พระครูมนูญธรรมธาดา (ชุม โฆสธมฺโม) | พระสังฆาธิการ

พระครูมนูญธรรมธาดา (ชุม โฆสธมฺโม)


 
เกิด ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕
อายุ ๘๑ ปี
อุปสมบท ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
พรรษา ๖๑
มรณภาพ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖
วัด วัดถ้ำสิงขร
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก


VIEW : 1,331

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูมนูญธรรมธาดา มีนามเดิมว่า ชุม จันทร์คีรี เกิดเมื่อ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด กำเนิด ณ บ้านถ้ำสิงขร หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาชื่อนายพรม มารดาชื่อนางบาง นามสกุล จันทร์คีรี เมื่อวัยเด็กได้เข้าศึกษาตามสมัยในโรงเรียนประชาบาลวัดถ้ำสิงขร จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙


บรรพชา

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ณ วัดถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี พระครูพิศาลคณะกิจ (เผือก) เป็นพระอาจารย์บรรพชาสามเณร

     อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก ณ พัทธสีมาวัดถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี พระธรรมปรีชาอุดม (พุ่ม โชติปาโล) ป.ธ.๓ เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดตรณาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลคณะกิจ (เผือก) วัดถ้ำสิงขร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “โฆสธมฺโม” แปลว่า พระผู้ประกาศธรรม


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๘ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดหาดน้อย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. ๒๔๖๙ สำเร็จการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนประชาบาลวัดถ้ำสิงขร
พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ ศึกษาพระพุทธมนต์ และพระปาฏิโมกข์ ณ วัดถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบได้ นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดสุนทรนิวาส อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก สำเรียนวัดใหม่พุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๘๒  เป็น รักษาการเจ้าอาวาสวัดถ้ำสิงขร
พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น เจ้าอาวาสวัดถ้ำสิงขร
พ.ศ. ๒๕๓๒  เป็น เจ้าคณะอำเภอคีรีรัฐนิคม

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็น ผู้อุปการะโรงเรียนประชาบาลวัดถ้ำสิงขร และเป็นครูนักธรรม สอนนักธรรมชั้น ตรี โท เอก ณ สำนักเรียนวัดดิตถาราม (วัดเกาะยวน) และสำนักเรียนวัดถ้ำสิงขร
พ.ศ. ๒๔๙๑  เป็น เจ้าสำนักธรรมวัดถ้ำสิงขร

งานเผยแผ่

พ.ศ. ๒๔๘๗  เป็น เผยแพร่อำเภอท่าขนอน

พ่อท่านชุมของชาวคีรีรัฐฯ

     พ่อท่านชุมเป็นพระสงฆ์ที่ สมถะ บุคลิกท่านจะเงียบ นิ่ง พูดน้อย คนทั่วไปจะมองท่านว่า ท่านเป็นพระที่ดุ แต่ด้วยความที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ ท่านดำรงในบุคลิกแบบนั้นก็ถือว่างามเหมาะสมรูปสมณะในการเป็นครูบาอาจารย์สอนคน อีกทั้งเป็นผู้ปกครองสงฆ์ในฐานะเจ้าคณะอำเภอ ท่านมีตบะที่สูง เป็นที่เกรงขามและเคารพบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์
     อีกประการเป็นความเชื่อคู่คนไทยมานาน คือเรื่องราวเกี่ยวกับความขลัง พ่อท่านชุม เป็นพระเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐาน ท่านมีวิชาการสักกระหม่อม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ท่านจะสักให้ทุกคน ผู้ที่ท่านสักให้ส่วนมากเป็นศิษย์ใกล้ชิด และพวกโจรกลับใจที่ให้สัญญาว่าจะเลิกทำความชั่ว ท่านถึงจะสักให้ มีอยู่เหตุการณ์หนึ่ง มีเสือ (ผู้เป็นโจรเก่า) ได้ปฏิญาณตนเลิกเป็นโจร แล้วมาให้พ่อท่านชุมท่านสักกระหม่อมให้ ท่านก็สักให้ แต่แล้วคนซึ่งเป็นโจรมาแต่เดิม ย่อมมีศัตรูมาก่อน เมื่อเจอกันดังนั้น จึงมีการใช้มีดแทงกันเกิดขึ้น ปรากฏว่าเสือเก่ารายนั้นโดนอีฝ่ายใช้มีดแทง แต่ทว่าแทงไม่เข้า ที่ตัวของเสือรายนั้นมิได้มีแผลเลย มีแต่เพียงรอยช้ำ ซึ่งเชื่อว่าด้วยอำนาจพุทธคุณที่พ่อท่านชุมลงกระหม่อมให้ช่วยเขาไว้ และมีอีกหลายๆเหตุการณ์ทำนองนี้ 
     นอกจากเรื่องความขลังแล้ว พ่อท่านชุมยังเป็นพระสงฆ์นักพัฒนา และเป็นพระที่มีความรู้ เห็นได้จากการที่ท่านไปศึกษาในสำนักต่างๆ ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสที่กล่าวไว้ในข้างต้น ท่านมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ท่านเล็งเห็นถึงระบบการศึกษาทางธรรมที่จะธำรงพุทธศาสนาไว้สืบทอดต่อไป สมญานามนักธรรมผู้เข้มขลังแห่งขุนเขาคีรี

มรณกาล


     พระครูมนูญธรรมธาดา (ชุม โฆสธมฺโม) ได้มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา (ปีนี้เดือนแปดสองหน) สิริอายุ ๘๑ ปี พรรษา ๖๑

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระใบฎีกา ฐานานุกรมใน พระครูสถิตสันตคุณ (พัว เกสโร) เจ้าคณะอำเภอท่าขนอน
๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น พระปลัด ฐานานุกรมใน พระครูสถิตสันตคุณ (พัว เกสโร) เจ้าคณะอำเภอท่าขนอน
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูมนูญธรรมธาดา

***เพิ่มเติม

     ในสมัยที่อำเภอคีรีรัฐนิคม ยังใช้ชื่อว่า อำเภอท่าขนอน นั้นมีเขตพื้นที่กว้างขวางมาก รวม ๓ อำเภอได้แก่ พื้นที่อำเภอคีรีรัฐนิคม พื้นที่อำเภอบ้านตาขุน และ พื้นที่อำเภอพนม ชื่อเดิมของอำเภอท่าขนอนคือ “แขวงคีรีรัฐนิคม” ซึ่งได้มาเปลี่ยนชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็น “อำเภอท่าขนอน” เพื่อให้ตรงกับตำบลที่ตั้งของอำเภอซึ่งเป็นด่านเก็บภาษี จากสินค้าซึ่งลำเลียงเข้ามาทางเรือผ่านลำน้ำพุมพวง จาก จังหวัดพังงา ตะกั่วป่า และภูเก็ต จนถึง พ.ศ.๒ ๕๐๔ รัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่า ชื่ออำเภอที่ใช้อยู่นี้ไม่ถูกต้องตามสภาพพื้นที่ เพื่อให้ถูกต้องตามความเหมาะสมกับสภาพท้องที่และภูมิศาสตร์และเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติแห่งท้องที่จึงประกาศใช้ชื่ออำเภอว่า “อำเภอคีรีรัฐนิคม” ในสมัยรัชกาลที่ ๙
สรุปได้ว่า 
     - ก่อน พ.ศ. ๒๔๕๘ เรียกว่าแขวงคีรีรัฐนิคม
     - พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๕๐๔ เรียกว่าอำเภอท่าขนอน
     - พ.ศ. ๒๕๐๔-ปัจจุบัน เรียกว่าอำเภอคีรีรัฐนิคม


ที่มา


เอกสารประวัติพระสังฆาธิการในอำเภอท่าขนอน (คีรีรัฐนิคม).
พระครูปราการถิรคุณ (วิเชียร ฐานสุทฺโธ) เจ้าคณะตำบลบ้านยาง เจ้าอาวาสวัดปราการ รูปปัจจุบัน.

ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook