พระราชธรรมาภรณ์ (หวล สุขิโต) | พระสังฆาธิการ

พระราชธรรมาภรณ์ (หวล สุขิโต)


 
เกิด ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐
อายุ ๖๙ ปี
อุปสมบท ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐
พรรษา ๔๙
มรณภาพ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๙
วัด วัดคลองวาฬ
ท้องที่ ประจวบคีรีขันธ์
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 2,332

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระราชธรรมาภรณ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ครอบครัวมีอาชีพทำนาและเลี้ยงวัว อยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลศิลาลอย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชีวิตในเยาว์วัยศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วช่วยบิดามารดาทำนาและเลี้ยงวัวจนกระทั่งเป็นหนุ่ม เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มท่านชอบการเล่นวัวลานและการชนวัว มีใจนักเลงชนิดไม่ยอมลงให้ใครง่าย ๆ ชีวิตฆราวาสวัยหนุ่มของหลวงพ่อหวลจึงเป็นชีวิตที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย


อุปสมทบ

     เมื่อท่านอายุครบที่จะบวชได้ บิดามารดาก็หาอุบายที่จะให้ท่านบวชให้ได้ วันและเวลาที่หลวงพ่อหวลบวชนั้น ต้องหลบเลี่ยงเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในที่สุดต้องอาศัยช่วงเวลาที่มืดค่ำ ประกอบพิธีอุปสมทบให้ท่าน

     อุปสมทบ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ วัดวังยาว อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหลวงพ่อเปี่ยม เจ้าอาวาสวัดเกาะหลัก เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อโถ (พระสุเมธีวรคุณ วัดคลองวาฬ) กับหลวงพ่อเบิ้ม (พระวิริยากรโกศล วัดวังยาว) เป็นพระคู่สวด หลวงพ่อหวลได้รับฉายาว่า สุขิโต ซึ่งแปลว่า ผู้มีความสุขอยู่ในรสพระธรรม

     หลวงพ่อเปี่ยมเห็นแววหรือลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งของหลวงพ่อหวล จึงพาหลวงพ่อหวลมาอยู่กับท่านที่วัดเกาะหลัก พระเทพสิทธิวิมล เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าอาวาสวัดคลองวาฬรูปปัจจุบัน ได้บอกเล่าในหนังสือ ”พระราชวิสุทธิคุณ หลวงพ่อเอียด สุทนฺโต : พระดี ผู้มีแต่ให้” ไว้ว่า ”พอบวชเสร็จ หลวงพ่อเปี่ยมพระอุปัชฌาย์ก็เอาหลวงพ่อหวลมาที่วัดเกาะหลักด้วย ท่านบอกว่านี่แหละช้างเผือก หลวงพ่อหวลจึงได้มาอยู่ที่วัดเกาะหลัก มาปฏิบัติหลวงพ่อเปี่ยม” ซึ่งก็หมายความว่า หลวงพ่อเปี่ยมชอบคนใจนักเลงจึงได้ขอพาหลวงพ่อหวลไปอยู่กับท่าน หลวงพ่อหวลเป็นที่โปรดปรานของหลวงพ่อเปี่ยม เรียกได้ว่า นี่แหละศิษย์เอกของหลวงพ่อเปี่ยม ในขณะที่อยู่กับหลวงพ่อเปี่ยมนั้นหลวงพ่อหวลก็ได้ศึกษาวิชาอาคมคาถาต่าง ๆ จากหลวงพ่อเปี่ยมเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นท่านยังได้รับผงพระสมเด็จวัดระฆังฯ จากหลวงพ่อเปี่ยม (ซึ่งเมื่อท่านนำผงพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้นมาเป็นมวลสารในการทำพระสมเด็จกรุวัดคลองวาฬพิมพ์ต่าง ๆ ก็เป็นที่โด่งดังมากในวงการนักนิยมพระเครื่อง)

     ต่อมา ชาวคลองวาฬได้พากันไปขอหลวงพ่อหวลจากหลวงพ่อเปี่ยม เพราะวัดคลองวาฬช่วงนั้นขาดแคลนพระที่มีความรู้ความสามารถเป็นครูสอนนักธรรม หลวงพ่อหวลจึงได้ย้ายมาอยู่ที่วัดคลองวาฬ เป็นครูสอนนักธรรมและช่วยเหลือทำงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายหรือเห็นสมควรช่วยเหลือมาตลอด จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาส เป็นระยะเวลาถึง ๙ ปีก่อนที่หลวงพ่อโถจะย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลัก และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

     เมื่อหลวงพ่อโถย้ายไปอยู่ที่วัดเกาะหลัก หลวงพ่อหวลก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดคลองวาฬ และเป็นพระฐานานุกรมที่พระปลัดของเจ้าคณะอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์อีกด้วย วัดคลองวาฬภายใต้การปกครองและการพัฒนาของหลวงพ่อหวลมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ ประชาชนก็เคารพเลื่อมใสหลวงพ่อหวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลวงพ่อหวลมีปฏิปทาแบบสมถะใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลวงพ่อหวลได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูศรัทธาโศภิต และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

     ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อพระสุเมธีวรคุณ (หลวงพ่อโถ) มรณภาพ หลวงพ่อหวลก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามที่ปฏิบัติกันมานั้นเจ้าคณะจังหวัดจะอยู่วัดเกาะหลักพระอารามหลวง แต่หลวงพ่อหวลยินดีที่จะอยู่เป็นเจ้าคณะจังหวัดที่วัดคลองวาฬ ซึ่งในขณะนั้นวัดคลองวาฬยังเป็นวัดราษฎร์ มิใช่พระอารามหลวงดังเช่นปัจจุบัน เพราะท่านดำรงชีวิตสมถะเรียบง่ายและเอื้ออารีต่อสัตว์โดยเฉพาะสุนัข ภาพของท่านที่มักจะปรากฏแก่คนทั่วไป คือแบกจอบเล่มหนึ่ง เดินดูบริเวณวัด หากพบมูลสุนัข (ขี้หมา) ก็จะกลบฝัง ประชาชนหรือแม้กระทั่งพระอาคันตุกะที่มาหาท่านก็มักจะพบเจอท่านในลักษณะเช่นนี้อยู่เสมอ

     เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งมีพระจากต่างจังหวัดเดินทางมาวัดคลองวาฬ เพื่อติดต่อธุระกับหลวงพ่อหวลในฐานะเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเข้ามาในวัดคลองวาฬแล้ว ได้พบหลวงพ่อหวลในขณะกำลังแบกจอบยืนดูบริเวณวัด พระอาคันตุกะเข้าใจว่าท่านเป็นพระหลวงตา (ลูกวัด) เท่านั้น จึงถามว่าเจ้าคณะจังหวัดอยู่ไหม หลวงพ่อหวลก็ตอบว่าอยู่ ไปคอยที่กุฏิรับรองแขกโน้นซิ สักพักหนึ่งหลวงพ่อหวลก็ขึ้นไปบนกุฏิรับรองแขก แล้วก็บอกกล่าวกะพระอาคันตุกะว่า นี่แหละเจ้าคณะจังหวัดล่ะ มีธุระอะไร พระอาคันตุกะรูปนั้นรีบกราบขอโทษท่านก่อนที่จะบอกกล่าวถึงธุระของตน ซึ่งหลวงพ่อหวลก็ไม่ถือสาหาความแต่อย่างใด

     เรื่องการปกครองคณะสงฆ์นั้น หลวงพ่อหวลจะปกครองแบบเป็นพี่เป็นน้องกัน และให้เคารพกันโดยอาวุโส จึงได้รับความร่วมมือจากเจ้าคณะพระสังฆาธิการเป็นอย่างดี กล่าวได้ว่าคณะสงฆ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แทบไม่มีอธิกรณ์ใด ๆ เกิดขึ้นเลย และงานคณะสงฆ์ทั้ง ๔ องค์กร (ปกครอง ศาสนศึกษา เผยแผ่ และสาธารณูปการ) ในปัจจุบัน ก็ได้รับผลมาจากรากฐานที่หลวงพ่อหวลได้วางไว้

     อนึ่ง ยุคของหลวงพ่อหวลถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นความเจริญรุ่งเรืองทางการศึกษาของวัดคลองวาฬ เพราะหลวงพ่อหวลได้ก่อตั้งสำนักเรียนบาลีขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนอย่างจริงจัง พยายามหาครูสอนบาลีจากกรุงเทพฯ จัดหาอุปกรณ์และตำราเรียนที่ขาดแคลนบ้าง เมื่อนักเรียนสอบได้ก็จัดพิธีฉลองและมอบรางวัลให้ทุกปี วัดคลองวาฬจึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน ในแต่ละปีก็จะมีพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่าง ๆ มาสมัครเรียนบาลีอยู่เสมอ และมีนักเรียนสอบได้ชั้นประโยคต่าง ๆ ทุกปี

     ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงพ่อหวลได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชธรรมาภรณ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระราชาคณะชั้นราชรูปแรกของคณะสงฆ์มหานิกายจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงแม้ว่าท่านจะมีสมณศักดิ์สูงเป็นถึงพระราชาคณะชั้นราช มีอายุพรรษากาลมากแล้ว และมีโรคภัยเบียดเบียนสังขารร่างกาย แต่ท่านก็ยังมุ่งมั่นส่งเสริมการเรียนบาลีและปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ตามหน้าที่ทั้งในฐานะเจ้าอาวาสวัดคลองวาฬและในฐานะเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

     ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ปรากฏว่ามีนักเรียนสามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค คือพระมหาสมบูรณ์ ปญฺญาสมฺปุณฺโณ (ปัจจุบันคือ พระศรีวราภรณ์ พำนักอยู่ที่วัดปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร) นับเป็นรูปแรกของสำนักเรียนวัดคลองวาฬและของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมการศาสนาจึงได้ยกย่องให้เป็นสำนักเรียนตัวอย่าง ในปีถัดมาวัดคลองวาฬก็ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๙๒ - ๒๕๒๙  เป็น เจ้าอาวาสวัดคลองวาฬ
พ.ศ. ๒๕๑๐  เป็น เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 เจ้าคณะอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

มรณกาล


     พระราชธรรมาภรณ์ (หวล สุขิโต) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๙ สิริอายุของท่านได้ ๖๙ ปี พรรษา ๔๙

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูศรัทธาโศภิต
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุเมธีวรคุณ นิปุณคีรีเขต ชลขันธประเวศน์ สังฆปาโมกข์ [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชธรรมาภรณ์ บวรธรรมานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๕, ตอนที่ ๑๒๒ ง, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑, หน้า ๓
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๕, ตอนที่ ๓๔ ง, ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๑, หน้า ๓
วัดคลองวาฬ


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook