|
VIEW : 647
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลมีพี่-น้อง ร่วมบิดามารดา ๗ คน ดังนี้
๑. นายเพิ่ม นุชภู่
๒. นายชุ่ม นุชภู่
๓. นายผอม นุชภู่
๔. นายช้อย นุชภู่ (พระครูสถิตพรหมธรรม)
๕. นายตุด นุชภู่
๖. นางพร้อม จันทเวช
๗. นายแช่ม นุชภู่
เมื่อปฐมวัยได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประชาบาล ตำบลท่าเคย (โรงเรียนวัดอินทาราม) มีคุณครูเพื่อน เพชรบำรุง เป็นครูผู้สอนอักขระสมัยจนอ่านออกเขียนได้
บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก (อายุ ๑๗ ปี) ณ วัดอินทาราม (วัดท่าเคย) โดยมี พระสมุห์ แบน มณีรตโน เป็นพระอาจารย์ในการบรรพชา (ต่อมาพระสมุห์ แบน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรมีราชทินนามว่า พระครูรัตนวิมล)
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด เวลา ๑๔.๒๕ น. (อายุ ๒๑ ปี) ณ พัทธสีมาวัดอินทาราม (วัดท่าเคย) โดยมี พระปลัด แบน มณีรตโน (พระครูรัตนวิมล) เจ้าคณะตำบลท่าเคย วัดอินทาราม (วัดท่าเคย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเผือก สีลสํวโร รองเจ้าอาวาสวัดอินทาราม (วัดท่าเคย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระกล่อม วิสารโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ฐิตมโน” แปลว่า ผู้มีใจที่ตั้งอยู่แล้ว
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระช้อย ฐิตมโน ได้จำพรรษา ณ วัดอินทาราม เป็นเวลา ๓ พรรษา และศึกษาทางธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอก ต่อมา พรรษาที่ ๔ พระครูรัตนวิมล ซึ่งเป็นเจ้าคณะหมวดท่าเคย (เจ้าคณะตำบลท่าเคย) ได้ส่งท่านให้มาจำพรรษา ณ วัดพระพรหม ซึ่งในสมัยนั้นมี พระแช่ม ติสฺโส ซึ่งอาพาธ จำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว ท่านก็เริ่มพัฒนาวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็นต้นมา ต่อมาพระแช่ม ติสฺโส ได้มรณภาพ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพรหม และพัฒนาวัดสืบต่อมา ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส ได้มีกุลบุตรของชาวบ้านมาอุปสมบทและจำพรรษามากขึ้น เป็นกำลังแก่ศาสนา ซึ่งท่านเป็นพระนักพัฒนาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ได้ร่วมมือร่วมแรงกับพระภิกษุและชาวบ้านในการพัฒนาก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ เรียกได้ว่า ทั้งชีวิตท่านมีแต่การก่อสร้าง โดยเฉพาะอุโบสถ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๓๔๘ เวลา ๐๙.๔๕ น. โดยมี พระเทพสิทธินายก (ข้อง เกสโร) ขณะดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระอุดมธรรมปรีชา เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดไตรธรรมารามฯ เป็นประธานในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๓๒ อีกทั้งเสนาสนะอื่นๆ เช่น กุฏิ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น
พ่อท่านช้อย เป็นพระสงฆ์ที่สมถะ มีเมตตาสูง เคร่งครัดในการดำรงตนตามพระธรรมวินัย มีศิษยานุศิษย์ผู้เคารพนับถืออย่างกว้างขวาง เนื่องด้วยท่านดำรงตนในเมตตาธรรม เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ส่วนรวมเป็นกิจที่หนึ่ง ชีวิตท่านมีแต่สร้าง และให้ สมญานามพระนักพัฒนาแห่งอำเภอท่าฉาง
พ.ศ. ๒๔๘๗ | เป็น เจ้าอาวาสวัดพระพรหม |
พ.ศ. ๒๕๐๙ | เป็น เจ้าคณะตำบลท่าเคย |
พ.ศ. ๒๕๒๘ | เป็น พระอุปัชฌาย์ |
พ.ศ. ๒๔๙๔ | เป็น ครูสอนปริยัติธรรม |
พ.ศ. ๒๔๙๔ | เป็น คณะกรรมหารตรวจประโยคธรรมสนามหลวง |
พระครูสถิตพรหมธรรม (ช้อย ฐิตมโน) ได้อาพาธด้วยโรคชรา และมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เวลา ๒๒.๓๕ น. ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด สิริอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑
ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลระยะหนึ่ง และได้ประกอบพิธีปิดศพไว้ ๑ ปีเศษ ต่อมาได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๘-๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ณ เมรุพิเศษวัดพระพรหม อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็น
พระใบฎีกา
ฐานานุกรมใน พระครูรัตนวิมล เจ้าคณะตำบลท่าเคย
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี
ที่ พระครูสถิตพรหมธรรม
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท
ในราชทินนามเดิม
|
หนังสือที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลิงศพพระครูสถิตพรหมธรรม ๘-๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๑ ณ เมรุพิเศษวัดพระพรหม อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี. |
เอกสารสำรวจพระคณาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดไตรธรรมารามฯ บันทึกโดย พระวัตตจารีศีลสุนทร ศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ พระเทพรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี บันทึกเมื่อ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔. |
ข้อมูลและภาพถ่าย พระธีระพล อิสิญาโณ รักษาการ เจ้าอาวาส วัดพระพรหม. |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง/เผยแพร่ |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook