|
VIEW : 957
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล***สมัยก่อน พ.ศ. ๒๔๘๔ ศักราชไทยจะเปลี่ยนในเดือนเมษายน และการนับปีนักษัตรก็จะนับวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ในการเปลี่ยนปีนักษัตร หรือวันปีใหม่แบบโบราณ
เป็นบุตรของ โยมบิดาบุญเรือง และ โยมมารดาบุญเพ็ง สมัยนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล (พระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ สมัย ร.๖) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๒ คน และมีน้องสาวต่างมารดา ๒ คน ดังนี้
- พี่น้องร่วมบิดามารดา (แม่บุญเพ็ง)
๑. พระบุญรอด (พี่ชาย) อุปสมบทแล้วไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ และได้มรณภาพ ณ ที่นั้นเอง เมื่ออายุ ๒๖ ปี ๖ พรรษา
๒. นายบุญมี หรือ พระครูสุวรรณสารธารี (บุญทอง ปุณฺณสุวณฺโณ) เมื่อมีอายุได้ ๗ เดือน ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ นางบุญเพ็งผู้เป็นมารดาได้ถึงแก่กรรม นางศรีพัฒ ผู้เป็นย่าได้รับเด็กชายบุญมีไปเลี้ยงดู ส่วนนายบุญเรืองผู้เป็นบิดา ได้มีภรรยาใหม่ มีบุตร ๒ คน
- น้องสาวต่างมารดา ๒ คน
๓.นางนวลจันทร์
๔.นางทองคำ
ต่อมาเด็กชายบุญมีอายุได้ ๗ ขวบ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๑ โยมย่าศรีพัฒ ได้นำไปฝากเป็นศิษย์วัดเพื่อเรียนอักขระสมัย กับ พระอาจารย์เนียม วัดพระอาสน์ ได้ศึกษาอยู่กับพระอาจารย์เนียม เป็นเวลา ๖ ปี ด้วยกัน จนมีความรู้ตามสมควรในสมัยนั้น สามารถที่จะใช้เป็นวิชาประจำกายได้ จึงได้กราบลาพระอาจารย์เนียมกลับบ้านเพื่อดูแลโยมย่าศรีพัฒ เป็นเวลา ๒ ปี ก่อนที่จะบรรพชาเป็นสามเณร
บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ วัดพระอาสน์ โดยมี พระอาจารย์เนียมเป็นพระอาจารย์ในการบรรพชา โดยบรรพชาได้ ๑ ปีเศษสามเณรบุญมีก็ได้ลาสิกขา (อายุ ๑๖ ปี พ.ศ. ๒๔๓๐)
เมื่ออายุย่างเข้า ๒๑ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๕ นายบุญมีประสงค์จะอุปสมบท เกิดเหตุโยมย่าศรีพัฒได้ป่วยหนัก และได้เตรียมเครื่องบริขารไว้เรียบร้อยแล้ว นายบุญมีจึงมอบเครื่องบริขารทั้งหมดให้โยมย่าศรีพัฒ เพื่อให้โยมย่าได้มีส่วนกุศลในการอุปสมบทของตน โยมย่าศรีพัฒได้ยกเครื่องบริขารทูลหัว แล้วส่งให้หลานบุญมี หลังจากนั้นไม่นาน โยมย่าศรีพัฒก็ได้สิ้นใจไปอย่างสงบ
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบุญทอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ณ พัทธสีมาวัดโทตรี อำเภอท่าศาลา โดยมี พระครูแก้ว วัดจันพอ เจ้าคณะแขวงปากหราม เป็นพระอุปัชฌาย์ (ขณะนั้นพระครูแก้ว มีอายุ ๕๒ ปี พรรษา ๒๒) พระอาจารย์เนียม วัดพระอาสน์ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ปุณฺณสุวณฺโณ” แปลว่า ผู้บริบูรณ์ไปด้วยทอง ดังชื่อที่เปลี่ยนจากบุญมี เป็น บุญทอง
***แขวงปากหรามต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงท่าศาลา และ อำเภอท่าศาลาในปัจจุบัน
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุได้จำพรรษา ณ วัดพระอาสน์ ๒ พรรษา ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้เดินทางไปศึกษาพระปริบัติธรรม ณ วัดเสมาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๑ พรรษา ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม และการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๙ พรรษา จากนั้นได้เดินทางกลับมายังบ้านเกิด และได้จำพรรษา ณ วัดพระอาสน์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จวบจนมรณภาพ
พ.ศ. ๒๔๕๕ | เป็น เจ้าอาวาสวัดพระอาสน์ |
พ.ศ. ๒๔๕๗ | เป็น รองเจ้าคณะแขวงท่าศาลา |
พ.ศ. ๒๔๕๗ | เป็น พระอุปัชฌาย์ |
พ.ศ. ๒๔๘๑ | เป็น เจ้าคณะตำบลไทยบุรี |
พระครูสุวรรณสารธารี (บุญทอง ปุณฺณสุวณฺโณ) หรือพ่อท่านทอง วัดพระอาสน์ ท่านเป็นพระภิกษุผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เชี่ยวชาญในวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง มีศิษยานุศิษย์มากมาย อีกทั้งท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ท่านเป็นพระที่เมตตาสูง สมถะ เรียบร้อย เป็นพระนักพัฒนา นักบุกเบิก นักสร้าง ทั้งเสนาสนะ อุโบสถ ศาลา กุฏิ ห้องน้ำ และพัฒนาถาวรวัตถุอื่น ๆ มากมาย ทั้งยังบำรุงการศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม โดยจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อบรมสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา และศาสนกิจอื่น ๆ ตลอดชีวิตในร่มผ้ากาสาวพัสตร์
อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ (ขณะนั้นพ่อท่านทองอายุ ๘๑ ปี) ได้มีการปั้นรูปเหมือนเท่าองค์จริงด้วยปูนไว้เป็นที่ระลึก โดยการจัดการของคุณครูกลิ่น เชาวลิต เป็นผู้ริเริ่มและจัดการ โดยรวบรวมระดมทุนจากศิษยานุศิษย์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ มณฑปวัดพระอาสน์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีก ๑ พระบุรพาจารย์ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประจักษ์ในความเป็นพระอริยสงฆ์ และคุณงามความดีเป็นอนุสรณ์รำลึกถึง ควรแก่การยกย่องบูชา
พระครูสุวรรณสารธารี (บุญทอง ปุณฺณสุวณฺโณ) ได้อาพาธด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะเมีย ณ วัดพระอาสน์ สิริอายุ ๘๓ ย่างเข้าสู่ปีที่ ๘๔ พรรษาที่ ๖๓ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลไว้ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ทำการปิดศพไว้ ๑ ปีเศษ ต่อมาได้ประกอบพิธีฌาปนกิจศพเมื่อ วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ เมรุชั่วคราว วัดพระอาสน์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็น
พระครูประทวนสมณศักดิ์
|
พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระปลัด บุญทอง ปุณฺณสุวณฺโณ
ฐานานุกรมใน พระครูวิสุทธิจารี (พุ่ม อินฺทสโร) เจ้าคณะแขวงท่าศาลา วัดจันพอ
|
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล
ที่ พระครูสุวรรณสารธารี
|
ประวัติพระครูสุวรรณสารธารี (บุญทอง ปุณฺณสุวณฺโณ) และคำกลอนสดุดีอุปัชฌานุสรณ์ โดย คุณครูกลิ่น เชาวลิต จากหนังสือ สดุดีเด็กๆ เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป พิมพ์แจกที่ระลึกในการฌาปณกิจศพ พระครูสุวรรณสารธารี ณ วัดพระอาสน์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๙๙. |
ข้อมูลเจ้าคณะแขวง ร.ศ.๑๑๗-๑๑๘ (พ.ศ.๒๔๔๑-๒๔๔๒) จากบันทึก ของ พระศิริธรรมมุนี หรือ พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) อดีตเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช จากหนังสืองานสมโภช ๑๐๐ ปี สถาปนาพระอารามหลวง วัดท่าโพธิ์วรวิหาร อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช ๙-๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐. |
หนังสือราชกิจจานุเบกษา เรื่อง สมณศักดิ์พระสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๑. |
จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี : ค้นคว้า/เรียบเรียง/เผยแพร่ |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook