|
VIEW : 3,543
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล ๑. นายหนู รตินัย
๒. พระมหาลอย จนฺทสโร (รตินัย) เจ้าอาวาสวัดแหลมจาก
๓. พระสมุห์ชุม คสฺสโร (รตินัย) เจ้าอาวาสวัดแหลมจากต่อจากพระมหาลอย จนฺทสโร ซึ่งเป็นพระพี่ชาย
คุณพ่อฮิ้ว บิดาของพระมหาลอยเป็นบุตรคนที่ ๒ ขอบคุณปู่บุญรอด รตินัย และคุณย่าน้อย ณ พัทลุง (ปู่และย่า ของพระมหาลอย) พี่ผู้หญิงของพ่อฮิ้ว ชื่อจัน ซึ่งเป็นย่าของขุนมนตรีบริรักษ์ ปู่บุญรอดของพระมหาลอยนั้น เป็นบุตรหลวงกำแพงเพชร เป็นหัวเมืองในกำแพงเพชรในสมัยนั้น เปรียบเป็นอำเภอในสมัยนี้
คุณย่าน้อยของพระมหาลอย เป็นธิดาของพระปลัดสงคราม (กล่อม) ปลัดจังหวัดพัทลุง ซึ่งพระปลัดสงคราม (กล่อม) คือ ทวดของพระมหาลอย เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระยาแก้วโครพพิชัย หรือ พระยาพัทลุงคางเหล็ก ผู้สำเร็จราชการจังหวัดพัทลุง และเป็นบรรพบุรุษต้นสกุล ณ พัทลุง
พระมหาลอยยังเป็นญาติใกล้ชิดพระครูปราการศีลประกฤต (จู้ลิ่ม ฐิตจิตฺโต) อดีตเจ้าคณะแขวงกำแพงเพชร (ปัจจุบันคือ อำเภอรัตภูมิ) วัดบางทีง ด้วย
เมื่อท่านพระมหาลอยในวัยเยาว์ ได้เข้าศึกษาอักขระสมัยความรู้ภาษาไทยกับขุนทิพรองโหร ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของพระมหาลอย ตลอดถึงความรู้ด้านโหราศาสตร์
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุย่างเข้า ๒๒ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ณ พัทธสีมาวัดบ่อหว้า ตำบลควนโส อำเภอรัตตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยมี พระครูรัตนโมลี (กิ้มเซ่ง) วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ทราบนามพระคู่สวด ได้รับฉายาทางธรรมว่า “จนฺทสโร” แปลว่า ผู้นำแสงสว่างมาสู่โลก
พระลอย ภิกษุหนุ่มได้ศึกษาพระธรรม จนจบนักธรรมชั้นเอก และจำพรรษา ณ วัดบ่อหว้า และจาริกหาความรู้จากสำนักต่างๆในจังหวัดสงขลาเป็นเวลา ๕ ปีเศษ ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้เดินทางเข้าเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาปริยัติธรรมต่อ ซึ่งเดินทางโดยเรือสำเภา ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ครั้นถึงกรุงเทพฯ ได้เข้าเป็นศิษย์สำนักเรียนบาลีวัดสุทัศน์เทพวราราม สมัยนั้นวัดสุทัศน์ฯ มี สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน ป.ธ.๘) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ แต่อยู่ในวัยชรามากแล้ว และพระลอยท่านได้เป็นศิษย์บาลีในหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย ผลพันธิน) จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ เป็นพระมหาเปรียญ ได้รับพระราชทานพัดเปรียญ และย่ามจารึก พระปรมาภิไธย จ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงแก่ตัวท่าน และเป็นปีที่ สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน ป.ธ.๘) มรณภาพ (๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๔) สิริอายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๙ และได้เป็นศิษย์ใน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสฺสเทโว) ด้วย ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพโมลี (๒๔๔๑) และ พระธรรมโกศาจารย์ (๒๔๔๓)
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เดินทางกลับสงขลาบ้านเกิด โดยตอนแรกท่านมาจำพรรษา ณ วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทำหน้าที่เป็นครูสอนปริยัติธรรม และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาชาวบ้านได้ร้องขอนิมนต์ท่านให้ไปอยู่ที่ปากรอบ้านเกิด ท่านก็รับนิมนต์ และได้ไปพัฒนาถากถางป่าต้นไม้จากบริเวณริมน้ำ แล้วจัดการสร้างเป็นเสนาสนะชั่วคราว ด้วยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มีความศรัทธาในตัวท่าน ไม่ช้าป่าที่รกร้างแห่งนั้นก็กลายสภาพเป็นที่เจริญขึ้นมา หลังจากที่เป็นวัดร้างอยู่หลายปี และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยท่านมหาลอยเป็นผู้ลงมือก่อสร้างด้วยตนเอง
ท่านเป็นพระที่มีศีลจารวัตรงดงามมากท่านเป็นพระที่เคร่งครัดก็จริง แต่วาจาอ่อนหวานไพเราะน่าฟังและน่ายำเกรงเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งต่อวัตรปฏิบัติ และมีปฏิปทาที่น่าเลี่ยมใส สำหรับความรู้ทางพระเวทย์หรือวิชาอาคมนั้น พระมหาลอย ได้ศึกษาจากคัมภีร์ที่ตกทอดของโยมบิดา ที่ตกทอดต่อกันมาจากโยมปู่โยมทวดของท่านซึ่งได้รับตกทอดมาจากพระยาพัทลุง (ขุน ณ พัทลุง) อดีตเจ้าเมืองพัทลุง ที่ชาวพัทลุงรู้จักกันดีนามว่าตามตำนานบอกว่า เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้ามาก รอบรู้ทางพระเวทย์อาคมขลัง เป็นศิษย์ศึกษาพุทธาคมจากสำนักวัดเขาอ้อ ซึ่งมีชื่อเสียงเกรียงไกรทางไสยศาสตร์มาก ท่านได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญ สามารถใช้รักษาคนได้ ทั้งด้านรักษาคุณไสย และการแพทย์แผนโบราณ
นอกจากนี้ท่านยังเชี่ยวชาญในงานด้านช่าง ท่านพัฒนาวัดแหลมจากให้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ประจักษ์โดยท่านลงมือทำงานด้านช่างเอง ผลงานที่ชัดเจนที่สุดคือ พระพุทธไสยาสน์ เด่นตระหง่านในวัด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ และยังเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของท่าน คือ วันอังคารด้วย เหล่าบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกลเลื่อมใสศรัทธา ท่านเคยได้รับนิมนต์ไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์บ่อยครั้งและหลายครั้งที่ท่านได้แสดงอภินิหารเป็นประสบการณ์ให้ได้พบเห็นในยามคับขัน แม้ท่านไม่โอ้อวดแต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเลื่อมใส่ศรัทธาเล่าขานกันอย่างไม่จบสิ้น
นักธรรมชั้นเอก |
พ.ศ. ๒๔๔๔ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค |
พระมหาลอย จนฺทสโร ป.ธ.๓ ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๑ จวบจนปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านมีอาการไออย่างหนัก และไข้กระเสาะกระแสะเรื่อยมา ศิษยานุศิษย์และชาวบ้านช่วยกันพยาบาลรักษาสังขารท่านกันอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้อย่างเต็มความสามารถ เป็นเวลา ๑ ปีเศษ จวบจนวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านก็ได้ละสังขารอย่างสงบ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของศิษยานุศิษย์ สิริอายุ ๖๗ ปี พรรษา ๔๖ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลไว้ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ทำการฌาปนกิจศพในหน้าแล้ง พ.ศ. ๒๔๘๓
|
หนังสือประวัติพระนอน พ.ศ.๒๔๘๐. |
หนังสือมงคลสูตร วิภาคบรรยาย ที่ระลึกงานฌาปณกิจศพ พระมหาลอย วัดแหลมจาก พ.ศ.๒๔๘๓ อนุเคราะห์ข้อมูลโดย คุณพรชัย นาคสีทอง. |
จากประวัติทั่วไปที่แพร่หลาย. |
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข : ค้นคว้า/เรียบเรียง/เผยแพร่ |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : ค้นคว้า/เรียบเรียง/เผยแพร่ |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook