|
VIEW : 1,525
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลเนื่องจากครอบครัวของท่านมีอาชีพทำนา ทำสวน การดำเนินชีวิตก็เหมือนชาวนาทั่วไป ชีวิตจึงมีความผูกพันกับท้องทุ่ง ไร่นา ขณะที่ท่านอายุได้ ๔ ขวบบิดาได้นำไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดใกล้บ้าน กับพระอาจารย์วิสุทธิ์ วิสุทฺโธ (ต่อมาได้รับสมศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าสุวารีวิหาร และรองเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี) ผู้เป็นหลวงลุง เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะการศึกษาสมัยนั้นต้องเรียนในวัดโดยมีพระครูเป็นผู้สอน และ เพื่อให้ท่านได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา และได้ซึมซับรับเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องหล่อหลอมจิตใจ
เมื่อท่านมาเป็นลูกศิษย์วัดแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ เพราะเด็กที่จะเข้าเรียนประถมศึกษาได้ต้องมีอายุ ๗ ขวบ ดังนั้นท่านได้ใช้เวลาในช่วงนี้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์ก่อน โดยการเรียนต้องอาศัยการท่องจำและการเขียนตามคำบอกโดยเรียนหนังสือในตอนกลางวัน ตกเย็นต้องคอยรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ซึ่งครูบาอาจารย์ก็จะอบรมสอนธรรมะและเล่านิทานชาดกให้ฟังโดยตลอด จึงทำให้ท่านได้รับการอบรมทั้งความรู้และคุณธรรมไปพร้อมกัน
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ขณะที่ท่านอายุได้ ๖ ขวบ พระอาจารย์ของท่านได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามป่าเขาในเขตภาคอีสาน ท่านได้จึงได้ติดตามพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรบางครั้งก็เข้าไปศึกษาในสำนักปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์ต่างๆ โดยท่านได้อุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน และได้ร่วมปฏิบัติธรรมกับสามเณรด้วย กระทั่งสำนักสุดท้ายที่ท่านออกธุดงค์ครั้งนั้นคือ ได้ไปปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ถ้ำค้อ จังหวัดสกลนคร
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้ติตามพระอาจารย์ไปกรุงเทพเพื่อกราบพระอมราภิรักขิต ซึ่งเป็นอุปัชฌายะของพระอาจารย์ที่วัดบรมนิวาส ได้เข้าพักที่กุฏิเสงี่ยม คณะ ๓ โดยในปีนั้นพระอาจารย์ท่านได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาสนั้นเอง
ในระหว่างพรรษาได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย โดยกองกำลังของฝ่ายตรงข้ามได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น คลังอาวุธ อาคารกองบัญชาการ ถนนหนทาง สะพาน สถานีรถไฟเป็นต้น ซึ่งวัดบรมนิวาสอยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟหัวลำโพง และเป็นทางผ่านของรางรถไฟจึงทำให้ไม่ปลอดภัย พอออกพรรษาแล้วพระอาจารย์ของท่านเห็นว่าบ้านเมืองยังไม่สงบหากอยู่ต่อไปจะมีอันตรายแก่ชีวิตได้ จึงกราบลาพระอุปัชฌายะกลับไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ขณะที่ท่านอายุได้ ๘ ขวบพระอาจารย์ของท่านปรารถนาจะให้ท่านเรียนหนังสืออย่างสมัยนิยมจึงได้นำท่านไปฝากเรียนที่โรงเรียนประชาบาลบ้านโคกกรุง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
เพราะความที่ท่านเคยศึกษาเล่าเรียนหัดอ่านหัดเขียนมาแล้วกับครูบาอาจารย์ในช่วงที่เป็นศิษย์วัด ดังนั้น พอเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้เพียงครึ่งปี ทางโรงเรียนได้สอบวัดผลปรากฏว่าท่านสอบได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จึงให้ท่านได้เลื่อนขึ้นไปชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ พอถึงกลางภาคสอบวัดผล ก็ปรากฏว่าท่านสอบได้คะแนนสูงสุดของชั้นเรียน ๙๒ เปอร์เซ็นต์ ครูใหญ่จึงให้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จึงนับได้ว่าท่านใช้เวลาเรียนเพียง ๒ ปีเท่านั้น ก็จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งถือว่าเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาพื้นฐานในสมัยนั้นขณะที่อายุเพียง ๑๐ ขวบ
พอจบการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลแล้ว ท่านต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา เพราะความที่ทางบ้านยากจน ถึงแม้ท่านจะเรียนดีและมีความพยายามที่จะศึกษาต่อก็ตาม
กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ขณะที่ท่านอายุได้ ๑๓ ปี บิดามารดาของท่านได้เห็นความตั้งใจเรียนรู้ของท่านและเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะคนในสมัยนั้นคนที่เรียนจบมัธยมศึกษาก็สามารถเข้ารับราชการเป็นครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจได้ หรือคนที่จบนักธรรมตรี โท เอก ก็สามารถเข้ารับราชการเป็นครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจ บุรุษไปรษณีย์ หรือเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ ดังนั้น บิดามารดาของท่านจึงได้นำฝากไปเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาชั้นต้น ที่โรงเรียนสุวรรณวิทยา อำเภอธวัชบุรี และเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนโพนทองวิทยา อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด จนกระทั่งจบมัธยมศึกษาตอนปลายในปี พ.ศ. ๒๔๙๑
หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ท่านได้ทำงานช่วยครอบครัว และรับจ้างทั่วไป กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริการประชาชนด้านสาธารณสุข ในองค์การอนามัยโลก ( WHO ) สาขาโรคติดต่อ ที่จังหวัดขอนแก่น
ทำงานที่องค์การอนามัยโลก ได้ ๕ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านเห็นว่าหน้าที่การงานไม่มั่นคง ถึงแม้เงินเดือนจะสูงก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงลูกจ้างขององค์การต่างชาติเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านจึงได้ลาออกจากงาน หลังจากนั้นจึงไปสมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประจำแผนกคลังจังหวัดหนองคาย ปรากฏว่าท่านสอบได้ในลำดับที่ ๑๓ จากผู้เข้าสอบหลายร้อยคน ท่านจึงได้บรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่นั้น
หลังจากออกจากราชการแล้ว ท่านจึงกลับไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงนี้ท่านได้อาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงชีวิต ได้พิจารณาถึงธรรมที่เคยศึกษาอบรมกับครูบาอาจารย์ และเห็นสัจธรรมมีความทุกข์อันเกิดจาก ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น จึงทำให้ใจน้อมนำไปบรรพชามีความปรารถนาที่จะบวช
เมื่อพิจารณาถึงอาการป่วยด้วยโรคประสาทของท่านแล้วเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเป็นเพียงแต่มีอาการปวดบ้างบางครั้งเท่านั้น ท่านได้ขอบวชกับพระครูวิสุทธิธรรมคุณ พระอาจารย์ โดยได้รับการอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ณ พัทธสีมาวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พระราชสิทธาจารย์ (เฮือง ปภสฺสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกาสมศักดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาเนาว์ นวโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ขนฺติพโล” แปลว่า ผู้มีกำลังคือความอดทน
พ.ศ. ๒๕๐๑ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี |
พ.ศ. ๒๕๐๒ สอบได้ นักธรรมชั้นโท |
พ.ศ. ๒๕๐๓ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก |
พ.ศ. ๒๕๑๒ | เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าเวฬุวัน |
พ.ศ. ๒๕๑๕ | เป็น เจ้าอาวาสวัดป่าเวฬุวัน |
พ.ศ. ๒๕๒๑ | เป็น เจ้าคณะตำบลเมืองปัก (ธ) |
พ.ศ. ๒๕๒๗ | เป็น เจ้าคณะอำเภอปักธงชัย (ธ) |
พ.ศ. ๒๕๓๑ | เป็น พระอุปัชฌาย์ |
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็น
พระครูสังฆรักษ์
ฐานานุกรมใน พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชโล)
|
พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่ พระครูอุดมคัมภีรญาณ
|
พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท
ในราชทินนามเดิม
|
พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก
ในราชทินนามเดิม
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญ
ที่ พระชินวงศาจารย์
[1]
|
1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๑, ตอนที่ ๓ ข, ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, หน้า ๑๗ |
web-pra.com |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook