|
VIEW : 787
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล ๑. นายสนิท อุตตรนที
๒. พระราชพรหมเถร
๓. นายณรงค์ อุตตรนที
๔. นายหาญ อุตตรนที
๕. รศ.ดร.เดโช อุตตรนที
ครอบครัวของเด็กชายวีระ อยู่ที่บางขุนเทียนได้ไม่นานนัก ก็ย้ายไปอยู่สี่พระยา เมื่อเจริญวัยเข้าเกณฑ์การเรียน บิดามารดาก็ส่งไปเข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นของสมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย เรียนอยู่ได้ ๖ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ก็เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๖ ของโรงเรียน มีความสามารถอ่าน เขียน และพูดภาษาญี่ปุ่นได้ดี ด้วยความขยันหมั่นเพียรมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่มีอุปสรรคใดๆ ต่อจากนั้นก็ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าเรียนต่อเตรียมปริญญาธรรมศาสตร์ รุ่นที่ ๒ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ จากนั้นจึงเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนในสาขานิติศาสตร์ สอบได้ที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะเรียนอยู่นั้นก็ได้ทำงานไปด้วยในสถานทูตญี่ปุ่น
แต่ชีวิตการศึกษาในมหาวิทยาลัยของคฤหัสถ์วีระ ต้องยุติลงภายหลังจากขึ้นปีการศึกษาที่ ๒ เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ อันเป็นการเริ่มสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในภูมิภาคเอเชียบูรพา
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว คฤหัสถ์วีระไม่ได้กลับเข้าไปศึกษาต่อ แต่ได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย สั่งและส่งสินค้าเข้าและออกจากประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ด้วยความขยันขันแข็ง เอาใจใส่ในหน้าที่ การค้าขายจึงเจริญขึ้นเป็นลำดับ ในระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปีนั้น
ครั้งที่คฤหัสถ์วีระจะได้พบหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้น เป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ขณะนั้นอายุได้ ๓๔ ปี วันหนึ่งได้ขึ้นรถเมล์สายตลาดพลู นั่งไปเพลิน ๆ ไม่ได้มีจุดหมาย และได้ปรารภกับตนเองว่า "ในชีวิตนี้คนเราต้องการอะไรกัน" คำตอบคือ "ความสุข" ก็แล้วความสุขนั้นคืออย่างไร จะให้มีจะให้รู้เห็นเป็นได้อย่างไร ปรารภอยู่ดังนั้น รถเมล์ก็วิ่งมาถึงตลาดพลู ที่นั่นคฤหัสถ์วีระได้ลงเรือจ้างที่แล่นไปตามคลองบางกอกน้อย เรือจ้างคิดว่า คฤหัสถ์วีระจะไปรับพระของขวัญของหลวงพ่อที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงได้พาขึ้นท่าเรือที่เรียกกันว่า ท่าไฟไหม้ ข้างวัดปากน้ำ
เมื่อเรือจอดเทียบท่า คฤหัสถ์วีระก็ขึ้นจากเรือ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่าขึ้นไปทำไม และก็ได้เดินชมวัดอยู่ แล้วคฤหัสถ์วีระก็ได้เห็นพระภิกษุท่านหนึ่ง ดูน่าเลื่อมใส กำลังฉันภัตตาหารเพลอยู่ ความสง่า องอาจ และบุญราศีของท่าน ทำให้ต้องคิดว่าพระภิกษุท่านนั้นคงจะเป็นพระนักปฏิบัติผู้เคร่งครัดอย่างแน่นอน เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านก็นั่งสนทนากับญาติโยมทั้งหลายที่ไปหานั้น ด้วยปฏิสันถารอันดี พูดจาฉะฉาน โต้ตอบธรรมะได้ลึกซึ้งเป็นพิเศษ
หลวงพ่อพระราชพรหมเถรสนใจในเรื่องวิปัสสนากัมมัฏฐานมาตั้งแต่เด็ก ฟังธรรมที่วัดหัวลำโพง วัดแก้วแจ่มฟ้า วัดมหาพฤฒาราม มีความสนใจในเรื่องนรก สวรรค์ นิพพาน ว่ามีจริงหรือไม่ จะไปดูด้วยวิธีใด ปรารถนาจะพิสูจน์ในเรื่องนี้ ก็ประจวบเหมาะในครั้งนี้ ได้ถือโอกาสขึ้นไปนั่งคุยกับพระอาจารย์ท่านนั้น จึงได้รู้ว่าท่านคือ "หลวงพ่อวัดปากน้ำ" ผู้ค้นพบพระสัทธรรมวิชชาธรรมกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนั้นท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระภาวนาโกศลเถร ท่านก็ได้บอกว่า หากสนใจเรื่องนี้ให้มานั่งกัมมัฏฐาน และท่านได้แนะนำหลายอย่างเกี่ยวกับวิธีนั่งภาวนา
เป็นอันว่าคฤหัสถ์วีระในวันนั้นได้ทราบวิธีปฏิบัติจากท่านโดยละเอียด ก่อนจะกราบลาท่านกลับ ท่านบอกว่าให้มาวันพฤหัสบดี ด้วยความต้องการจะพิสูจน์ทดลอง คฤหัสถ์วีระก็ได้กลับไปพบท่านใหม่อีก
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยมี พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นที่พระภาวนาโกศลเถร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปัญญาภิรัต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า คณุตฺตโม
เมื่อท่านได้บวชเรียนแล้ว ก็ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามแนววิชชาธรรมกาย กับหลวงพ่อวัดปากน้ำมาโดยตลอด ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนาให้เจริญถาวรสืบไป ทั้งในและนอกประเทศ
พระเดชพระคุณพระราชพรหมเถร เป็นผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายโดยตรงจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านได้ทำหน้าที่เผยแพร่พระสัทธรรมวิชชาธรรมกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ ทั้งในวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่หอสังเวชนียมงคลเทพนิรมิต ในโครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และที่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์ควบคุมการปฏิบัติพระกรรมฐานอยู่ และดำเนินการอยู่อย่างเข้มแข็ง
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมเถร เป็นครูอาจารย์ผู้ประเสริฐของศิษยานุศิษย์ และท่านได้สอนอบรมตักเตือนศิษย์ทั้งหลายด้วยความเมตตาโดยตลอด ท่านสอนหลักธรรมให้ปฏิบัติเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทุกคน ทั้งในระหว่างการเรียนปฏิบัติพระกรรมฐานและในชีวิตประจำวัน
โดยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมเถร มีความชำนาญในด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส จึงทำให้งานเผยแพร่พระสัทธรรมวิชชาธรรมกายได้ดำเนินไปด้วยดี พร้อมกับมีการจัดพิมพ์การปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานตามแนววิชชาธรรมกายเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เผยแพร่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮอลแลนด์ เยอรมนี สวีเดน และญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการดำเนินงานสอนพระสัทธรรมวิชชาธรรมกาย และจัดตั้งวัดไทยขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาแพร่หลายสู่พลโลกอย่างกว้างขวาง
พ.ศ. ๒๕๐๘ | เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง |
พ.ศ. ๒๕๑๓ | เป็น พระกรรมวาจาจารย์ |
พ.ศ. ๒๕๑๓ | เป็น พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ |
พ.ศ. ๒๕๑๓ | เป็น รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง |
พ.ศ. ๒๕๒๒ | เป็น พระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ |
พระราชพรหมเถร วิ. (วีระ คณุตฺตโม) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณ ๒๑.๑๙ น. ณ โรงพยาบาลเลิดสิน เขตบางรัก กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็น
พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่ พระครูภาวนาภิรม
|
พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็น
พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ในราชทินนามเดิม
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่ พระภาวนาโกศลเถร
[1]
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็น
พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่ พระราชพรหมเถร สมถวิปัสสนาธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[2]
|
1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๙, ตอนที่ ๒๐๒ ง, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๕, หน้า ๕ |
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๑, ตอนที่ ๓ ข, ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, หน้า ๑๐ |
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม |
wikipedia.org |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook