พระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต) | พระสังฆาธิการ

พระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต)


 
เกิด พ.ศ. ๒๔๑๙
อายุ ๘๒ ปี
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๓๙
พรรษา ๖๒
มรณภาพ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
วัด วัดบึงทองหลาง
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 690

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล


ชาติภูมิ

มีนามเดิมว่า พัก แย้มพิทักษ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๑๙ พื้นเพเดิมท่านเป็นคนอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เหตุที่ท่านมีชื่อ “พัก” นั้น เล่ากันว่า เพราะว่าโยมมารดาได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมเพื่อที่จะฝากครรภ์ ไว้ที่บ้านคุณตาคุณยาย ขณะที่หยุดพักใต้ร่มไม้ใหญ่ชายป่า เกิดเจ็บท้องกะทันหัน และได้คลอดบุตรชายออกมา จึงได้ตั้งชื่อว่า “เด็กชายพัก”


บรรพชาอุปสมบท

     เมื่ออายุ ๘ ขวบ โยมบิดาได้พาเข้ากรุงเทพ ฯ มาฝากให้เป็นศิษย์วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร คอยปรนนิบัติรับใช้ สมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อมีความคุ้นเคยกับวัดดีแล้วสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน)ได้เมตตา บรรพชาให้เป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรม รวมทั้งเรียนพุทธเทวมหามนต์ วิชาความรู้ทางช่าง บูรณะวัดและวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มีครูผู้สอน มีตำรับตำราตกทอดกันมา ศึกษาตำราการสร้างพระที่มีตกทอดสืบกันมา รวมถึงได้มีโอกาสได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานจากสำนักของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารด้วย

     ล่วงมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๓๙ อายุครบบวชได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร โดยมี สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมทตฺโต

     หลวงปู่พัก เป็นพระภิกษุที่ขยันหมั่นเพียร หมั่นฝึกฝนตนเอง ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ท่องบ่นพุทธเวทมหามนต์ชั้นสูงของสำนักวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารตลอดจนมีความสามารถในการเจริญจิตภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน มีความสามารถเชี่ยวชาญจนกระทั่งนำไปถ่ายทอดสอนให้แก่ผู้อื่น ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง จนกระทั่ง ๕ ปีผ่านไป ทางวัดบึงทองหลาง ซึ่งมีพระอธิการสิน เป็นเจ้อาวาส ได้มีหนังสือมายัง สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) ขอให้ส่งพระที่มีความรู้ มาช่วยดูแลวัดด้วยเพราะตัวท่านชราภาพมากแล้ว หลวงปู่พัก จึงได้รับคัดเลือกให้มาทำความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดบึงทองหลางตั้งแต่บัดนั้น ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส อีก ๕ ปีต่อมาพระอธิการสิน มรณภาพ หลวงปู่พัก ได้จัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ หลังจากนั้นจึงได้รับตราตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และอีก ๒ ปีต่อมา ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เรียนวิชาเพิ่ม ในช่วงเวลานั้น หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต ได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่ทอง อายะนะ วัดลาดบัวขาว (ราชโยธา) พระโขนง กทม. ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันว่าท่านเป็นพระแท้มีอาคมขลังเป็นที่นับถือของคนทั่วไปในย่านนั้น ท่านจึงพายเรือไปกราบนมัสการในฐานะพระผู้น้อยเคารพพระผู้ใหญ่ ต่อไปได้เห็นวัตรปฏิปทาของ หลวงปู่ทอง อายะนะ เพียบพร้อมน่าศรัทธา จึงบังเกิดความเลื่อมใส ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ วิชาการสร้างวัตถุมงคลให้ขลัง เรียนวิชาทำผงพุทธคุณ เรียนทำผงตรีนิสิงเห เรียนสูตรเขียนยันต์จนชำนาญ สำเร็จยันต์ถึงขั้นเคาะผงทะลุกระดานได้ หลวงปู่พัก ชอบยันต์นี้มาก และใช้ยันต์เป็นประจำต่อมา เมื่อท่านเขียนยันต์ตรีนิสิงเห ลงในตระกรุดผ้าประเจียด ผ้ายันต์ แจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหาญาติโยม ปรากฏว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านคงกระพันชาตรี ป้องกันเขี้ยวงา จนเป็นที่เลื่องลือ

     ศิษย์ร่วมสำนัก ศิษย์ฝ่ายสงฆ์ที่ไปขอเรียนวิชากับหลวงปู่ทอง อายะนะ วัดลาดบัวขาว (ราชโยธา) ได้พบกันในกุฏิยุคนั้น

     ๑. หลวงพ่อคง ธัมมโชโต
     ๒. พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (แช่ม)
     ๓. พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม สุวณฺณสโร)
     ๔. พระครูกรุณาวิหารี (เผือก ปัญญาธโร)
     ๕. พระครูธรรมสมาจารย์ (พัก ธมฺมทตฺโต)
     ๖. พระปลัดหุ่น สุวณฺณสโร
     ๗. หลวงพ่อเผือก (วัดลาดพร้าว)

     ซึ่งคณาจารย์ที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยคณาจารย์ล้วนแต่พายเรือลัดเลาะมาตามคลองเพื่อหาความรู้และหาครูบาอาจารย์ โดยมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือวัดลาดบัวขาว (ราชโยธา) เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์และศึกษาทางด้าน “เวทยาคม” จากหลวงปู่ทอง อายะนะ ทั้งสิ้น

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๕๐๑  เป็น เจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง
 พระอุปัชฌาย์



ที่มา


wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook