|
VIEW : 2,490
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลอุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ อุปปสมบท ณ วัดพระบรมธาตุไชยาฯ โดยมี พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมโล) วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการกลับ วัดท่าม่วง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการเจิม วัดพระบรมธาตุไชยาฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาทางธรรมว่า “วฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีความเจริญในทางธรรม
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาทางพระศาสนา กับ พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ (หนู ติสฺโส) วัดสมุหนิมิต สมัยที่ดำรงราชทินนามที่ พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว ณ สำนักเรียนวัดพระบรมธาตุไชยาฯ และก็ได้ศึกษาจากพระอธิการเจิมอีกด้วย ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาฯ ๑๙ พรรษา หลวงพ่อเพชร มีความอุตสาหะและเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างจริงจัง จะเข้าวิปัสสนากรรมฐานในพระวิหารหลวงเสมอ ท่านเคร่งครัดในการปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ทุกวันพระ ๘ ค่ำท่านจะจะเทศนาสั่งสอนชาวบ้านเป็นประจำ ท่านดำรงอยู่ในสมณะธรรมอย่างเคร่งครัด นอกจากท่านจะมีครูดีแล้ว ท่านก็ปฏิบัติตนตามธรรมวินัยเป็นอย่างดี เหมาะกับเพศบรรพชิตที่ควรกับการกราบไหว้บูชา
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านได้ย้ายจากวัดพระบรมธาตุไชยาฯ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเวียง(หนองอูม) พำนักอยู่ที่วัดนี้รวม ๔๙ พรรษา จวบจนมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองอูมอยู่นั้น ท่านได้หาเวลาปลีกวิเสกออกจาริกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ โดยเพื่อนสหธรรมิกที่ร่วมธุดงค์ด้วยคือ หลวงพ่อเพชร เกสโร วัดวชิราราม(ดอนพต) ซึ่งมีพรรษาใกล้เคียงกัน และยังมีอายุเท่ากันอีกด้วย
พ.ศ. ๒๔๖๒ | เป็น เจ้าอาวาสวัดศรีเวียง |
พระครูเพชร วฑฺฒโน มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ตรงกับวันอังคาร แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ท่านด้วยโรคชรา สิริอายุ ๙๑ ปี พรรษา ๖๘ สรีระสังขารทาานมิได้ทำการฌาปณกิจ ได้ทำการบรรจุไว้ใต้ฐานรูปเหมือนของท่านภายในมณฑป ซึ่งได้ทำการบรรจุเมื่อ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒
ในวันที่ท่านมรณภาพ ชาวบ้านได้เอาผ้าจีวรของท่านไว้เป็นที่ระลึก บางคนเอาขมิ้นทาฝ่ามือ ฝ่าเท้าของท่าน แล้วเอาผ้าขาวประทับเพื่อเอารอยฝ่ามือฝ่าเท้านั้นไว้บูชากราบไหว้ โดยทำติดต่อกันจนต้องเข้าคิวอย่างเนืองแน่น แสดงถึงพลังความศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านอย่างแท้จริง
เหตุการณ์มหัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่ง คือ ก่อนจะบรรจุสังขารของท่านลงหีบศพ นายแพทย์จะฉีดฟอร์มาลินเพื่อรักษาศพ ปรากฏว่าเข็มฉีดยาไม่ระคายผิวของท่านเลย ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างตกตะลึงไปตามๆ กัน ลูกศิษย์ต้องจุดธูปเทียนทำพิธีกล่าวขอขมาโทษและขออนุญาต ทำให้การฉีดยาสำเร็จโดยสะดวก
วันบรรจุศพตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ในวันนั้น “ท่านพุทธทาสภิกขุ” เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุราชวรวิหาร และสวนโมกขพลาราม ได้มาเทศนายกย่องบูชาหลวงพ่อเพชรว่าเป็นอาจารย์ของท่าน เป็นตัวอย่างการเป็นอาจารย์ของทุกๆ คน ท่านพุทธทาสได้ให้ความเคารพนับถือหลวงพ่อเพชรมาก
นอกจากหลวงพ่อเพชร วัดศรีเวียง แล้วที่ อำเภอไชยา ยังมี หลวงพ่อเพชร วัดวชิราราม (ดอนพต) อีกท่านหนึ่ง ซึ่งท่านทั้งสองมีอายุและพรรษาใกล้เคียงกันมาก และเป็นเจ้าอาวาสวัดใกล้เคียงกันด้วย ถือเป็นพระมหาเถระผู้อาวุโสที่ชาว อำเภอไชยา ให้ความเคารพนับถือมาก
ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๒ คือ สร้างเหรียญหลวงพ่อเพชร รุ่นแรก โดยนายแช่ม ไวทยินทร์ เป็นผู้ดำเนินการ จัดทำร่วมกับนายจำรูญ คงสนอง จำนวนสร้างประมาณไม่เกิน ๓๐๐ เหรียญ เป็นเหรียญเนื้อเงินแท้ และเงินผสม พิมพ์เหรียญรูปไข่ *(พ.ศ.๒๔๙๒ พ่อท่านเพชร มีอายุ ๗๒ ปี = ๖ รอบ)
ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๗ สร้างเหรียญรุ่น ๒ เป็นเนื้อทองแดง พิมพ์วงรีเรียวยาวคล้ายใบขี้เหล็ก โดยสร้างพร้อมกับเหรียญหลวงพ่อเพชร วัดดอนพตรุ่นแรก จำนวนสร้างไม่ได้แจ้งไว้ หลังจากนั้นมีการสร้างเหรียญอีกหลายรุ่นด้วยกัน ล้วนได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากศิษยานุศิษย์และชาวบ้านมาก รุ่นนี้มี ๒ บล็อค กล่าวคือ ไม่มีกลาก(สร้างก่อน) มีกลาก(สร้างทีหลัง) แต่ทันท่านอธิษฐานจิตทั้ง ๒ พิมพ์
ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๐๖ สร้างเหรียญรุ่น ๓ เป็นเนื้อเงินผสม(อัลปาก้า) เหรียญพิมพ์กลม ออกที่ระลึกในการสร้างรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร จำนวนการสร้างไม่แน่นอน
ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๒ สร้างเหรียญรุ่น ๔ เป็นเหรียญเนื้อเงินผสม(อัลปาก้า) เหรียญพิมพ์กลม คล้ายกับเหรียญรุ่น ๓ ออกเป็นที่ระลึกในการบรรจุสรีระสังขาร ไม่ทราบจำนวนการสร้าง
ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๒๒ ลักษณะเป็นเหรียญล้อพิมพ์เหรียญรุ่นแรก และมีวัตถุมงคลอื่นๆ แต่ไม่เหมือนทั้งหมด เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้ามีกะไหล่สีเงิน และยังมีการสร้างเรื่อยๆตามวาระโอกาสสำคัญ ในปีถัดมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ วัตถุมงคลที่เป็นที่นิยม และกล่าวขานถึงมากที่สุดคือ พระว่านยา ของพ่อท่านเพชร ยกย่องกันว่า ใครมีว่านยาพ่อท่านเพชร ก็เหมือนมียาทิพย์ติดตัว จากหนังสือประวัติความเป็นมาของวัดศรีเวียง(หนองอูม)ได้บันทึกและเล่าเกี่ยวกับการสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อเพชรว่า... เมื่อพ่อท่านเพชร วัดศรีเวียง(วัดหนองอูม) กับพ่อท่านเพชร วัดวชิราราม(วัดดอนพต) ทั้งสองท่านได้สมาธิเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐานจนสำเร็จขั้นแรกคือ กายานุปัสสนากัมมัฎฐานแล้วทั้งสองได้คิดค้นตำราร่วมกันโดยทำ "พระยา" "ลูกยา" แจกลูกศิษย์ญาติโยม พระยาลูกยา(ผู้เขียน)เข้าใจว่าทำตอนที่ท่านทั้งสองกลับจากพม่า ทั้งนี้เป็นเพราะพ่อท่านเพชรวัดหนองอูมได้บอกกับ(ผู้เขียน)ว่า การทำพระยาลูกยานั้นเครื่องยาสิ่งหนึ่งหาได้ยากมาก คนมีบุญจึงจะได้ (ผู้เขียน)ได้กราบถามท่านว่า สิ่งนั้นคืออะไรพ่อท่านเพชรวัดหนองอูมได้ตอบว่า "รุ่นเภา" ผู้เขียนก็กราบเรียนถามท่านอีกว่า เป็นไม้ชนิดใด ท่านตอบและอธิบายให้(ผู้เขียน)ฟังว่า รุ่นเภา คือไม้สดๆ ตัดมาตอกเป็นเภาหุงข้าว ตอนที่คนเดินป่าได้ตัดไม้มาทำเภาหุงข้าวแล้วทิ้งไว้ ต่อมาไม้ที่ตอกเป็นเภาสามอันนั้นแตกรุ่นขึ้นมา อันนี้แหละเรียกว่า "รุ่นเภา" ท่านได้รุ่นเภาตอนกลับมาจากพม่า และท่านทั้งสองก็ลงมือบดยา ยานี้มีชื่อว่า "กำแพงทะลาย" กับ "พิชัยบาดาล" ยาทั้งสองนี้เนื้อว่านจะแตกต่างกัน เมื่อเสร็จแล้วสององค์ก็แบ่งยากันไปทำเป็นพระลูกยา พ่อท่านเพชรวัดหนองอูมทำเป็นสามเหลี่ยมง่ายๆ กับทำยากลม พ่อท่านเพชรวัดดอนพตท่านมีฝีมือท่านทำเป็นพระสมเด็จบ้าง ทำเป็นลักษณะนางพญาบ้าง ทำเป็นขุนแผนบ้าง แต่เนื้อว่านเป็นเนื้อเดียวกันทั้งสองพ่อท่าน
ว่านยาที่ว่านี้ใครมีขอให้ใช้ให้ถูก เพราะพระว่านยามี สรรพคุณมหาศาล พิษต่างๆ ฝนแล้วทาอาการจะหายไปแล ภูตผีไม่เข้าใกล้ สัตว์ร้ายจะหนี งูไม่อ้าปาก อีกทั้งเป็นเครื่องรางของขลังขั้นสุด เพราะเป็นเครื่องรางที่ได้รับการปลุกเสกอธิษฐานจิตของหลวงพ่อเพชรทั้งคู่ ท่านผู้ใดมีไว้เท่ากับมียาทิพย์
พระยาพ่อท่านเพชร คือ พระว่านยา ที่ผ่านกรรมวิธีจัดสร้างและอธิษฐานจิตปลุกเสก โดยภิกษุนาม “เพชร” ๒ เพชร แห่งเมืองไชยา
|
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook