|
VIEW : 1,091
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลอุปสมบท เมื่ออายุ ๒๑ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ตรงกับปีเถาะ สันนิษฐานว่า ท่านอุปสมบท ณ พัทธสีมาอารามวัดใดวัดหนึ่งในเมืองไชยา โดยมี พระครูลังกาแก้ว (พิน) เจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา วัดตระพังจิก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ชู วัดสมุหนิมิต (ต่อมาได้เป็นพระครูลังกาแก้ว เจ้าคณะใหญ่เมืองไชยาสืบต่อมา) เป็นพระคู่สวด
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้จำพรรษาศึกษาพระธรรม ณ สำนักวัดในเมืองไชยา จากข้อมูลที่ศึกษาได้นั้น สันนิษฐานว่า ท่านเป็นสหธรรมิกรุ่นน้องพ่อท่านรอด วัดโฆษิตวิหาร จังหวัดภูเก็ต และเป็นสหธรรมิกรุ่นพี่ พ่อท่านแดง ธมฺมสโร วัดแร่ จังหวัดพังงา ซึ่งท่านทั้งสองก็บวชเรียนที่เมืองไชยา ก่อนธุดงค์ไปพังงาและภูเก็ต และต่อมาหลวงปู่มีได้เดินทางธุดงค์ไปยังเมืองหลังสวน (จังหวัดชุมพรในปัจจุบัน) ได้จำพรรษาหลายอารามด้วยกัน เช่น วัดดอนชัย วัดประสาทนิกร อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เป็นต้น
ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๕ ท่านได้เดินทางกลับมายังบ้านดอน และจำพรรษา ณ วัดบางกล้วย สมัยนั้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองกาญจนดิษฐ์ มณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมืองกาญจนดิษฐ์ และเปลี่ยนมาเป็น แขวงกาญจนดิษฐ์ ขึ้นต่อเมืองไชยาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๙ ก่อนมรณภาพไม่นาน ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดรูปแรก เนื่องจากท่านมีความอาวุโส และให้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงธรรมการ ให้เปลี่ยนชื่อเจ้าคณะเมือง เป็น เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะเมือง เป็น รองเจ้าคณะจังหวัด นามของท่านปรากฏในประวัติของพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงต่างๆมากมายเท่าที่สืบได้ ดังนี้
- ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อคราว พ่อท่านขำ วฑฺฒโน วัดประสาทนิกร อุปสมบท ณ วัดในเมืองไชยา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๕
- ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของพ่อท่านพระสมุห์ทองพิมพ์ ภทฺทมุนี วัดหัวสวน ที่อุปสมบท ณ วัดเขาศรีวิชัย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๑
- ท่านเป็นพระอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานของ พระครูวินัยธรซ่อง สุวณฺโณ วัดโฆษิตวิหาร (วัดโต๊ะแซะ) จังหวัดภูเก็ต เมื่อคราวที่ท่านออกธุดงค์มาศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดบางกล้วย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐
- และสันนิษฐานได้ว่าท่านเป็นพระอาจารย์ ของพระครูกาแก้ว (ศรี) วัดหน้าพระบรมธาตุ เมื่อคราวนายศรี ได้เดินทางมาซื้อวัวควายแถวบ้านดอน อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี (สมัยนั้นเป็นแขวงขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช) เป็นประจำ ได้เกิดความเลื่อมใสต่อเจ้าอาวาสวัดบางกล้วย จึงศรัทธาขอบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๖ และได้จำพรรษาที่วัดบางกล้วย ๓ พรรษา พระศรี มีความซาบซึ้งในรสพระธรรมก็มิได้คิดจะลาสิกขาอีก จนมีความรอบรู้ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยพอสมควร และได้ศึกษาวิชาบางประการ กล่าวกันว่าเป็นวิชาการทำสายมงคลคาดเอว (สายเอว) ในวันเพ็ญ ที่ได้สืบทอดถึงพระครูสุนทรดิตถคณี (นาค โชติพโล) วัดดินดอน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพระครูสุนทรฯ (นาค) นั้น เป็นบุตรชายของพระครูกาแก้ว (ศรี) และต่อมาได้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าราหู (วัดหน้าพระบรมธาตุ) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ตามรายงานการศึกษามณฑลชุมพร พ.ศ. ๒๔๔๙ ตามระบุในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ในส่วนของเมืองไชยา ได้ระบุว่า พระครูธรรมปรีชาอุดม (มี) ได้สร้างโรงเรียนวัดไตรมรรคานอกบำรุง อาศัยกุฏิเป็นสถานที่เล่าเรียน มีพระผันเป็นครูใหญ่ มีนีกเรียน ๒๙ คน โดยท่านเป็นผู้บำรุงการศึกษา นับได้ว่าหลวงปู่มีนั้นเป็นพระเถราจารย์เฒ่ารูปสำคัญรูปหนึ่งในอดีตของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พระผู้เฒ่าที่ทรงความรู้ ทรงพระธรรมวินัย เป็นสุปฏิปันโนพระอริยสงฆ์ที่ควรแก่การกราบไหว้บูชา เป็นปูชนียบุคคลแห่งความดี อีกทั้งเป็นพระนักพัฒนา ทั้งคนและสาธารณประโยชน์ หลวงปู่มีท่านเป็นพระสงฆ์ที่สมถะ รักความสงบ เห็นได้จากท่านมีตำแหน่งทางด้านการปกครองคณะสงฆ์ แต่ทว่าวัดที่ท่านจำพรรษานั้น อยู่ในที่ลำบาก สมัยก่อนในบาง หรือบางไทร เป็นที่ที่ไม่มีถนนสัญจร เป็นป่าที่น้ำท่วมถึง จะสัญจรไปได้ก็แต่ทางเรือ ท่านมุ่งเน้นการพัฒนาในที่ลำบาก เป็นรากฐานให้รุ่นหลังได้ดำเนินการต่อจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๗ ด้วยความชราและอาพาธ ท่านได้ออกจากอารามวัดบางกล้วย ไปจำพรรษา ณ วัดดอนไผ่ หรือปัจจุบันคือ วัดโชติการาม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้อุปถัมภ์อยู่ โดยมีพระลูกศิษย์อุปัฏฐากดูแลอย่างใกล้ชิด และได้มรณภาพ ณ วัดดอนไผ่ (วัดแหลมไผ่ ตามข้อมูลที่ระบุในหนังสือราชกิจจานุเบกษา) ต่อมาวัดบางกล้วยได้ขาดเจ้าอาวาสและขาดการพัฒนา และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ มีพระครูโยคาธิการวินิต (ทอง ฐิติกโร) เจ้าคณะแขวงบ้านดอน วัดธรรมบูชา ได้เป็นประธานอุปถัมภ์บูรณะวัดบางกล้วย และได้รับการยกเป็นอารามคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจนบัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๒๕ | เป็น เจ้าอาวาสวัดบางกล้วย |
พ.ศ. ๒๔๔๒ | เป็น เจ้าคณะเมืองกาญจนดิษฐ์ |
พ.ศ. ๒๔๕๙ | เป็น รองเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ รูปแรก |
พระครูธรรมปรีชาอุดม (มี) ได้อาพาธเป็นไข้ และด้วยความชรา ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดแหลมไผ่ ปัจจุบันคือวัดโชติการาม (วัดดอนไผ่) เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะโรง สิริอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑
ต่อมา วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานส่งหีบเพลิงไปพระราชทานเพลิงศพ พระครูธรรมปรีชาอุดม (มี) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ วัดแหลมไผ่ (ปัจจุบันคือวัดโชติการาม หรือ วัดดอนไผ่) พระราชทานเงิน ๑๐๐๐ สตางค์ ผ้าขาว ๒ พับ
พ.ศ. ๒๔๑๕ เป็น
พระสมุห์
(ก่อน พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระสมุห์ สันนิษฐานว่าเป็นฐานานุกรมใน พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว (เนียม) วัดสมุหนิมิต เจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา)
|
๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระครูธรรมปรีชาอุดม
เจ้าคณะเมืองกาญจนดิฐ
|
***ภายหลังประกาศกระทรวงมหาดไทย ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ให้รวมพื้นที่เมืองกาญจนดิษฐ์กับเมืองไชยาเข้าด้วยกัน โดยเรียกว่า เมืองไชยา พื้นที่เมืองกาญจนดิษฐ์เดิมจึงขึ้นกับเมืองไชยามณฑลชุมพร ทั้งหมด เมืองกาญจนดิษฐ์เดิม จึงกลายเป็น แขวงที่ขึ้นกับเมืองไชยา และต่อมาได้มีการตั้งอำเภอและจังหวัด จึงเป็นพื้นที่ อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก และ อำเภอเกาะสมุย ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
- วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามเมืองไชยาเป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมา วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้มีประกาศกระทรวงธรรมการ ให้เปลี่ยนคำว่า เมือง เป็น จังหวัด และทางคณะสงฆ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเจ้าคณะเมือง เป็น เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งทางการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยนั้น มี พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ (หนู ติสฺโส) วัดสมุหนิมิต ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองไชยาอยู่เดิม กลายเป็นตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปแรก และ พระครูธรรมปรีชาอุดม (มี) เจ้าคณะแขวงกาญจนดิษฐ์ ซึ่งมีความอาวุโสมาก เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานีรูปแรก
ข้อมูลเรื่องเล่า จาก พระครูโสภณจิตตสุนทร (โสภณ ปิยจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบางกล้วย. |
หนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๕๙. |
ข้อมูลบางประการจากประวัติพระคณาจารย์ต่างๆ. |
ข้อมูลประวัติอำเภอกาญจนดิษฐ์. |
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข : ค้นคว้า/เรียบเรีย/เผยแพร่ |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : ค้นคว้า/เรียบเรีย/เผยแพร่ |
จรูญ รอนนงค์ : ค้นคว้า/เรียบเรีย/เผยแพร่ |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook