ปี

     ท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของการศึกษา จึงได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนงานพัฒนาการศึกษาทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรพระปริยัติธรรม โดยรับหน้าที่เป็นครูผู้สอน รับตำแหน่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนต่างๆ ตลอดจนการริเริ่มจัดตั้งและสร้างโรงเรียนเพื่อเป็นสถานศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ตำบลปราสาทเยอ ดังนี้

  • เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลวัดบ้านปราสาทเยอใต้ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนบ้านปราสาทเยอ (ประสาธน์คุรุราษฎร์รังสรรค์) และทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ครูใหญ่ในระยะแรก (พ.ศ. ๒๔๕๙ - พ.ศ. ๒๔๗๔)
  • เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนวัดบ้านประอาง (ประสาธน์คุรุราษฎร์พัฒนา) และทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ครูใหญ่ในระยะแรก (พ.ศ. ๒๔๕๙ - พ.ศ. ๒๔๗๔)
  • เป็นครูสอนมูลกัจจายนสูตร ประจำสำนักวัดปราสาทเยอเหนือ
  • เป็นครูสอนปริยัตธรรมแผนก นักธรรมตรี, นักธรรมโท, และนักธรรมเอก ประจำสำนักวัดปราสาทเยอเหนือ

     นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้ยุติการสอนหนังสือ เพราะมีภาระทางศาสนามากขึ้น และเป็นช่วงที่พระสงฆ์มีความรู้หลายรูปสามารถเป็นครูสอนแทนได้ ท่านจึงได้ถ่ายโอนภารกิจการสอนหนังสือให้กับพระสงฆ์รูปอื่นๆ จำนวนหลายรูปเพื่อทำหน้าที่สอนหนังสือแทน

งานสาธารณสงเคราะห์

     การริเริ่มหล่อเหรียญรูปจำลองของท่านเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งถือเป็นรุ่นแรก เพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการระดมปัจจัยเป็นทุนทรัพย์ช่วยสมทบทุนก่อสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะ เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพัฒนาวัดต่างๆแล้ว รายได้อีกส่วนหนึ่งจากโครงการสร้างเหรียญจำลองยังนำไปใช้ประโยชน์หลักเพื่อกิจการสาธารณกุศลต่างๆ อาทิ

  • รับเป็นเจ้าภาพบรรพชา อุปสมบท ให้แก่กุลบุตร ผู้มีศรัทธาแต่ยากจน โดยรับเป็นเจ้าภาพอัฏฐบริขาร ปีละหลายสิบรูป
  • รับเป็นเจ้าภาพฌาปนกิจศพยากจน ไร้ญาติ ปีละไม่ต่ำกว่า ๔ - ๕ ราย
  • ระดมทุนก่อสร้างงซุ้มประตูคอนกรีต รั้วลวดหนาม และบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ และโรงเรียนอีกหลายแห่ง
  • บริจาคทุนทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ ๑ ห้องในตึกสงฆ์เนรมิตร โรงพยาบาลศรีสะเกษ
  • นอกจากการอนุญาตให้วัดต่างๆ จัดสร้างวัตถุมงคลของท่านแล้ว ท่านยังได้ให้ความกรุณาเดินทางไปร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษก ปลุกเสก สมโภช พระประธาน วัตถุมงคลของวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนวัดหล่านั้นระดมทุนทรัพย์ดำเนินการด้านสาธารณกุศลต่างๆ

การอาพาธ


     นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ สุขภาพของท่านเริ่มทรุดโทรมลงด้วยความชราภาพ โดยมีการอาพาธจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง กระทั่งในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงพ่อได้อาพาธ ศิษยานุศิษย์จึงได้นำท่านส่งโรงพยาบาลศรีสะเกษ เพื่อพักรักษาอีกครั้ง คณะแพทย์ได้เอาใจใส่เป็นพิเศษในการเยียวยารักษา แต่ด้วยชีวิตร่างกายของมนุษย์ซึ่งไม่เที่ยง ย่อมตกอยู่ในสภาวะ ๓ ประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลวงพ่อได้มีอาการทรุดหนักจนเกินความสามารถที่คณะแพทย์จะทำการรักษาได้ และได้สิ้นลมปราณโดยสงบ

มรณกาล


     พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินฺทปญฺโญ) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เวลา ๐๕:๒๐ น. ณ โรงพยาบาลศรีสะเกษ สิริอายุ ๙๓ ปี พรรษา ๗๓

สมณศักดิ์


๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ที่ พระครูประสาธน์ขันธคุณ
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ในราชทินนามเดิม

ที่มา


wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook