|
VIEW : 1,423
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล ๑. นายแดง เจริญเวช (พระอธิการแดง คุณสมฺปนฺโน)
๒.นายฟัก เจริญเวช
๓. นางทรัพย์ เจริญเวช
เมื่ออายุสมควรแก่การได้รับการศึกษา ประมาณ ๘ ปี ได้เข้าเรียนอักขระสมัย ขอม-ไทย ในสำนักของพระอธิการแทน วัดน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (อายุ ๑๕ ปี ) ณ วัดน้ำรอบ โดยมี พระอธิการแทน เป็นพระอาจารย์บรรพชาสามเณร
บรรพชาเป็นสามเณรได้ ๑ ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ พระอธิการแทน พระอาจารย์ของท่านได้มรณภาพ และได้จัดงานบำเพ็ญกุศลศพขึ้น ในงานต้องใช้มะพร้าวในการประกอบอาหาร ครั้นสามเณรแดงต้องเป็นธุระในการไปหามะพร้าว ไปถึงสวนมะพร้าวก็ไม่พบใครที่สามารถจะขึ้นมะพร้าวให้ท่านได้ และด้วยตัวท่านที่เป็นสามเณร ถ้าขึ้นต้นมะพร้าวท่านกลัวว่าใครผ่านไปผ่านมาเห็นจะดูเป็นการไม่เหมาะสมในเพศสมณะ ด้วยความเป็นสามเณรผู้ยึดมั่นในพระธรรมวินัย ท่านจึงตัดสินใจ สึกจากสามเณรเพื่อขึ้นมะพร้าว นำไปช่วยงานศพพระอาจารย์แทน นายแดงในเพศฆราวาสก็ได้ช่วยงานศพพระอาจารย์ด้วยความกตัญญูจนฌาปนกิจเสร็จสิ้น
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘/๘ (เดือนแปดสองหน) ปีมะโรง (อายุ ๒๒ ปี) ณ พัทธสีมาวัดน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี พระครูพิศาลคณะกิจ (จ้วน) เจ้าคณะแขวงพุนพิน วัดพุนพินใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการนุ้ย ปทุมฺสุวณฺโณ วัดท่าโขลง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการกลิ่น วัดวิหาร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “คุณสมฺปนฺโน” แปลว่า พระคุณของพระพุทธเจ้า
เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้มาจำพรรษา ณ วัดวิหาร ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจำพรรษาอยู่กับพระอธิการกลิ่น ๑ พรรษา เมื่ออกพรรษา ได้กราบลาพระอธิการกลิ่นเพื่อออกจาริกธุดงค์ โดยร่วมธุดงค์กับพระพลอย ซึ่งเป็นพระรุกขมูลที่จาริกธุดงค์อยู่ในแถบลุ่มน้ำพุมดวง พระพลอยกับพระแดงได้จาริกลงทางใต้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้ากราบนมัสการ พระบรมธาตุนครฯ จาริกต่อผ่านป่าเขาลำเนาไพรกับพระพลอย ผจญทุกข์ลำบากในการเดินทาง แต่มิได้ย่อท้อจนถึงเมืองตรัง ธุดงค์ต่อเข้าเขตจังหวัดกระบี่ ได้จำพรรษา ณ วัดในจังหวัดกระบี่ ๑ พรรษา ออกพรรษาได้จาริกธุดงค์ต่อถึงจังหวัดภูเก็ต
หลวงพ่อพลอย และ พระแดง ได้เข้าจำพรรษา ณ วัดโฆษิตวิหาร (โต๊ะแซะ) เมืองภูเก็ต ในสำนักของพระอาจารย์รอด พระผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนง ซึ่งหลวงพ่อพลอย ได้ฝากพระแดง ให้อยู่ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และสรรพวิชาต่างๆ กับพระอาจารย์รอด เป็นเวลา ๕ พรรษา พระอาจารย์รอดผู้นี้ ท่านมีภูมิลำเนาเดิมที่เมืองไชยา บวชเรียนในสำนักเมืองไชยา แล้วได้เดินจาริกธุดงค์สู่เมืองภูเก็ต ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านให้จำพรรษาและสร้างวัดขึ้น ชื่อว่า วัดโฆษิตวิหาร หรือเรียกว่า วัดโต๊ะแซะ และได้เปิดสำนักเรียนวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมา เป็นสำนักที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในสมัยนั้น และมีผู้เข้ามาศึกษามากมาย ศิษย์ที่จบไปจากสำนักนี้ ล้วนมีชื่อเสียงและเป็นผู้เชี่ยวชาญในสรรพวิชาต่างๆ ซึ่งศิษย์สำนักนี้ เช่น หลวงพ่อสงฆ์ จนฺทสโร วัดศาลาลอย จังหวัดชุมพร หลวงพ่อทองพิม ภทฺทมุนี วัดหัวสวน หลวงพ่อพัว เกสโร วัดบางเดือน เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทั้งนั้น
ต่อมาหลวงพ่อพลอย และ หลวงพ่อแดง ได้กราบลาพระอาจารย์รอด ออกจาริกธุดงค์ต่อไปยังกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยเดินธุดงค์ขึ้นไปที่บ้านลังเคี่ย ชายแดนไทย-พม่า แถบจังหวัดระนองซึ่งได้ประสบกับความยากลำบากในการจาริก บางวันต้องอดน้ำ อดอาหาร เพราะไม่มีแหล่งชุมชน แต่มิได้มีความย่อท้อใดๆ แล้วจาริกข้ามข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ไปเมืองมะริด ออกจากเมืองมะริดเข้าป่าใหญ่ ซึ่งไม่ได้รับอาหารบิณฑบาตรเลย เป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้เข้ากราบนมัสการ และพักอาศัย ณ พระบรมธาตุเจดีย์ชเวดากอง เป็นเวลา ๗ วัน แล้วจึงออกเดินทางกลับประเทศไทยโดยผ่านเส้นทางเดิม ครั้นจาริกกลับ เข้าเมืองมะริด ปรากฎว่า หลวงพ่อแดง ได้อาพาธอย่าหนัก และมีอาการอ่อนเพลีย เนื่องมาจากการตรากตรำเดินธุดงค์มานาน จึงต้องหยุดจาริกพักรักษาตัวในป่าช้าแถบเมืองมะริด เป็นเวลา ๑๕ วัน ซึ่งมีพระพลอยผู้เป็นอาจารย์ร่วมธุดงค์ ภิกษุและสามเณร ตลอดจนถึงชาวบ้านพม่า ได้ช่วยรักษาพยาบาลจนหายจากอาการอาพาธ
หลังจากนั้นพระครูกตเวทีฯ เจ้าอาวาสวัดศิลาลาย เมืองมะริด เกิดเลื่อมใสศรัทธาจากการสนทนาธรรมกับหลวงพ่อแดง จึงได้อาราธนานิมนต์ให้หลวงพ่อแดงจำพรรษา ณ วัดศาลาลอยแห่งนั้น เพื่ออบรมสั่งสอนแม่ชีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าอาวาสวัดศิลาลายนั่นเอง เหตุเพราะทำโอ้อวด ตั้งตนว่าสำเร็จธรรมขั้นสูง แล้วตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนผู้อื่นแบบผิดๆ อาการคล้ายคนวิกลจริต (เป็นบ้า) หลวงพ่อแดงก็ได้อบรมสั่งสอนแม่ชี จนลดทิฏฐิในตน เข้าใจในความถูกต้องมากขึ้น และก็ได้หายจากอาการวิกลจริตนั้น
ออกพรรษาท่านก็ได้จาริกออกจากเมืองมะริด ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี เข้าสู่ จังหวัดระนอง แล้วเข้าสู่ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยเดินทางเป็นเวลา ๖ วัน ไม่ได้รับอาหารบิณฑบาตร ผ่านเมืองชุมพร ผ่านหลังสวน เข้าเมืองไชยา กลับบ้านเกาะกลาง พักผ่อนได้ไม่นาน ได้จาริกต่อสู่เมืองภูเก็ต (คาดว่าได้แยกธุดงค์กับหลวงพ่อพลอยผู้เป็นอาจารย์ในครั้งนี้) ต่อมา หลวงพ่อแดงได้จาริกต่อไปยังเมืองภูเก็ต เพื่อไปหาพระอาจารย์รอด แห่งวัดโฆษิตวิหารอีกครั้ง และครั้งนี้ได้อยู่จำพรรษากับหลวงปู่รอด ๑๐ พรรษา ณ ที่นั้นหลวงพ่อแดงได้ลดการฉันอาหารลง โดยฉันเดือนละ ๔ วัน ในแต่ละวันที่ฉัน คือ ฉัน ๒ ครั้ง เป็นอันว่า ฉัน ๘ ครั้ง ต่อเดือน
หลวงพ่อแดง ร่วมกับ ภิกษุสงฆ์และสามเณรหลายรูป ได้เดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่เกาะแก้วพิศดาร เดินทางโดยเรือ แล่นในทะเลเป็นเวลา ๗ วัน ถึงเกาะแก้วพิศดาร พระสงฆ์ และสามเณรที่ร่วมเดินทางนั้นได้เก็บเอาหอยเบี้ย บนเกาะแก้วพิศดารติดตัวกลับมาด้วย ครั้นเดินทางกลับจากเกาะแก้วพิศดาร ระหว่างทางกลางทะเลบังเกิดคลื่นลม และฝนตกหนักทุกทิศ เรือโคลงเคลงกลางทะเล เป็นเหตุให้หอยเบื้ยที่เก็บกันมานั้น หล่นตกลงทะเลจนหมดสิ้น หลวงพ่อแดง ท่านได้วางเฉยปล่อยจิตว่าง ไม่หวั่นต่อภัยใดๆ ในเบื้องหน้า อธิษฐานจิตขอบุญญาบารมีของตนที่ได้สร้างสมมา โปรดได้ให้อภัยในสิ่งที่ภิกษุและสามเณรได้ล่วงเกินโดยไม่ล่วงรู้ พลันขอให้คลื่นลมฝนที่พัดอยู่นั้นสงบลง จากนั้นคลื่นลมฝนที่พัดกระหน่ำอย่างหนักก็ค่อยๆคลายและสงบลงไปในที่สุด และก็ได้เดินทางมาถึงเกาะภูเก็ตกัอย่างปลอดภัย
ต่อมาไม่นานหลวงพ่อแดงได้กราบลาหลวงปู่รอดออกจาริกธุดงค์อีกครั้ง โดยข้ามจากเกาะภูเก็ตมาในพื้นที่ ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้หยุดพักอาศัยป่าช้า และหยุดจำพรรษาที่วัดในเมืองตะกั่วป่า ๑ พรรษา หลวงพ่อแดงได้อบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ยึดมั่นในศีลธรรม เมื่อออกพรรษาได้จาริกต่อไปจำพรรษาที่ อำเภอโคกกลอย มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาก โดยมีหลวงสุนทรฯ คหบดีชาวโคกกลอยนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาในสวนมะพร้าว ๑ พรรษา (คาดว่าน่าจะเป็นวัดทุ่งมะพร้าว หรือวัดประชุมศึกษา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา) พอออกพรรษาหลวงพ่อแดงก็ได้จาริกธุดงค์ต่อผ่านป่าเขาลำเนาไพรจนเข้าเขต จังหวัดระนอง ผ่านบ้านมะลิวัลย์ บ้านปากจั่น เป็นเวลา ๓ วัน โดยมิได้รับอาหารบิณทบาตรเลย ถึงเหมืองแร่จำวัดหนึ่งคืน พอตื่นเช้าชาวบ้านได้ถวายภัตตาหาร และได้ลงเรือข้ามทะเล ไปขึ้นฝั่งที่ อำเภอบกเปี้ยน เข้าสู่เมืองมะริด ท่านก็ได้อดอาหารอีกหลายวัน แม้กายทุกข์แต่ใจท่านมิได้ทุกข์เลย ต่อมามีเศรษฐีชาวพม่า มีศรัทธาในตัวท่าน ได้ถวายค่าใช้จ่ายให้ท่านได้โดยสารเรือกลไฟ ใช้เวลา ๗ วัน ไปถึงกรุงย่างกุ้ง และได้พักอยู่ในวัดแถบกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เป็นเวลา ๗ วัน แล้วจึงลงเรือกลไฟลำเดิมกลับเมืองมะริด พักผ่อนตามอัธยาศัยฉลองศรัทธาสาธุชนชาวพม่า เป็นเวลา ๗ วัน ต่อจากนั้นจึงจาริกธุดงค์กลับถิ่นฐานบ้านเกิด โดยจาริกกลับในทางเดิมที่เคยจาริกผ่านในครั้งก่อน โดยจาริกข้ามเทือกเขาตะนาวศรี เข้าสู่ลังเคี่ย หยุดพักจำพรรษา ณ วัดในลังเคี่ย ๒ พรรษา แล้วจึงจาริกธุดงค์กลับ ผ่าน อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เข้าไชยา สุราษฎร์ธานี และกลับสู่บ้านเกาะกลางที่อีกครั้ง ในการกลับมาครั้งนี้ได้ไปหาญาติๆทพบปะพูดคุย และมาจำพรรษา ณ วัดวิหาร ซึ่งในขณะนั้นพระอธิการกลิ่น ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน ได้มรณภาพลงไปก่อนแล้ว ทำให้วัดวิหารว่างสมภาร
หลังจากกลับการจาริกธุดงค์พม่าครั้งที่ ๒ ญาติๆ และชาวบ้านบ้านน้ำรอบ หนองไทร ได้นิมนต์ขอร้องท่านให้ครองวัดวิหาร จนท่านรับนิมนต์ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวิหาร ท่านได้อบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาและชาวบ้านทั่วไปให้ตั้งมั่นในศีลธรรม ตลอดจนพัฒนาบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดวิหาร จนเจริญขึ้นเป็นลำดับ เมื่อหลวงพ่อแดงได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวิหารระหนึ่ง จวบจน พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้สร้างอุโบสถใหม่ขึ้น แต่ทางวัดได้ขาดทุนทรัพย์ในการก่อสร้างทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก ต่อมาในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๔ ท่านจึงสร้างวัตถุมงคล เช่น เหรียญที่ระบึกหลังยันต์ รูปหล่อโบราณเนื้อทองผสม ล็อคเก็ตรูปถ่าย ผ้ายันต์ เป็นต้น เพื่อจัดหาทุนทรัพย์ในการสร้างอุโบสถ จนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ภายหลังจากสร้างอุโบสถเสร็จไม่นาน หลวงพ่อแดงก็ได้มรณภาพ ก่อนมรณภาพท่านสั่งไว้ว่า ห้ามเผาสรีระสังขารของท่าน ให้สร้างสถานที่บรรจุสรีระท่านไว้ ถ้าทางวัดขาดทุนทรัพย์ หรือไม่สามารถสร้างที่บรรจุสังขารท่านในวัดได้ ให้นำสรีระสังขารท่านไปไว้ในถ้ำในป่าหรือที่สงบ ต่อมาเมื่อท่านมรณภาพ ทางศิษยานุศิษย์จึงสร้างสถูปใหญ่เป็นเจดีย์ทรงศรีวิชัยมีมุขด้านหน้าประดิษฐานรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริง ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา จนปัจจุบันนี้
หลวงพ่อแดง อริยสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ศีล เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนอย่างกว้างขวาง มีศิษยานุศิษย์มากมาย อีกทั้งยังมีสหายธรรมรุ่นพี่ศิษย์ร่วมสำนักหลวงปู่รอด วัดโฆษิตวิหาร ซึ่งมีพื้นที่วัดอยู่ใกล้ๆในอำเภอเดียวกัน คือ พระสมุห์ทองพิม ภทฺทมุนี วัดหัวสวน กล่าวกันว่า หลวงพ่อแดง จะให้การเคารพหลวงพ่อทองพิมมากๆ เสมือนว่าเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อแดงอีกคน และอีกท่าน พระครูสถิตสันตคุณ (พัว เกสโร) วัดจันทร์ประดิษฐาราม ศิษย์พี่ผู้ทรงคุณอันประเสริฐแก่สาธุชนคนพุมดวง
พ.ศ. ๒๔๗๔ | เป็น เจ้าอาวาสวัดวิหาร |
พ.ศ. ๒๔๗๘ | เป็น เจ้าคณะตำบลน้ำรอบ |
พระอธิการแดง คุณสมฺปนฺโน ได้อาพาธกระเสาะกระแสะด้วยความชรามาระยะหนึ่ง และได้ถึงแก่มรณภาพหลังจากที่สร้างอุโบสถเสร็จไม่นาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ กล่าวกันว่า การมรณภาพของหลวงพ่อแดงนั้นพิเศษ ท่านได้มรณภาพในท่านั่งวิปัสสนาขัดสมาธิเพชร หลังพิงผนังกุฏิ สิริอายุ ๘๐ ปี พรรษา ๕๘ได้นำสรีระบำเพ็ญกุศล และปิดศพไว้ ๑ ปีเศษ ในขณะที่ปิดศพนั้น ได้สร้างสถูปเจดีย์ทรงศรีวิชัย เสร็จแล้วได้มีพิธีบรรจุสรีระสังขาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยมี พระครูสถิตสันตคุณ (พัว เกสโร) เจ้าคณะอำเภอท่าขนอน (คีรีรัฐนิคม) วัดจันทร์ประดิษฐาราม เป็นประธานสงฆ์
|
โดยการถอดความจากบทร้อยกรองประวัติหลวงพ่อแดง คุณสมฺปนฺโน ประพันธ์โดย พระเทพรัตนกวี ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวัตตจารีศีลสุนทร (เกตุ ธมฺมวโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๕ จาก หนังสือที่ระลึกงานเททองหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อแดง และพุทธาภิเษก ณ วัดวิหาร ต.น้ำรอบ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดย พระครูสุกิจธรรมโกศล เจ้าอาวาสวัดวิหาร เททองวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๙ / พุทธาภิเษกวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๙. |
โดยการสอดแทรกความรู้ส่วนตัวในเนื้อหา. |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง |
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข : เรียบเรียง |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook