|
VIEW : 1,225
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๒ คน คือ
๑.นางทรัพย์ จิตรัตน์
๒.นายเชื่อม จิตรัตน์ (พระอธิการเชื่อม ธมฺมโชโต)
อุปสมบท ครั้งที่ ๑ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๔๔๖ ได้ศึกษาพระธรรมอยู่พอสมควร อยู่ในเพศบรรพชิตได้ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตฆราวาส ต่อมาท่านเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส จึงได้เข้าอุปสมบทเป็นครั้งที่ ๒
อุปสมบท ครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๒๘ ปี วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ ปีกุน เวลา ๑๗.๐๖ น. ณ พัทธสีมาวัดถ้ำสิงขร โดยมี พระครูประกาศธรรมคุณ เจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูเกว ติสฺโส วัดถ้ำสิงขร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสถิตสันตคุณ ขณะยังเป็น พระพัว เกสโร วัดจันทร์ประดิษฐาราม (บางเดือน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ธมฺมโชโต” แปลว่า แสงสว่างแห่งธรรม
หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุในครั้งที่ ๒ นี้ ท่านตั้งใจด้วยศรัทธาที่แท้จริงว่าจะดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิต ด้วยความมุ่งมั่น ท่านได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดปราการ ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกวัดละมุ เป็นวัดเก่าแก่ มีสภาพทรุดโทรม ต่อมาได้มีการบูรณะ ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดพระธรรมวินัยอย่างมาก มีความเชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐาน และรอบรู้สรรพวิชาต่างๆเกี่ยวกับด้านความขลัง คาถาอาคม ซึ่งท่านได้ไปศึกษาจากพระอาจารย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านศึกษาจากพระอธิการคล้าย วิชิโต วัดอินทราวาส (หลวงพ่อคล้าย วัดย่านปราง) ปัจจุบันมีชื่อวัดว่า วัดพระมหาธาตุคีรีอินทรวิหาร
เป็นที่เล่าขานกันในหมู่ผู้เคารพศรัทธา และ ศิษยานุศิษย์จนถึงปัจจุบัน สืบต่อกันมาว่าหลวงพ่อเชื่อมท่านถือครองผ้าไตร ๓ ผืน คือ จีวร สบง และสังฆาฏิ ตลอดชีวิตสมณเพศของท่าน ตอนท่านสรงน้ำในตอนเย็นของทุกวัน ท่านจะครองผ้าครบทั้ง ๓ ผืน ลงไปสรงน้ำในคลองยันที่ไหลผ่านวัด โดยการนอนหันศีรษะไปทางเหนือน้ำ ให้น้ำไหลผ่านร่างกายท่าน ชั่วครู่ก็สรงน้ำเสร็จท่านจะกลับขึ้นมาบนกุฏิ โดยจะนั่งทั้งผ้าที่ครองเปียกอยู่แบบนั้น ไม่เปลี่ยนผ้าครอง จะต้องมีศิษย์เอาผ้ามาผลัดเปลี่ยนให้ท่านถึงจะผลัดเปลี่ยนผ้าครอง
หลวงพ่อเชื่อมท่านเป็นพระผู้มีวิชาอาคมขลัง ซึ่งจะกล่าวถึงอภินิหารที่เล่าสืบต่อกันมาดังนี้
- คราวหนึ่ง ได้นั่งสนทนาธรรมกับพ่อท่านปาน วัดนาไผ่ ปัจจุบันเรียก ดอนวัด (พระสมุห์ปาน วัดวนาราม หรือวัดกาซีเหนือ) ซึ่งเป็นสหธรรมิกรุ่นพี่ของท่าน ซึ่งพ่อท่านปานเก่งด้านวิชาอาคมเช่นกัน วันหนึ่งพ่อท่านปานท่านได้นำตะปู ขนาด ๕ นิ้ว กดด้วยนิ้วมือจนตะปูมิดในเสาไม้เคี่ยม ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งมาก แล้วหันมาถามหลวงพ่อเชื่อมว่า “น้องเจ้าเอาออกได้ไหม” ทันใดนั้นหลวงพ่อเชื่อมได้เอาผ้าอาบน้ำฝนปัดลงบนตะปูนั้น ถอนหลุดออกจากเสาไม้เคี่ยมกระเด็นไปหลายเมตร
- อีกประการท่านชำนาญเรื่องวิชาการต่อกระดูก และท่านได้ฝึกหัดให้ศิษย์หลายคน ขณะฝึกหัดท่านได้เอากระดูกวัว กระดูกควาย มาตีให้แตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วให้ลูกศิษย์ต่อกระดูกนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๗ วันกระดูกต่อเข้าอย่างอัศจรรย์ ไม่มีแม้แต่รอยร้าว
- มีอยู่คราวหนึ่ง หน้าแล้งใบไม้เหี่ยว ซึ่งเหี่ยวอยู่บนต้นไม้ไม่ร่วงลงมา อยู่ๆเกิดไฟไหม้ขึ้นมาบนต้นไม้ต้นนั้นแบบไม่ทราบสาเหตุของการติดไฟ หลวงพ่อเชื่อมท่านได้เอาน้ำเพียงคันเดียวไปรดดับไฟใต้โคนต้นไม้ทำให้ไฟที่ไหม้อยู่ด้านบนนั้นดับไปโดยปริยาย
- อีกเรื่อง ในพรรษาหนึ่ง ณ วัดปราการ ได้มีพระสงฆ์ทุศีลกระทำในสิ่งที่ผิดต่อพระธรรมวินัยบนกุฏิ พระรูปนั้นได้เห็นหลวงพ่อเชื่อมเดินอยู่ริมรั้ววัด ซึ่งมีระยะห่างจากที่ตนอยู่พอสมควร ก็ได้กระทำในสิ่งที่ผิดธรรมวินัยต่อ เพราะคิดว่าหลวงพ่อเชื่อมคงไม่เห็น แต่เมื่อภิกษุรูปนั้นหันกลับจากการมองหลวงพ่อเชื่อมที่เดินอยู่ริมรั้ววัดเพียงชั่วพริบตา กลับกลายเป็นร่างหลวงพ่อเชื่อมปรากฏอยู่เบื้องหน้าตน ขณะที่ได้กระทำผิดพระวินัยอยู่ ภิกษุรูปนั้นถึงกับตกใจเป็นอย่างมาก และได้กราบขอขมาลาโทษแก่หลวงพ่อเชื่อม ท่านก็ได้ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนเทศนาภิกษุรูปนั้นกัณฑ์ใหญ่แบบสองต่อสอง ท่านก็เมตตามิได้ลงโทษอะไร พอออกพรรษาภิกษุรูปนั้นก็ได้ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส ได้เล่าถึงอภินิหารหลวงพ่อเชื่อมหายตัวได้ให้ญาติๆฟัง จากนั้นก็แพร่หลายด้วยปากต่อปาก
- พ่อท่านเชื่อม ท่านสำเร็จวิชา นะปัดตลอด ท่านได้แสดงวิชานี้ให้ศิษย์ให้เห็น กล่าวคือ มีหวายอยู่ท่อนหนึ่งลำยาว (หวายเป็นพืชตระกูลปาล์ม) ท่านได้นำดินสอดำจารตัว “ส” ตรงตัวตัดที่หัวไม้หวายนั้น แล้วท่านใช้ให้ลูกศิษย์ตัดหวายนั้นออกเป็นท่อนๆ ปรากฏว่าตัดกี่ท่อนๆ ก็มีตัวอักษร “ส” ปรากฏในตัวตัดทุกท่อนที่ได้ทำการตัด ซื่งเป็นลายมือเดียวกับที่ท่านจารตัวแรกที่หัวหัวไม้หวาย แสดงว่าเมื่อท่านจารแล้ว ตัว “ส” นั้น ก็จะทะลุยาวในเนื้อไม้ตลอดลำไม้หวายนั้น วิชานี้เรียกว่า วิชา “นะปัดตลอด”
- และมีอีกหลายประการ เช่น จระเข้ว่ายน้ำผ่านวัดต้องลอยตัว ท่านมีวาจาสิทธิ์ ท่านสามารถรักษาคนโดนคุณไสยได้ เป็นต้น
ตอนที่ท่านยังดำรงขันธ์อยู่ ท่านชอบฉันน้ำตาลและส้ม เมื่อมีผู้ตกทุกข์ หรือเจ็บไข้ไม่สบาย จะมาบนบานต่อท่านขอบารมีให้ช่วยให้หาย เมื่อหายดังนั้นแล้ว ก็ได้มีน้ำส้มมาถวายเพื่อให้ท่านได้ฉันเป็นน้ำปานะ
ในสมัยที่หลวงพ่อเชื่อมยังดำรงขันธ์อยู่นั้น ท่านได้สร้างวัตถุมงคลประเภทตะกรุด ลูกอม และผ้ายันต์ แต่ก็สร้างจำนวนน้อย หาได้ยากมาก วัตถุมลคลเครื่องรางอีกอย่าง คือ เสือ ที่แกะจากงาหรือเขี้ยวเสือ กล่าวกันว่าท่านสามารถเสกเสือให้ดิ้นได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากมาก ต้องอาศัยที่มาอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการทำเครื่องหมายหรือสลักชื่อของหลวงพ่อเชื่อมไว้ และอีกอย่าง คือ วิชาการทำสายเอวอาการ ๓๒ ลักษณะนำเชือกยาวมาผูกเป็นปม ๓๒ ปม พร้อมบริกรรมคาถา ให้เท่ากับอาการ ๓๒ ในมนุษย์ มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาด คงกะพัน คุ้มกันตัวจากภยันตรายทั้งปวง วิชานี้ตกทอดสู่พ่อท่านเอ็น วัดเขาราหู (มรณภาพแล้วเมื่อวันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๖๐) เคยมีผู้นำสายเอวอาการ ๓๒ ที่พ่อท่านเอ็นสร้างไปใช้ ปรากฏว่า งูเห่าฉกกัดไม่เข้า
นอกจากนี้อาคาร สิ่งก่อสร้างในวัดปราการ สมัยท่านดำรงขันธ์อยู่ ท่านได้ลงมือเองเกือบทั้งหมด โดยการช่วยเหลือของพระเณรและชาวบ้านเข้าร่วมด้วย ดังที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ นอกจากถาวรสถานแล้ว ยังมีการสร้างรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงเนื้อโลหะ เปรียบเสมือนสิ่งที่เป็นตัวแทนท่าน ซึ่งทำการหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ สมัยที่ท่านมีอายุ ๖๕ ปี พรรษาที่ ๓๗ ปัจจุบันรูปเหมือนได้ประดิษฐานในมณฑปวัดปราการ ร่วมกับรูปเหมือนพระครูพจนกวี (ฟุ้ง โกวิโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดปราการรูปต่อมา และ รูปเหมือนพระครูปราการสมานคุณ (เรียม คุณวุฒฺโฑ) อดีตเจ้าคณะอำเภอคีรีรัฐนิคม อดีตเจ้าอาวาสวัดตาขุน และรูปถ่ายอดีตพระเถราจารย์แห่งลุ่มน้ำพุมพวงและลุ่มน้ำคลองยัน
ส่วนวัตถุมงคลประเภทเหรียญที่ระลึก (รุ่นแรก) เนื้อทองแดงกะไหล่ทองที่ได้รับความนิยมนั้น ได้จัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ท่านมรณภาพ วัตถุประสงค์เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวและระลึกถึงขอบารมีท่านคุ้มครอง โดยจัดสร้างขึ้นเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับการอธิษฐานจิตปลุกเสกจากพระคณาจารย์สายคีรีรัฐนิคม พุมดวง-คลองยัน ในสมัยนั้น เช่น พระครูสถิตสันตคุณ หรือหลวงพ่อพัว เกสโร วัดจันทร์ประดิษฐาราม เป็นต้น
- ตั้งแต่พรรษาแรกที่ได้อุปสมบทในครั้งที่ ๒ เนื่องจากก่อนหน้านี้ท่านได้อุปสมบทมาระยะหนึ่ง ก่อนสึกออกไป แล้วท่านก็กลับมาอุปสมบทใหม่เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เข้าช่วงที่ท่านพระครูสถิตสันตคุณ ในสมัยที่เป็นพระพัว เกสโร เจ้าอาวาสวัดบางเดือน ได้มาปฏิสังขรณ์วัดละมุ (วัดปราการ) ในการพัฒนาวัดละมุครั้งนี้ ได้มี พระเชื่อม เป็นหัวแรงหลักในการช่วยเหลือพัฒนา ซึ่งพระเชื่อม มีความรู้ความสามารถด้านการช่าง จึงเป็นที่ไว้ใจ หลวงพ่อพัวจึงมอบหน้าที่ให้ พระเชื่อม เป็นผู้ดูแลวัดละมุ (วัดปราการ) ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาส จวบจนพัฒนาขึ้นได้เป็นวัดจึงแต่งตั้งให้พระเชื่อมเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อไป
- พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดปราการ และ แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดละมุ (ตำบลท่าขนอน)
***ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัด จาก วัดละมุ เป็น วัดปราการ
***พ.ศ. ๒๕๐๔ ทางราชการบ้านเมืองได้เปลี่ยนชื่ออำเภอ จาก อำเภอท่าขนอน เป็น อำเภอคีรีรัฐนิคม
พ.ศ. ๒๔๖๓ | เป็น เจ้าอาวาสวัดปราการ |
พ.ศ. ๒๔๖๓ | เป็น เจ้าคณะหมวดละมุ (ตำบลท่าขนอน) (เจ้าคณะตำบลละมุ) |
นอกจากท่านมีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาไสยศาสตร์และวิทยาคมหลายประการ แต่กระนั้นแล้ว ท่านไม่ได้ยึดถือมาปฏิบัติ ท่านจะอุเบกขาวางเฉยเป็นส่วนใหญ่ที่ท่านแสดงออกมานั้นเพื่อที่จะสอนศิษย์หรือทบทวนวิชาที่ได้รับมาจากครูบาอาจารย์ ท่านยังเคร่งครัดพระธรรมวินัย ยึดมั่นในศีล ปฏิบัติในวัตรและกิจของสงฆ์โดยเคร่งครัดตลอดชีวิตสมณเพศ โดยท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้มากมายทั้งในชุมชน เสนาสถาน และ วัดวาอารามต่างๆ ส่วนที่จะกล่าวถึงนี้คือท่านได้ใช้วิชาทางด้านช่างไม้ที่ท่านถนัด รังสรรค์เสนาสนะต่างๆให้เกิดขึ้นในวัดปราการ เพื่อสาธารณประโยชน์แด่ชนรุ่นหลังดังนี้
- พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ชักชวนพุทธบริษัทสร้างอุโบสถขึ้นโดยมีความกว้าง ๘ เมตร ๗ นิ้ว ยาว ๑๒ เมตร เสาไม้แก่น หลังคาไทย มีเฉลียงโดยรอบ หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ พื้นในอุโบสถเป็นคอนกรีต ในปีเดียวได้สร้างกุฏิหลังที่ ๑ ขนาดกว้าง ๓.๕ เมตร ยาว ๕ เมตร ทรงปั้นหยา เสาไม้แก่น หลังคา ๒ ชั้น ตอนบนมุงกระเบื้องซีเมนต์
- พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้สร้างกุฏิหลังที่ ๒ ขึ้น ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๔.๕๐ เมตร เสาไม้แก่น กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องซีเมนต์
- พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้สร้างหอฉัน ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๑.๕ เมตร สร้างแบบเรือนไทย ชั้นครึ่ง กั้นกระดาน ปูกระดานเสาไม้แก่น หลังคาครัวไฟมุงจาก นอกนั้นมุงสังกะสี และในการครั้งนี้ท่านได้ประกาศให้ชาวบ้านช่วยเลื่อยไม้มาบริจาคเพื่อสร้างถาวรสถานต่างๆในวัดปราการด้วย
- พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ชักชวนพระภิกษุสามเณรและชาวบ้าน ร่วมสร้างศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร เสาไม้แก่น หลังคาไทยลดเฉลียง มุงกระเบื้องซีเมนต์ และในปีเดียวกันได้สร้างกุฏิหลังที่ ๓ ขึ้น ขนาด กว้าง ๔.๕๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร หลังคาไทย ชั้นเดียว เสาไม้แก่น กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน หลังคามุงซีเมนต์
- พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้สร้างกุฏิหลังที่ ๔ ขึ้น ขนาด กว้าง ๖ เมตร ยาว ๘ เมตร แบบเรือนไทย ชั้นเดียว เสาไม้แก่น กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์
- พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ชักชวนพระภิกษุสามเณร และชาวบ้าน ร่วมสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐.๕ เมตร ๒ ชั้น เสาตอนล่างเป็นคอนกรีต เสาตอนบนเป็นไม่แก่น กั้นไม้กระดาน ชั้นบนปูไม้กระดาน ชั้นล่างพื้นคอนกรีต หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องซีเมนต์
- พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้สร้างเว็จกุฏิ(ห้องส้วม) หลังที่ ๑ ขนาด กว้าง ๒ เมตร ยาว ๒.๕ เมตร ทรงหลังคาไทย เสาไม้แก่น กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน หลังคามุงสังกะสี
- พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้สร้างเว็จกุฏิ(ห้องส้วม) หลังที่ ๒ ขนาด กว้าง ๒ เมตร ยาว ๒ เมตร ทรงหลังคาไทย เสาไม้แก่น กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์
- พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้สร้างกุฏิหลังที่ ๕ ขึ้น เป็นกุฏิเจ้าอาวาสที่ท่านใช้จำวัดอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน ลักษณะ ๒ ชั้น เสาตอนล่าวเป็นคอนกรีต เสาตอนบนเป็นไม้ หลังคาปั้นหยา กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน มีมุขหน้า มุงกระเบื้องซีเมนต์
- พ.ศ. ๒๔๘๕ นางเกิด รัชชะ ได้บริจาคทรัพย์สร้างกุฏิถวาย ๑ หลัง ๒ ชั้น ขนาด กว้าง ๓.๕ เมตร ยาว ๖ เมตร เสาตอนล่างคอนกรีต เสาตอนบนไม่แก่น กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์
- และท่านคือหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการช่วยพระครูสถิตสันตคุณ หรือหลวงพ่อพัว ในการสร้างวัดเขาราหู เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ และในการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย วัดเขาราหู เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ร่วมกับพระครูพจนกวี เมื่อครั้งยังเป็น พระฟุ้ง โกวิโท วัดปราการ โดยมอบหน้าที่ให้พระฟุ้ง เป็นผู้เขียนแปลนออกแบบรอยพระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย แล้วจึงว่าจ้างช่างหล่อโรงงานในกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อฟุ้งท่านมีความชำนาญในศิลป์หลายแขนง ทั้งด้านศิลปะ และกวีศิลป์ มีผลงานมากมาย
พระอธิการเชื่อม ธมฺมโชโต ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี (วันพระ) ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู สิริอายุ ๖๗ ปี พรรษา ๓๙ มีการตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ระยะหนึ่ง และได้ทำการปิดบรรจุศพโดยเก็บสรีระของท่านไว้ประมาณ ๖ ปีเศษ ต่อมาได้มีการเปิดศพ เพื่อนำออกมาทำการฌาปนกิจ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙
|
หนังสือที่ระลึกอนุสรณ์ ๒๐๐ ปี วัดปราการ เอื้อเฟื้อโดย พระครูปราการถิรคุณ (วิเชียร ฐานสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดปราการรูปปัจจุบัน. |
เอกสารหนังสือทะเบียนถาวรวัตถุวัดปราการ เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย พระครูปราการถิรคุณ (วิเชียร ฐานสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดปราการรูปปัจจุบัน. |
หนังสือวัดสถิตคีรีรมย์ ที่ระลึกในงานวันปฐมฤกษ์แห่งงานนมัสการพระพุทธบาท วัดสถิตคีรีรมย์ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ โดย พระธรรมรัชโยดม (เกตุ ธมฺมวโร) เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือพระเทพรัตนกวี วัดไตรธรรมารามฯ. |
หนังสือสถิตสันตคุณานุสรณ์ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงและบรรจุศพ พระครูสถิตสันตคุณ วัดจันทร์ประดิษฐาราม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ ๑-๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙. |
จากการสัมภาษณ์และเอื้อเฟื้อข้อมูลเอกสารบางอย่าง จาก พระครูปราการถิรคุณ (วิเชียร ฐานสุทฺโธ) เจ้าคณะตำบลบ้านยาง เจ้าอาวาสวัดปราการ รูปปัจจุบัน. |
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสืบต่อกันมา แม้เป็นลมปากไม่มีลายลักษณ์อักษรยืนยัน แต่ด้วยประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับพวกเขา เขาจึงเล่าสืบกันมา และเมื่อได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ก็จะเป็นการดีต่อชนรุ่นหลัง ดีกว่าให้เลือนลางหายไปโดยที่ไม่อนุรักษ์ไว้. |
ปฏิทินร้อยปีเพื่อเทียบวันเดือนปีตามจันทรคติ (ออนไลน์). |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook