พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (มี อินฺทสุวณฺโณ) | พระสังฆาธิการ

พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (มี อินฺทสุวณฺโณ)


 
เกิด ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๑
อายุ ๙๗ ปี
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๔๒
พรรษา ๗๕
มรณภาพ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗
วัด วัดสำเร็จ
ท้องที่ สุราษฎร์ธานี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 2,089

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระครูทีปาจารคุณารักษ์ มีนามเดิมว่า มี บุญสิน เกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน ๕ ปีขาล สัมฤทธิศก ร.ศ. ๙๗ จ.ศ. ๑๒๔๐ เป็นบุตรคนที่ ๒ ในบรรดาพี่น้องทั้ง ๙ คน ของ นายสม -นางไหม บุญสิน ภูมิลำเนา ณ บ้านตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี


การศึกษา

     ในวัยเด็กได้ศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้นกับคุณตาของท่านเอง ต่อมาเมื่ออายุได้ ๗ ปี ก็ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนภายในวัดตามสมัยนิยมในสมัยนั้นกับครูที่มาจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช จนสามารถอ่านออกเขียนได้


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ณ วัดประเดิม ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมี พระครูวิบูลย์ธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์(รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "อินฺทสุวณฺโณ"

     หลังจากอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาที่วัดสำเร็จ ซึ่งท่านพระครูวิบูลย์ธรรมสาร (เพ็ชร์ ติสฺโส) เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้น ท่านได้ศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของ หลวงพ่อเพ็ชร์ ติสฺโส เรียนพระสูตรต่างๆจนสามารถท่องจำได้ ท่านมีความขยันหมั่นเพียรและปฏิบัติพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัดและได้ร่วมออกธุดงค์รอบเกาะสมุยกับ หลวงพ่อเพ็ชร์ ติสฺโส และพระครู ศรีฟ้า (คุณพ่อคุณครูพิศาล ศรีฟ้า) เริ่มออกธุดงค์ที่ป่าช้าวัดสำเร็จ พักตามป่าช้าต่างๆ หลายแห่ง แต่ละแห่งใช้เวลาไม่เท่ากัน ๑ คืนบ้าง ๒ คืนบ้าง บางแห่งนอนบนหลุมศพโดยไม่รู้ตัว การออกธุดงค์รอบเกาะสมุยใช้เวลาเป็นแรมเดือน เพราะบางแห่งเมื่อไม่สบายก็ต้องกลับมาพักผ่อนที่วัดก่อน มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อมาเมื่อเที่ยวจาริกภายในเกาะสมุยโดยรอบครบทุกจุดแล้ว ได้ออกไปสู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ หลวงพ่อมี ท่านได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อในต่างจังหวัด อาทิเช่น ไปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี , ชุมพร , ระนอง ,นครศรีธรรมราช , ตรัง และภูเก็ต โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต ได้อยู่จำพรรษาที่วัดมงคลนิมิตร ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ตในสมัยนั้นเพื่อเตรียมสืบเรือเดินสมุทร เพื่อจะเดินทางไปประเทศศรีลังกาและอินเดีย การออกธุดงค์ในครั้งนั้นใช้เวลาเป็นแรมปีจึงได้เดินทางกลับมายังเกาะสมุย อยู่จำพรรษาที่วัดสำเร็จ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ตามเดิม ต่อมา หลวงพ่อเพ็ชร์ ติสฺโส ผู้เป็นอาจารย์ได้เล็งเห็นถึงความอุตสาห์ตั่งมั่นในด้านวิริยะอุตสาหะและความศรัทธาในการศึกษา จึงได้ส่งตัว หลวงพ่อมี เข้าศึกษาบาลีต่อใน กรุงเทพมหานคร ไปประจำอยู่ในสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ซึ่งมีเพื่อนร่วมศึกษาในครั้งนั้นเท่าที่ทราบคือ พระธรรมถาวร (ชัย) อดีตเจ้าคณะ ๔ รองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ในสมัยนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(โสม)อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น

     ครั้นถึงกำหนดปี่ที่เข้าสอบบาลีใกล้เข้ามา ปรากฏว่า หลวงพ่อเพ็ชร์ ติสฺโส ผู้เป็นอาจารย์เกิดล้มป่วยอาพาธหนัก ท่านจึงได้ตัดสินใจไม่เข้าสอบ กลับมาพยาบาลอาจารย์เพื่อแทนคุณ ยอมสละการเรียน การสอบ การศึกษาในครั้งนั้น จนในที่สุด หลวงพ่อเพ็ชร์ ติสฺโส ก็ได้มรณภาพลงในปีนั้นที่วัดประเดิม ท่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นประธานเรื่องศพและงานพระราชทานเพลิงที่วัดสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย เมื่อเสร็จการบำเพ็ญศพ หลวงพ่อเพ็ชร์ ติสฺโส แล้วท่านได้ประจำอยู่ที่วัดสำเร็จ ตัดสินใจไม่ขึ้นไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ และรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสำเร็จในเวลาต่อมา ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ขณะนั้นท่านอายุได้ ๒๙ ปีเหตุผลประการสำคัญอีกประการหนึ่งที่ท่านยอมสละการศึกษาของท่านในขณะนั้นก็คือ ท่านคิดถึงอนาคตของเยาวชนเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงได้ชักชวนชาวบ้านในถิ่น จัดสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้น โดยท่านเป็นครูสอนเอง ขณะนั้นตามหัวเมืองต่างๆทางกระทรวงธรรมการยังไม่มีโรงเรียนที่จะให้การศึกษาแก่เยาวชน ท่านได้บุกเบิกจัดสร้างโรงเรียนร่วมกับประชาชน ๒ ตำบลที่วัดสำเร็จปัจจุบันขึ้น ๑ หลัง ชื่อ โรงเรียน"เมร็ต หรือ คงคาคีรี"แล้วรวมเฉพาะเด็กชายที่ฝากไว้ที่วัดเมร็ตขณะนั้น กับวัดประเดิม และวัดละไม รวมเด็กประมาณ ๕๐-๖๐ คน เปิดสอนนักเรียนขึ้นครั้งแรกในอำเภอเกาะสมุย เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๐ จนทางราชการยื่นมือเข้าช่วยเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๕ และทำหน้าที่ครูใหญ่อย่างเป็นทางการ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ต่อมาวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้ลาออกจากราชการ การเป็นครูใหญ่ เมื่ออายุได้ ๕๙ ปี เพราะต้องออกมารับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย รูปที่ ๔ ท่านได้ยึดระบบระเบียบอย่างเคร่งครัด จนทำให้ลูกศิษย์มีความประทับใจยึดเป็นแบบอย่าง และเกรงขามไปตามๆกันสำหรับผู้ที่นอกลู่นอกแบบ จนมีชื่อกระฉ่อนไปถึง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่นๆ ในสมัยนั้นท่านจนมีลูกศิษย์มากมายถึงปัจจุบัน

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๕๐  เป็น เจ้าอาวาสวัดสำเร็จ
พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๕๑๗  เป็น เจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย
พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็น พระอุปัชฌาย์

มรณกาล


     พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (มี อินฺทสุวณฺโณ) มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ สิริอายุรวม ๙๗ ปี พรรษา ๗๕

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็น พระใบฎีกา ฐานานุกรมใน พระครูวิบูลย์ธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) วัดประเดิม เจ้าคณะแขวงเกาะสมุยรูปที่ ๑
พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็น พระปลัด ฐานานุกรมใน พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ) วัดประเดิม เจ้าคณะแขวงเกาะสมุยรูปที่ ๓
พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็น พระครูประทวนสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูทีปาจารคุณารักษ์

ผู้แนะนำข้อมูล


ราเมศวร์ ทองสุข


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook