พระครูแบน ธมฺมรโต | พระสังฆาธิการ

พระครูแบน ธมฺมรโต


 
เกิด ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๕
อายุ ๘๔ ปี
อุปสมบท ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙
พรรษา ๖๐
มรณภาพ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
วัด วัดแหลมทอง
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 2,860

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูแบน ธมฺมรโต มีนามเดิมว่า แบน พรหมสวาสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะโรง ณ บ้านไล่ แขวงโฉลก เมืองไชยา ปัจจุบันเป็นพื้นที่ หมู่ ๕ ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรของนายแก้ว นางเมียน พรหมสวาสดิ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑ คน ชื่อ นางศรี มาหอม

     ในวัยเด็กได้เข้าศึกษาอักขระสมัย ในสำนักของพระอธิการยืด วัดพระพรหม และได้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์จากนายพรัด จากนั้นได้ศึกษาวิชาต่อกระดูกจากนายดี รักษ์สุข


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่ออายุ ๒๔ ปี วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง ณ วัดพระพรหม อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี พระครูยุตตโกฏฐยติกิจ (เนียม พุทฺธรกฺขิโต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูเนียม วัดบางน้ำจืด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูรัตนวิมล (แบน มณีรตโน) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระแบน วัดอินทาราม (ท่าเคย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการช่วย (รัตนวิจิตร) วัดพระพรหม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ธมฺมรโต” แปลว่า ผู้ยินดีในธรรม

     หลังจากการอุปสมบท พระแบน ธมฺมรโต ได้จำพรรษา ศึกษาพระธรรมอยู่ ณ วัดพระพรหม ศึกษาพระธรรมมาเรื่อยๆ จนอายุพรรษาเพิ่มขึ้นพอที่จะปกครองวัดได้ ทางพระสมุห์แบน มณีรตโน วัดท่าเคย (พระครูรัตนวิมล) เจ้าคณะตำบลท่าเคย จึงแต่งตั้งให้พระแบน ธมฺมรโต ปกครองสงฆ์เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพรหม เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพรหมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพรหมอยู่ระหนึ่ง จนถึงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทางวัดแหลมทอง(วัดแหลมโทง) ในบาง คลองฉนาก บ้านดอน เจ้าอาวาสได้ว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันมาอาราธนานิมนต์ พระแบน ธมฺมรโต จากวัดพระพรหม ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมทอง ท่านก็รับนิมนต์เนื่องมาจากเหตุผลที่ท่านเห็นว่าวัดพระพรหมนั้น มีความพร้อมในทุกได้านแล้ว ท่านจึงอยากพัฒนาวัดที่ยังไม่เจริญให้เจริญขึ้น

     เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมทอง ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญขึ้นมากมาย สร้างอุโบสถ ศาลาโรงธรรม กุฏิสงฆ์ต่างๆ รวมทั้งสงเคราะห์ญาติโยมจากทั่วสารทิศที่มาพึ่งบารมีท่าน พ่อท่านแบนได้ส่งเสริมการศึกษา สร้างโรงเรียนขึ้น จึงเรียกท่านว่า พระครูแบน ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เปี่ยมด้วยเมตตา ท่านมีวิชาต่อกระดูกที่เลื่องลือ เอาเป็นว่า ถ้ามีผู้ป่วยเกี่ยวกับกระดูกแตกหรือกระดูกหักที่โรงพยาบาลรักษาไม่ได้แล้ว มาหาพ่อท่านแบน ท่านรักษาให้หายได้ทุกรายไป ยกเว้นแต่ชิ้นส่วนหลุดหาย ท่านเป็นพระหมอกระดูกที่เลื่องลือมากๆ ท่านเชี่ยวชาญมากในวิชาแขนงนี้

     ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส กล่าวขานกันว่าท่านเป็นพระที่ดุ แต่เนื้อใจความจริงแล้วนั้น ท่านคือแบบอย่างของความดีด้านการเสียสละ อุทิศตนช่วยเหลือ เมื่อถ้าท่านเห็นว่าอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรท่านก็ต้องดุด่าเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งนั้นซ้ำอีก เนื้อในแล้วนั้นท่านเปี่ยมไปด้วยความเมตตา แต่ในเรื่องของความเด็ดขาดนั้น เป็นอุปนิสัยของท่านเองตามลักษณะของบุคคลทั่วไป เช่นคำกล่าวที่ว่า แม้แต่พระอรหันต์ ยังมีจริตที่ต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันที่จะพ้นทุกข์

     วัดแหลมทองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเดินทางไปวัดไปได้ทางเดียว คือ ทางเรือ ในสมัยพ่อท่านแบนยังดำรงขันธ์อยู่นั้น ท่าเรือหน้าวัดไม่ได้ว่างลำเรือ มีสาธุชนผู้มาขอพึ่งบารมีเป็นจำนวนมากมาย อีกทั้งยังมีที่ต้องนอนค้างแรมที่วัดเพื่อทำการรักษาอีกด้วย ท่านก็ช่วยสงเคราะห์ให้ทุกรายไป

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๗๒  เป็น เจ้าอาวาสวัดพระพรหม
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น เจ้าอาวาสวัดแหลมทอง

มรณกาล


     เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พระครูแบนได้เกิดอาพาธเป็นหวัดมีไข้ ทางคณะศิษย์ก็ได้จัดยาถวายตามสมควร แต่อาการไข้ไม่ทุเลาลง มีแต่สูงขึ้น ประกอบกับท่านที่มีอายุเยอะแล้ว ทางคณะศิษย์จึงได้นำท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีทางหมอก็ได้รักษาอย่างเต็มความสามารถ แต่ท่านก็มีแต่ทรุด สุดจะเยียวยาได้ สุดท้ายท่านได้ละสังขารอย่างสงบในตอนเช้า เวลา ๐๙.๓๐ น. ของวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะโรง สิริอายุ ๘๔ ปี พรรษา ๖๐


ผู้แนะนำข้อมูล


จักรกฤษณ์ แขกฮู้ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook