|
VIEW : 2,186
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕ อายุ ๑๓ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดชายตัง(วัดชายนา) ได้ ๒ พรรษา (อายุ ๑๕ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๗) ได้ลาสิกขามาช่วยงานทางบ้าน สึกได้ ๒ ปี จากนั้น (อายุ ๑๗ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๙) ได้กราบมอบตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ย่อง อินฺทสุวณฺโณ วัดวังตะวันตก (พระครูกาชาด) เพื่อศึกษาธรรมวินัยบวชเรียนต่อ
เมื่อท่านมีอายุครบอุปสมบท อายุได้ ๒๑ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๓ พระอาจารย์ย่องได้พาท่านไปยังวัดท่าโพธิ์ฯ เพื่อที่จะไปหาพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดท่าโพธิ์ฯ (ขณะยังเป็นอารามในมหานิกาย) โดยมี พระครูการาม (จู ป.ธ.๔) วัดท่าโพธิ์ฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ (มรณะภาพ พ.ศ. ๒๔๒๗) อาจารย์ย่อง อินฺทสุวณฺโณ วัดวังตะวันตก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูกาชาด ทำหน้าที่ดูแลองค์พระธาตุฯ และปกครองคณะสงฆ์ด้านทิศตะวันตกของพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๓๗๘-๒๔๖๐) พระอาจารย์ม่วง วัดท่าโพธิ์ฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อครั้งท่านยังอยู่ในมหานิกาย ก่อนที่จะเปลี่ยนนิกายเป็นธรรมยุติ ต่อมาดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ มีราชทินนามว่า พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช ป.ธ.๔) เจ้าคณะมลฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๔๗๗)
ได้รับฉายาทางธรรมว่า “อินฺทสโร” แปลว่า ผู้มีเสียงดุจดังพระอินทร์
สำเร็จกิจเป็นพระภิกษุสงฆ์ พระพุ่ม ได้จำพรรษาอยู่กับพระครูการาม (จู) ซึ่งเป็นพระอาจารย์อุปัชฌาย์ที่วัดท่าโพธิ์ฯ อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นได้ลาพระอาจารย์กลับมาจำพรรษาที่วัดวังตะวันตก ในอันเตวาสิกของพระอาจารย์ย่องเช่นเดิม ได้ศึกษาพระธรรม เรียนสวดพระปาฏิโมกข์โดยสวดได้ใน ๑ พรรษา และศึกษาสรรพวิชาต่างๆจากพระอาจารย์ย่อง เมื่อบวชได้ ๓ พรรษา ท่านเกิดอาพาธหนัก แต่ไม่ละความเพียรในการศึกษาธรรม จนหายจากอาพาธ เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัย ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา สมถะเรียบร้อย รูปงามวางตัวเหมาะสมกับการเป็นเพศสมณะ จากนั้นต่อมาอีก ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ พระครูการาม (จู) วัดท่าโพธิ์ฯ ผู้เป็นพระอาจารย์อุปัชฌาย์ถึงแก่มรณภาพ พระพุ่มก็ได้ไปช่วยงานการทำศพจนเสร็จสิ้น
***พระครูการาม (จู) ปธ.๔ ก่อนที่ท่านจะไปครองวัดท่าโพธิ์ฯ ท่านครองวัดมเหยงค์มาก่อน
***วัดท่าโพธิ์ฯ ยกเป็นอารามในธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ นามว่า วัดท่าโพธิ์วรวิหาร
เรื่องวิชาอาคมพ่อท่านพุ่มก็มีติดตัวอยู่ไม่น้อย เนื่องจากท่านเป็นศิษย์ของพระครูกาชาด (ย่อง อินฺทสุวณฺโณ) วัดวังตะวันตก ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระนักพัฒนาเช่นกัน และมีวิชาอาคมอยู่ไม่น้อย ซึ่งได้ถ่ายทอดสู่พ่อท่านพุ่ม นอกจากพระอาจารย์ย่อง ท่านเป็นพระดีและพระขลังแล้วนั้น พ่อท่านพุ่มก็ได้ยึดแนวปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระอาจารย์ กล่าวคือ ดีทั้งนอกดีทั้งใน เป็นพระนักพัฒนา บวกกับการปฏิบัติธรรม มีจิตที่บริสุทธิ์ มีเมตตาธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่ในตัว บวกกับบารมีที่ท่านได้สร้างสมมา สมดังคำกล่าวที่ว่า "พระจะขลังเมื่อพระนั้นปฏิบัติดี มีความบริสุทธิ์ทั้งกายใจ" เมื่อดีใน+ดีนอก+บารมีที่สร้างสม = ความขลัง ตราตรึงในจิตวิญญาณเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้เคารพศรัทธา
ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ไม่ได้ขาด โดยไม่ลดละหรือขาดเลยแม้บางครั้งท่านจะอาพาธ โดยเฉพาะการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ทุกวันตลอดสมณะเพศของท่าน และการขึ้นธรรมมาสแสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ มิได้ขาด ยังความจดจำแก่ชาวบ้านจันพอยิ่งนัก เป็นที่ยกย่องกล่าวขานถึงคุณงามความดีและจริยาวัตรจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นที่ยึดเหนี่ยวเคารพนับถือในพระคุณของชนทั้งปวง ทั้งชาวบ้าน ชาวจีน แขก ต่างศาสนา ในวันที่ท่านมรณภาพ ชาวบ้านจันพอร้องไห้กันทุกบ้าน ไม่มีหลังไหนที่ไม่หลั่งน้ำตา ตั้งแต่เด็กเล็ก นักเรียน ตลอดถึงคนชรา เปรียบต้นโพธิ์ใหญ่ที่ไว้อิงบารมีล้มลง
ผลงานบางประการของพระนักพัฒนานามว่าพระพุ่ม พระผู้สร้างแต่คุณประโยชน์ พระผู้มีแต่ให้
พ.ศ. ๒๔๕๐ สร้างอุโบสถวัดจันพอ เป็นเงินหกพันกว่าบาทในสมัยนั้น
พ.ศ. ๒๔๕๗ สร้างสะพานน้ำขาว เป็นเงินหกร้อยกว่าบาทในสมัยนั้น ต่อมาซื้อที่นา ๑๐ กระบิ้ง เป็นเงินสองร้อยเก้าสิบบาทในสมัยนั้น เพื่อขุดคลองโดยระดมชาวบ้านช่วยขุดคลอง ชื่อว่า คลองหน้าขอน เพื่อให้เป็นที่สะดวกในการสัญจร และการชลประทาน โดยใช้เงินหกสิบบาทในสมัยนั้น เป็นค่าเลี้ยงดูผู้ช่วยขุดคลอง
พ.ศ. ๒๔๕๙ สร้างโรงเรียนวัดจันพอ และมีการมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนในโอกาสที่เหมาะสม
พ.ศ. ๒๔๗๓ สร้างกุฏิหลังใหญ่ กว้าง ๗ ศอก ยาว ๒๓ วา (๓.๕๐x๔๖เมตร) มุงด้วยกระเบื้องดินสงขลา เป็นกุฏิยาวแบ่งเป็นห้องๆให้พระสงฆ์ได้พักหรือจำวัด เป็นเงินสองพันกว่าบาทในสมัยนั้น
พ.ศ. ๒๔๗๕ สร้างกุฏิ ๒ หลัง เป็นเงินห้าร้อยกว่าบาทในสมัยนั้น เป็นต้น
พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๔๘๘ | เป็น เจ้าอาวาสวัดจันพอ |
พ.ศ. ๒๔๕๖ | เป็น พระอุปัชฌาย์ ประจำแขวง |
พ.ศ. ๒๔๕๖ | เป็น รักษาการเจ้าคณะแขวงท่าศาลา |
พ.ศ. ๒๔๕๗ | เป็น เจ้าคณะแขวงท่าศาลา |
พ.ศ. ๒๔๗๒ | เป็น เจ้าคณะแขวงท่าศาลา กิตติมศักดิ์ |
เหรียญรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นเหรียญที่ระลึกเป็นเหรียญรุ่นเดียวที่ทันท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก กล่าวกันว่า วัตถุประสงค์ในการสร้างนั้น สร้างเพื่อแจกเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารในการสงคราม มีการจัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้น ณ อุโบสถ วัดจันพอ โดยนิมนต์พระเกจิมาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก และ ๑ ในนั้น มี พ่อท่านเอียด อริยวํโส วัดศาลาไพ/วัดคงคาวง (ในเขียว) ศิษย์น้องร่วมพระอาจารย์เดียวกันกับท่าน ร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วย ส่วนรายนามพระเกจิท่านอื่นไม่แน่ใจ(ไม่กล้าฟันธง) คาดว่าน่าจะมี พระครูอินทคีรีสมานคุณ ขณะที่เป็นพระสมุห์เรือง บุญฺญโชโต วัดอินทคีรี(บ้านนา) ร่วมในพิธีด้วย เพราะเป็นพระเกจิที่เป็นเจ้าอาวาสวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์ของท่าน เป็นต้น ซึ่งเป็นพระเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นที่หวงแหนของชาวบ้านท่าศาลาและผู้ครอบครองโดยทั่วไป กล่าวกันว่า ทหารนิยมพกเหรียญของท่านมาก เพราะประจักษ์ในพุทธคุณ คุ้มครอง แคล้วคลาด มหาอุด คงกระพัน ฯ
เครื่องรางของขลังอื่นๆ คาดว่ามี เช่น ตะกรุด ลูกอม ผ้ายันต์ ผ้าจีวร เป็นต้น แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านมายาวนาน ผ่านการสืบทอด บางอย่างได้เลือนหายไปเพราะลูกหลานไม่สนใจ อีกทั้งไม่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน และไม่มีเครื่องระบุว่าเป็นของที่ท่านสร้าง ต้องอาศัยที่มา เหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทันสมัยท่านที่พอจะบอกเล่าได้ก็มาล้มหายตายจากไปตามหลักของอนิจจัง ความไม่เที่ยง
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระเกจิที่รับนิมนต์อธิษฐานจิตปลุกเสกเหรียญพระเครื่องอื่นๆอีก เช่น
พระครูวิสุทธิจารี (พุ่ม อินฺทสโร) อาพาธด้วยโรคชรา มรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ตรงกับ วันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา เวลา ๑๖.๐๐ น. สิริอายุ ๘๖ ปี พรรษา ๖๖
เมื่อพ่อท่านพุ่มมรณภาพ มีการเก็บศพไว้ ๔ ปีเศษ ไม่สามารถจัดงานฌาปนกิจได้ในทันที เนื่องจากเป็นฤดูฝน และบ้านเมืองเป็นเป็นภาวะหลังสงครามโลก ข้าวของแพง ล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๒ ในเดือนเมษายน มีกำหนดงานฌาปนกิจศพพ่อท่านพุ่ม กำหนดงานวันที่ ๑๒-๑๘ เมษายน มีการปลูกโรงเมรุใหญ่ขึ้นที่ลานวัด มีพ่อท่านเอียด อริยวํโส วัดคงคาวง (ในเขียว) หรือพ่อท่านเอียดดำ ศิษย์ผู้น้องของท่าน เป็นหัวเรือใหญ่ในการช่วยเหลืองานโดยกำลังแรงและกำลังทรัพย์ มีพ่อท่านกล่ำ พ่อท่านเรือง พ่อท่านน้อม พ่อท่านแปลก และชาวบ้านรวมทั้งศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศมาร่วมงาน มีการปลูกโรงครัว มีมหรสพ หนังตะลุง โนรา จุดพลุดอกไม้ไฟอย่างครบครัน นับว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งในอดีตของอำเภอท่าศาลา จวบจนถึง วันจันทร์ ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ในเวลากลางคืนก็ทำการฌาปนกิจ พอรุ่งเช้า วันที่ ๑๙ เมษายน ก็มีการเก็บอัฐิ ทำบุญ ถวายภัตตาหารพระเช้าและเพล เพื่ออุทิศบุญกุศลให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์
***เกี่ยวกับวันมรณภาพของพ่อท่านพุ่ม วัดจันพอ โดยเทียบตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี
- ถ้ายึดตาม ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา จะตรงกับ วันศุกร์ ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งไม่ใช่วันพุธ ที่ ๘ สิงหาคม ตามรายละเอียดในหนังสือ
- แต่ถ้ายึดตาม วันที่ ๘ สิงหาคมเป็นหลัก ก็จะตรงกับ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา ซึ่งไม่ตรงกับ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ตามรายละเอียดในหนังสือบันทึกประวัติ ทั้งนี้กระผมได้ยึดตามปฏิทินย้อนหลัง ๒๐๐ ปีโดยการเทียบข้อมูลเพื่อตรวจสอบ
พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็น
พระปลัด
ฐานานุกรมใน พระศิริธรรมมุนี (สมณศักดิ์ของท่านเจ้าคุณม่วง รตนทฺธโช ในขณะนั้น) เจ้าคณะใหญ่เมืองนครศรีธรรมราช วัดท่าโพธิ์ฯ (สมัยนั้นยังปกครองสงฆ์แบบรวมนิกาย)
|
๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระครูวิสุทธิจารี
เจ้าคณะแขวงท่าศาลา
|
สำเนาหนังสือบันทึกประวัติ (เนื้อหาเป็นร้อยกรอง) เนื่องในงานฌาปนกิจศพ พระครูวิสุทธิจารี (พุ่ม) อดีตเจ้าคณะแขวงท่าศาลา วัดจันพอ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๒. |
จากประวัติท่านที่ทราบกันโดยทั่วไป. |
จากประวัติพระคณาจารย์ต่างๆ. |
หนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ ฉบับต่างๆ. |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : ค้นคว้า/เรียบเรียง/เผยแพร่ |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook