พระสมุห์ ทองพิม ภทฺทมุนี | พระสังฆาธิการ

พระสมุห์ ทองพิม ภทฺทมุนี


 
อายุ ๘๙ ปี
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๓๐
พรรษา ๖๘
มรณภาพ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘
วัด วัดหัวสวน
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 3,252

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระสมุห์ ทองพิม ภทฺทมุนี มีนามเดิมว่า ทองพิม แก้วอำไพ ตามประวัติกำเนิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๑๐ ปีเถาะ ระบุว่าตรงกับ พ.ศ. ๒๔๐๙

     ***แต่เมื่อเทียบกับปฏิทินร้อยปี ปีเถาะ จะตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๐ ส่วน พ.ศ. ๒๔๐๙ ตามที่ระบุจะตรงกับปีขาล พอจะสรุปได้ว่า พ่อท่านทองพิม กำเนิดประมาณช่วง พ.ศ. ๒๔๐๙-๒๔๑๐

     ท่านถือกำเนิด ณ บ้านหัวสวน หมู่ที่ ๓ ตำบลหัวเตย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายหีต นางสาย แก้วอำไพ มีพี่-น้อง ร่วมท้อง ๖ คน คือ
     ๑. นายนาค แก้วอำไพ
     ๒. นายทองพิม แก้วอำไพ (พระสมุห์ทองพิมพ์ ภทฺทมุนี)
     ๓. นางแสง แก้วอำไพ
     ๔. นายเกตุ แก้วอำไพ
     ๕. นายเจียด แก้วอำไพ
     ๖. นายเจิม แก้วอำไพ


อุปสมบท

     เมื่ออายุครบบวช ๒๑ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๐ ณ วัดเขาศรีวิชัย (วัดหัวเขา) โดยมี พระครูธรรมปรีชาอุดม (มี) วัดบางกล้วย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกตุ (เกตุเฒ่า) วัดเขาศรีวิชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า "ภทฺทมุนี" แปลว่า ผู้มีความเจริญในเพศสมณะ

     อุปสมบทแล้วได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดหัวสวน เมื่อมีความรู้พอสมควรแล้วได้ไปจำพรรษา ณ วัดพระพรหม อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำพรรษาอยู่หลายพรรษา จากนั้นได้ออกธุดงค์รุกขมูลไปในที่ต่างๆ เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จนไปถึงเมืองภูเก็ต ได้มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่รอด วัดโฆษิตวิหาร จังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และสรรพวิชาต่างๆ อยู่จำพรรษาศึกษากับหลวงปู่รอดอยู่หลายปีจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ต่อมาท่านได้ออกธุดงค์รุกขมูลต่อไปในที่ต่างๆหลายแห่ง เช่น ประเทศพม่า แดนพุทธภูมิประเทศอินเดีย เป็นต้น จากนั้นได้ธุดงค์กลับบ้านเกิด โดยจำพรรษา ณ วัดริ่ว ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของวัดหัวสวน ได้อยู่สอนวิปัสสนา ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายปี เมื่อเจ้าคณะหมวดหัวเตย และเจ้าอาวาสวัดหัวสวนว่างลง ท่านก็ได้รับนิมนต์เข้ารับตำแหน่งนั้น และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ในฐานานุกรม ของ พระครูพิศาลคณะกิจ (จ้วน) อดีตเจ้าคณะแขวงพุนพิน วัดพุนพินใต้

     พ่อท่านทองพิม อยู่บริหารงานในตำแหน่งเจ้าคณะหมวดหัวเตย (เจ้าคณะตำบลหัวเตย) เป็นเวลาหลายปี ท่านเห็นว่าพอแก่เวลาแล้ว ท่านจึงตัดสินใจปลีกวิเวกออกธุดงค์รุกขมูลอีกครั้ง โดยไปในสถานที่ต่างๆ เช่น

     -ป่าแถบในมุย (อาณาเขตแถบ อำเภอพนม และ อำเภอบ้านตาขุน เขาสก ตลอดจนถึงพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพังงาในปัจจุบัน) โดยเคยจำพรรษา ณ วัดเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน ท่านธุดงค์มาแถบนี้ ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาในจริยาวัตรเลยนิมนต์ท่านให้จำพรรษา ณ วัดเขาพังซึ่งว่างเจ้าอาวาส จำพรรษาได้ประมาณ ๒ พรรษา และในระยะเวลา ๒ ปี ที่ท่านได้จำพรรษาที่วัดเขาพัง ท่านได้ช่วยพัฒนาวัดโดยสร้างศาลาเอนกประสงค์ขึ้นมาหลังหนึ่ง และสงเคราะห์ญาติโยมในด้านการรักษาผู้ป่วยด้านกระดูกแตก กระดูกหัก ปัญหาด้านเส้นเอ็น ท่านสามารถรักษาได้หาย และในปัจจุบันนั้นเมื่อมีพิธีหรือทำอะไร ยังกาดครูออกชื่อถึงพ่อท่านทองพิมเสมอ

     -ท่าขนอน (อำเภอคีรีรัฐนิคม ในปัจจุบัน) โดยปักกลดแถบป่า แถบเขา ในถ้ำต่างๆ บางครั้งอยู่ในป่าเป็นเวลาหลายวัน

     -นาสาร โดยท่านเข้ายึดถ้ำขรมเป็นที่พักจำพรรษา ท่านจำพรรษา ณ ถ้ำขรมเป็นเวลานานมากหลายพรรษา ต่อมาท่านได้สร้างและพัฒนาให้มีความเจริญขึ้น เป็นที่สอนวิปัสสนากรรมฐานแก่ศิษย์ จนปัจจุบัน ยกฐานะเป็นสำนักสงฆ์ถ้ำขรม อำเภอบ้านนาสาร เป็นต้น

     สถานที่ที่ท่านเคยจำพรรษาดังที่กล่าวมานั้นปรากฏมีภิกษุ-สามเณร อุบาสก-อุบาสิกา เป็นจำนวนมาก ที่เข้ามาศึกษา หรือ อุปัฏฐากดูแลท่านเสมอ ท่านเป็นที่รักของปวงศิษย์ทั้งมวล ซึ่งท่านเป็นที่ประจักษ์ชัดในเรื่องของ การศึกษาดี คือเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น และ ความเป็นอยู่ดีคือเคร่งวัตรปฏิบัติตามครรลองตามองค์พระศาสดา

     เมื่ออายุท่านได้ประมาณ ๗๖ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวบ้านหัวเตย ได้ไปนิมนต์อาราธนาพ่อท่านทองพิมพ์จากถ้ำขรม อำเภอบ้านนาสาร ให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวสวนอีกครั้ง ท่านก็รับนิมนต์ เดินทางมาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวสวนอีกครั้ง และได้จำพรรษาที่วัดหัวสวนจนกระทั่งมรณภาพ

     ขณะที่ท่านจำพรรษาที่สำนักถ้ำขรม อำเภอบ้านนาสาร จนมาจำพรรษาที่วัดหัวสวนจะมีพ่อท่านคล้าย จนฺทสุวณฺโณ วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านจะเดินทางมาหาพ่อท่านทองพิม โดยจะเดินทางมาหาแบบเงียบๆ ไม่มีการบอกกล่าวใครผู้ใดเนื่องจากพ่อท่านคล้ายเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง มีประชาชนรู้จักเยอะ ถ้าออกข่าวป่าวประกาศไปจะไม่เป็นส่วนตัวในการมาหาพ่อท่านทองพิม เพื่อที่จะเยี่ยมเยียน สนทนา หรือแลกเปลี่ยนวิชาอาคมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง พ่อท่านคล้ายให้การเคารพพ่อท่านทองพิมมากๆ ด้วยฌาณบารมี และความอาวุโสที่พ่อท่านทองพิมมีอายุมากกว่าพ่อท่านคล้าย ๑๐ ปี (๑๐ พรรษา) นับว่าพ่อท่านทองพิมกับพ่อท่านคล้าย มีความสนิทสนมกันในฐานะศิษย์พี่ศิษย์น้องหรือสหธรรมิกกัน ด้วยเหตุนี้ที่วัดหัวสวนจึงมีการสร้างรูปเหมือนพ่อท่านคล้ายตั้งไว้คู่กับรูปเหมือนพ่อท่านทองพิมในมณฑป

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

 เจ้าอาวาสวัดหัวสวน
 เจ้าคณะหมวดหัวเตย (เจ้าคณะตำบลหัวเตย)

มรณกาล


     พ่อท่านทองพิม ภทฺทมุนี มรณภาพโดยสงบ ณ กุฏิของท่าน ณ วัดหัวสวน ด้วยความชรา เมื่อ วันอังคาร แรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ สิริอายุ ๘๙ ปี พรรษา ๖๘

     ฌาปณกิจ พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ วัดหัวสวน

     อนึ่ง ในวันเปิดสรีระก่อนวันฌาปนกิจ ปรากฏว่าสรีระสังขารของพ่อท่านทองพิม ไม่เน่า ไม่เปื่อย เส้นเกศาของท่านยาวเพิ่มขึ้นจากเดิม ๑-๒ เซนติเมตร แต่ มีการลงความเห็นกันว่าให้ฌาปนกิจตามประเพณี ในวันเผาสรีระนั้น ทำการเผากลางดึก เพราะในตอนเย็นและหัวค่ำ มีประชาคนส่วนหนึ่งได้กรูเข้าไปที่เมรุพิเศษที่ใช้ฌาปนกิจ หวังที่จะดึงเอาจีวรไว้บูชา เป็นการแย่งกัน มีการห้ามปราม เลยปล่อยเวลามาถึงดึก และมีการกั้นให้ประชาชนยืนรอบนอกอย่างเป็นระเบียบ ก่อนที่จะมี ๑ คน (สัปเหร่อ) ที่เข้าไปถึงบริเวณสรีระและดำเนินการเผา เพียง ๑ คนเท่านั้น จนการฌาปนกิจศพเสร็จ อัฐิของท่านได้เก็บไว้ที่วัดหัวสวน ส่วนหนึ่งมีลูกหลานขอแบ่งเก็บไปบูชา อ้างอิงจากคำพูดของ พระครูอนุภาสวุฒิคุณ หรือ พ่อท่านกระจ่าง อนุภาโส ลูกศิษย์ของพ่อท่านทองพิม ผู้ช่วยและดำเนินงานในงานฌาปนกิจศพของพ่อท่านทองพิม สัมภาษณ์ ณ วัดเกาะกลาง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑


ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook