|
VIEW : 1,053
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล***หลังมีบัญญัติใช้นามสกุล สืบได้ว่า นายพัฒน์ผู้เป็นบิดาของพระอธิการเขียว นั้น เป็นบรรพบุรุษต้นๆของนามสกุล “พืชผล” สืบจนปัจจุบัน ซึ่งมาแต่งงานกับนางชู(ไม่ทราบนามสกุล) ผู้เป็นมารดาของพระอธิการเขียว
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ณ พัทธสีมาวัดกาซี(เหนือ) โดยมี เจ้าอาวาสวัดกาซี (เหนือ) ในสมัยนั้น (ไม่ทราบนาม) เป็นพระอุปัชฌาย์
***วัดกาซีเหนือ มีชื่อวัดเป็นทางการว่า “วัดวนาราม”
* ”กาซี” เป็นชื่อหมู่บ้านและนำมาตั้งเป็นชื่อวัด เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “กาชี” กล่าวคือ ในสมัยโบราณมา มีนกกาสีขาว ได้อาศัยอยู่ในป่าภูเขาแถบนั้น จึงขนานนามพื้นที่แถบนั้นว่า กาชี ปัจจุบันเรียก กาซี
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และอยู่จำพรรษา ณ วัดกาซี(เหนือ) อยู่ช่วยศาสนกิจ อุปัฏฐากดูแลพระอาจารย์ได้ ๓ พรรษาเศษ พระอาจารย์ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านได้มรณภาพลง ท่านจึงได้ครองวัดกาซี(เหนือ) ต่อจากพระอาจารย์
ต่อมาพระเขียวครองวัดกาซี(เหนือ) ได้ประมาณ ๒ ปีเศษ ท่านได้เกิดมีปัญหาขัดใจขึ้นกับท่านหัวเมือง ชื่อกัณฑ์ และกับชาวบ้านใกล้วัดกาซี(เหนือ) ท่านจึงได้ตัดสินใจสละตำแหน่งเจ้าอาวาส และเดินออกจากวัดกาซี(เหนือ) มาทางทิศตะวันออก เพื่อมาสร้างวัดแห่งใหม่ (พื้นที่วัดนิลาราม หรือ วัดกาซีใต้ในปัจจุบัน) โดยมีโยมผู้หญิงซึ่งเป็นญาติของท่าน ชื่อ ยายสั้น ได้บริจาคที่ดินราว ๑๖ ไร่ ให้พระเขียวได้สร้างวัด
ต่อมาประมาณ พ.ศ.๒๔๒๐ ท่านได้ชักชวนพุทธบริษัทลงมือถากถางพื้นที่หมายตั้งใจจะสร้างขึ้นเป็นวัด ซึ่งสมัยพระอธิการเขียว วัดกาซี(ใต้) มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้
- พ.ศ.๒๔๒๐ สร้างอุโบสถขึ้น ขนาดกว้าง ๑๑.๕ เมตร ยาว ๑๕.๕ เมตร หลังคาไทย ลดปีกไก่ทั้ง ๔ ด้าน เสาไม้แก่น มุงกระเบื้องซีเมนต์ ใช้พื้นดินเป็นพื้นอุโบสถ
- ต่อมาในปีเดียวกัน ได้สร้างกุฏิขึ้นพร้อมๆกับการสร้างอุโบสถ เพื่อเป็นที่จำวัดและปฏิบัติธรรมของพระครูเขียว สร้างด้วยไม้ เสาไม้แก่น กั้นไม้กระดาน ปูไม้กระดาน มุงกระเบื้องไทยดินเผาขนาดกว้าง ๑๑.๕ เมตร ยาว ๑๕.๕ เมตร เท่าอุโบสถ
- และก็ได้สร้างเว็จกุฏิ (ห้องส้วม) และศาลา ขึ้นด้วย
จากนั้นไม่นาน ด้วยแรงช่วยของสาธุชน ท่านได้สร้างวัดได้สำเร็จ ชาวบ้านต่างเรียกชื่อวัดว่า “วัดชนะไพรี” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากวัดกาซี(เหนือ) ประมาณ ๑ กิโลเศษ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโดยใช้ชื่อตามลักษณะพื้นที่ เรียก “วัดกาซีใต้” วัดกาซีเดิม จึงเรียกเป็น “วัดกาซีเหนือ” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยท่านห้ามไม่ให้ชาวบ้านเรียกว่า วัดชนะไพรี เนื่องมาจากจะเป็นการไม่ดีต่อศาสนาในการย้ายมาสร้างวัดขึ้นใหม่
ในกาลต่อมาได้ทำเรื่องขอพระราชทานพื้นที่เขตวิสุงคามสีมา จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเขตวิสุงคามสีมาสามัญ เมื่อ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๘ ตรงกับ วันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม ตามราจกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ หน้า ๑๒๕ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) มีพื้นที่ กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๒๔ เมตร และได้จัดงานผูกพัทธสีมาขึ้น อย่างยิ่งใหญ่ในยุคนั้น และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม และเป็นพระอุปัชฌาย์
“พระครูเขียว” เป็นชื่อเรียกของชาวบ้านเพราะท่านเป็นเจ้าคณะแขวงเดิม ถ้าตามสมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์แล้ว ท่านมิได้มีสมณศักดิ์ในราชทินนามใดๆ เนื่องจากท่านปฏิเสธไม่รับสมณศักดิ์ เช่นนามที่เรียกกันว่า พระครูอินทมุนี นั้น ก็มิได้มีราชทินนามนี้ในทำเนียบสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย (เทียบจากบัญชีสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทยหัวเมืองใต้ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๔๓) คาดว่านาม “พระครูอินทมุนี” เป็นการเอาชื่อฉายาทางธรรมของท่าน “พระเขียว อินฺทมุนี” มาเรียกเป็นชื่อพระครูด้วยความยกย่องสรรเสริญ
พระอธิการเขียว เดิมท่านเป็นพระครูเขียว เจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม ต่อมาท่านลาออกเป็นพระธรรมดา ที่ไม่มีสมณศักดิ์ใดๆ แต่ทว่า คุณงามความดีที่ท่านสร้าง และความรู้ความสามารถของท่านนั้น มีมากมาย ตำแหน่งสำคัญที่ท่านดำรงคือ เจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ อาณาเขตตั้งแต่พื้นที่พุมดวงบางส่วน(ก่อนแยกเป็นอำเภอพุนพิน)ตลอดไปจนถึงอำเภอบ้านตาขุน จรดเขาสกอำเภอพนม บารมีท่านเป็นที่กล่าวขาน เป็นที่ยกย่องของอุบาสกอุบาสิกา เป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป อีกทั้งท่านยังมีความขลัง มีวิชาอาคมอยู่มาก รวมทั้งเชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐาน เคร่งครัดพระธรรมวินัย ปฏิบัติกิจของสงฆ์มิได้บกพร่อง
ต่อมาภายหลังจากที่พระอธิการเขียวมรณภาพแล้ว ในสมัยที่พระอธิการวรรณ สงฺฆรกฺขิโต เป็นเจ้าอาวาส ชื่อ “วัดกาซีใต้” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดนิลาราม” เปลี่ยนชื่อโดย พระเทพรัตนกวี (เกตุ ธมฺมวโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในสมัยดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูวัตตจารีศีลสุนทร ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดไตรธรรมารามฯ ซึ่งมาจากคำ ๒ คำ คือ คำว่า “นิล” ที่แปลว่า พลอยอันมีค่าชนิดหนึ่งมีสีเขียวแก่ไปจนถึงสีดำ และคำว่า “อาราม” ที่แปลว่า วัด ซึ่ง นิล+อาราม เป็นการสนธิคำ กลายเป็น นิลาราม แปลว่า วัดที่มีพลอยสีเขียวแก่อันมีค่า มีความหมายโดยนัยว่า วัดที่มีพระครูเขียวผู้เชี่ยวชาญสร้างขึ้น
- ผู้สร้างวัดและเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดนิลาราม (กาซีใต้) พ.ศ. ๒๔๒๐
- ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม และ เป็นพระอุปัชฌาย์ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๙ ตามบันทึกรายงานพระสงฆ์ มณฑลชุมพร ร.ศ. ๑๒๘
- (พ.ศ. ๒๔๔๒) ในราชกิจจานุเบกษา ของพระศาสนดิลก (คำ พรหมกสิกร ป.ธ.๗) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารฯ (ลาสิกขา ๒๔๔๕) เล่ม ๑๖ หน้า ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ระบุว่า “พระเขียว วัดกาซี เจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม” แสดงว่าท่านดำรงตำแหน่งมาก่อนแล้ว เพราะไม่ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งแต่อย่างใด
- ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แต่งตั้ง พระครูแก้ว (เกว ติสฺโส) เป็น “พระครูประกาศธรรมคุณ” ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม เมืองไชยา ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๙ หน้า ๗๙๙ ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) สืบเนื่องจากเรื่องที่พระอธิการเขียว วัดกาซี(ใต้) ปฏิเสธไม่รับสมณศักดิ์ แต่ทางการได้มีการแต่งตั้ง ท่านจึงลาออกจากตำแหน่ง และให้พระครูแก้ว (เกว ติสฺโส) วัดถ้ำสิงขร ซึ่งมีความอาวุโส และเป็นพระอุปัชฌาย์ มีอายุและพรรษาใกล้เคียงกัน ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคมสืบแทน
พ.ศ. ๒๔๒๐ | เป็น เจ้าอาวาสวัดนิลาราม |
พ.ศ. ๒๔๓๙ | เป็น เจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม |
พ.ศ. ๒๔๓๙ | เป็น พระอุปัชฌาย์ |
พระอธิการเขียว อดีตเจ้าคณะแขวงคีรีรัฐนิคม (พระครูเขียว วัดกาซี) ได้มรณภาพ เมื่อ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๑ สิริอายุ ประมาณ ๖๖ ปี พรรษา ๔๖ อ้างอิงจากเอกสารประวัติพระสังฆาธิการที่ระบุว่า พระอธิการวรรณ สงฺฆรกฺขิโต เป็นเจ้าอาวาสวัดกาซีใต้สืบต่อ เมื่อ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓
|
เอกสารทะเบียนประวัติวัดนิลาราม พ.ศ. ๒๔๙๔. |
เอกสารประวัติพระสังฆาธิการในอำเภอท่าขนอน (คีรีรัฐนิคม) พ.ศ. ๒๔๙๔. |
หนังสือคำกลอนนิราศวัดเขาพัง พิมพ์เป็นที่ระลึกงานฌาปนกิจศพพระอธิการวรรณ สงฺฆรกฺขิโต อดีตเจ้าอาวาสวัดนิลาราม ๒๔-๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙. |
จากการสัมภาษณ์และเอื้อเฟื้อข้อมูลเอกสารบางอย่าง จาก พระครูปราการถิรคุณ (วิเชียร ฐานสุทฺโธ) เจ้าคณะตำบลบ้านยาง เจ้าอาวาสวัดปราการ. |
หนังสือราชกิจจานุเบกษา (ออนไลน์). |
ปฏิทินร้อยปีเพื่อเทียบวันที่ตามจันทรคติ (ออนไลน์). |
จากการปะติดปะต่อเรียบเรียงเรื่องราวจากหลักฐานที่ปรากฏ. |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : เรียบเรียง |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook