|
VIEW : 1,265
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลบรรพชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ (อายุ ๑๘ ปี) ณ วัดโตนด ตำบลบางยี่โร อำเภอขันเงิน จังหวัดหลังสวน โดยมี พระธรรมารามคณีสุปรีชา สังฆปาโมกข์ (หนู อชิโต) เจ้าคณะจังหวัดหลังสวน และเจ้าอาวาสวัดโตนด เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อบรรพชาเรียบร้อยแล้ว ได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดกรุงเทพฯ
ต่อมา สามเณรเปียก ชูชจร ได้อุปสมบท เมื่อวันพุธที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อายุ ๒๐ ปี ณ พัทธสีมา วัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดกรุงเทพฯ โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะที่ครองสมณศักดิ์ที่ “พระญาณวราภรณ์” พระเทพกวี (มณี ลมกุล) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ขณะที่ครองสมณศักดิ์ที่ “พระราชกวี” ภายหลังแล้วได้ลาสึกขา พระเทพมงคลรัตนมุนี (แก้ว อตฺตคุตฺโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขณะที่ครองสมณศักดิ์ที่” “พระครูประสาทพุทธปริตร” ฐานานุกรมใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส การอุปสมบทครั้งนี้ในอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิสรอุดมเดช ได้รับฉายาว่า “จตฺตาลโย แปลว่า ผู้มีอาลัยอันสละแล้ว”
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยค ในระหว่างศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ท่านได้ช่วยเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ดูแลห้องสมุดมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นผู้อบรมศีลธรรมแก่นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศวิหาร บางคราได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงนาคหลวง จึงเป็นที่คุ้นเคยกับท่านผู้ใหญ่ที่มาอุปสมบท
พ.ศ. ๒๔๗๑ พระธรรมารามคณีสุปรีชา สังฆปาโมกข์ (หนู อชิโต) ได้ขอให้ท่านกลับมาช่วยศาสนากิจที่วัดโตนด เพื่อเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนวัดโตนด และเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดหลังสวน
พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านได้ศึกษาปรัยัติธรรมแผนกบาลี จนสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค อยู่ช่วยงานพระอุปัชฌาย์ต่อไป
พ.ศ ๒๔๗๕ พระธรรมารามคณีสุปรีชา สังฆปาโมกข์ (หนู อชิโต) ได้อาพาธหนักด้วยโรคชรา ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดโตนด และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอสวี จังหวัดชุมพร
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระธรรมารามคณีสุปรีชา สังฆปาโมกข์ (หนู อชิโต) ถึงแก่มรณภาพ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโตนดแทนพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร (ธรรมยุต)
พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดชุมพร
พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญในคณะธรรมยุตติกนิกาย เมื่อทางคณะสงฆ์แยกการปกครองตามสายนิกาย
พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ธรรมยุต)
นักธรรมชั้นเอก |
เปรียญธรรม ๔ ประโยค |
พ.ศ. ๒๔๗๒ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค |
พ.ศ. ๒๔๗๑ | เป็น เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดหลังสวน |
พ.ศ. ๒๔๗๕ | เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโตนด |
พ.ศ. ๒๔๗๕ | เป็น เจ้าคณะอำเภอสวี |
พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๕๑๒ | เป็น เจ้าอาวาสวัดโตนด |
พ.ศ. ๒๔๗๙ | เป็น เจ้าคณะอำเภอหลังสวน (ธ) |
พ.ศ. ๒๔๘๑ | เป็น ผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดชุมพร |
พ.ศ. ๒๔๘๔ | เป็น พระอุปัชฌาย์ วิสามัญ ในคณะธรรมยุตติกนิกาย เมื่อทางคณะสงฆ์แยกการปกครองตามสายนิกาย |
พ.ศ. ๒๔๙๔ | เป็น เจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ธ) |
ท่านได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีความรู้เชี่ยวชาญระเบียบ แบบแผน ประเพณี ศาสนพิธีและกิจการอื่นๆ ทั้งฝ่ายบรรชิต -ฆราวาส ในการจัดงานพิธีได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่ไว้วางใจของ เจ้าคณะจังหวัดชุมพร และท่านเจ้าคุณพระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกสโล) อยู่เสมอตั้งแต่ท่านยังเป็นพระเปรียญ จนท่านเจ้าคุณพระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกสโล) เอ๋ยปากชมว่า “ในชุมพรจะทำอะไรเป็นการใหญ่แล้ว ไม่ได้ปรึกษาท่านมหาก่อนแล้ว ไม่ค่อยสะดวกปลอดโปร่ง”
พระราชธรรมเวที เป็นผู้สมานสามัคคีในคณะสงฆ์ไม่ถือเราเขา ถือหมู่ ถือคณะ มีอะไรเกิดขึ้น ก็พยายามไกล่เกลี่ยให้เรียบร้อยได้เสมอ
พระราชธรรมเวที ปกครองคณะสงฆ์ด้วยความเมตตากรุณา ถ่อยทีถ่อยอาศัย มีเหตุมีผล จึงเป็นที่เคารพนับถือของพระสงฆ์ทั้งสองนิกายเป็นอย่างมาก
ท่านปกครองวัดโตนด แม้ไม่ได้ปฏิสังขรณ์ให้ดีเด่น แต่ท่านก็รักษาให้คงอยู่ในสภาพเดิม จนชาวบ้านบางคนตำหนิว่าท่าน เฉยๆแฉะๆ สมชื่อว่าเปียก ท่านทราบดีว่าเขาตำหนิท่าน แต่ท่านเห็นว่าอ่อนดีกว่าแข็ง ถ้าแข็งแล้วมันจะหัก หักแล้วจะต่อให้สนิทเหมือนเดิมคงยาก
พระราชธรรมเวที เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณของท่านเป็นอย่างมาก เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญคล้ายวันมรณภาพ พระธรรมารามคณีสุปรีชา สังฆปาโมกข์ (หนู อชิโต) ทุกวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ของทุกปี ที่วัดโตนดต้องจัดขึ้นเป็นประเพณีถึงปัจจุบัน
พระราชธรรมเวที เคยเล่าให้ศิษย์ฟังว่า เมื่อเป็นสามเณรวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านฝันว่ามีผู้เฒ่ามาดูโชคชะตาให้ท่าน ท่านถามว่าท่านจะมีอายุเท่าไรถึงสิ้นอายุขัย ชายผู้นั้นไม่ตอบ แต่คลี่กระดาษที่พับไว้ออกลักษณะเหมือนใบลาน ภายในตอนหนึ่งเขียนเลข ๖๗ ผู้เฒ่าจึงชี้ไปที่เลขนั้น ในคืนที่ท่านเดินทางจากอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ถึงวัดราชผาติการาม ก่อนรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล พอรู้สึกตัวท่านกล่าวทันทีว่า เราอายุ ๖๗ ปีแล้ว แต่ก็มาทราบเรื่องภายหลังที่ท่านมรณภาพแล้วเช่นกัน
พระราชธรรมเวที มีโรคประจำตัวอยู่ คือ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไม่สบายเล็กน้อยโรคจะกำเริบ ทำให้ไอหอบแต่ก็รักษาด้วยตนเอง โดยใช้ยารักษาเองตามอาการจนทุเลาอยู่เสมอ
เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านเดินทางไปเจริญพระพุทธมนต์ที่กองพันทหารบกจังหวัดชุมพร ในพิธีปฏิญาณตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล เมื่อกลับถึงวัดได้สองวันท่านอาพาธเป็นหวัด ต่อมามีไข้สูง คณะศิษย์เห็นว่าอาการหนักมาก รุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน จึงนำตัวท่านไปรักษาต่อที่กรุงเทพ ถึงวัดราชผาติการาม เวลา ๒๐.๐๐ น. ต่อมา เวลา ๒๑.๓๐ น. ได้เชิญนายแพทย์เสริมศักดิ์ เพ็ญชาติ มาตรวจอาการ แล้วส่งตัวท่านไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี คืนนั้นท่านอ่อนเพลียมาก หายใจติดขัด ต้องทำการเจาะคอช่วยการหายใจ เช้าวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน อาการดีขึ้น รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถพูดได้ แต่เขียนหนังสือบอกอาการเริ่มต้นได้ จากนั้นตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน เป็นต้นมา ท่านไม่รู้สึกตัว และท่านถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เวลา ๑๘.๓๐ น. ด้วยระบบทางเดินหายใจล้มเหลว สิริอายุ ๖๗ ปี พรรษา ๔๗
ทางจังหวัดชุมพร นำโดย นายประพัฒน์ บุญช่วย ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระอโนมคุณมุนี (สุบิน ปิยธโร) รักษาการเจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ธรรมยุต) ได้กำหนดจัดงานพระราชทาน เพลิงศพพระราชธรรมเวที (เปียก จตฺตาลโย) ในวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ณ เมรุชั่วคราววัดโตนด ตำบลบางยี่โร อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระครูธรรมวิจิตรอุดมปัญญา
|
๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญ
ที่ พระธรรมารามคณี
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็น
พระราชาคณะชั้นราช
ที่ พระราชธรรมเวที ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลาจารคุณาภรณ์ ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[1]
|
1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๐, ตอนที่ ๑๒๒ ง, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖, หน้า ๓ |
เอกสารอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชธรรมเวที (เปียก จตฺตาลโย) ณ เมรุชั่วคราววัดโตนด ตำบลบางยี่โร อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ในวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓. |
นายอิสราพงศ์ โคสวิดา : เรียบเรียง |
เกรียงศักดิ์ เมฆสุข |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook