พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร วิ. (วัน อุตฺตโม) | พระสังฆาธิการ

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร วิ. (วัน อุตฺตโม)


 
เกิด ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕
อายุ ๕๘ ปี
อุปสมบท ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
พรรษา ๓๘
มรณภาพ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓
วัด วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม
ท้องที่ สกลนคร
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย


VIEW : 1,977

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร วิ. มีนามเดิมว่า วัน สีลารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ บ้านตาลโกน ตำบลตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ แหลม สีลารักษ์ มารดาชื่อ จันทร์ (มาริชิน) สีลารักษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน ๒ คน คือ ๑. พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ๒. นายผัน สีลารักษ์


เริ่มการศึกษา

     เมื่ออายุย่างเข้า ๑๐ ขวบ บิดาได้นำไปเข้าเรียนในโรงเรียนที่ศาลาวัดโพธิชัยเจริญ เรียนต่อถึงประถมปีที่ ๓ บิดาก็ถึงแก่กรรม จึงเป็นความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงแก่พระอาจารย์วัน เป็นครั้งที่ ๒ ถึงแม้จะได้รับความเศร้าโศกเพราะบิดาจากไป แต่การเล่าเรียนก็หาได้หยุดลงไม่ ฝ่ายญาติผู้ดูแลคงปลอบโยนให้หายเศร้าโศก และได้ศึกษาเล่าเรียนต่อมา จนจบประถมปีที่ ๔ ส่วนชั้นเรียนที่สูงขึ้นไปคือ ป. ๕ ป. ๖ ทางการได้สั่งยุบไปเสียก่อน ๆ ที่จะได้เรียน

     ในสมัยที่กำลังเล่าเรียนอยู่นั้น วิชาที่พระอาจารย์วัน ถนัดและทำคะแนนได้ดีคือวิชาเลขคณิต สำหรับวิชาอื่น ๆ ปรากฏว่าคะแนนไม่ค่อยดี

     ตามความตั้งใจของบิดานั้น ท่านต้องการให้พระอาจารย์วันเรียนกฎหมาย เพราะเป็นบุตรคนโต แต่ต่อมาเมื่อบิดาถึงแก่กรรมไปเสียก่อน ความหวังที่จะเรียนต่อก็พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อบิดาถึงแก่กรรมลง จึงเป็นภาระของพระอาจารย์วัน ที่จะต้องทำงานต่างๆ ที่ตนสามารถจะทำได้ อาทิเมื่อถึงฤดูทำนาจะต้องช่วยปู่ไถนา เนื่องจากอาส่วนมากเป็นผู้หญิง จากบันทึกประวัติของท่านบอกว่า รับหน้าที่ไถนา แต่คราดนาไม่ได้เพราะยกคราดไม่ไหว

     นับว่าพระอาจารย์วัน ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าแม่ตั้งแต่อายุย่างเข้า ๓ ขวบ และเป็นกำพร้าพ่อเมื่ออายุได้ ๑๓ ขวบ ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความว้าเหว่ซึ่งไม่มีใครจะบอกได้ว่าหนักเพียงไร นอกจากตัวของท่านเอง ซึ่งเป็นผู้ประสบ ส่วนการงานอย่างอื่น ถึงจะหนัก แต่ยังมีผู้ช่วยเหลืออยู่บ้าง ความผันผวนในชีวิตส่วนตัวดังกล่าวมานี้เอง ทำให้พระอาจารย์วัน กลายเป็นเด็กเจ้าความคิดมาตั้งแต่เด็ก


ออกบรรพชา

     เมื่อสิ้นร่มโพธิ์ร่มไทรลงแล้ว พระอาจารย์วัน ก็เริ่มมีชีวิตอยู่อย่างว้าเหว่ แม้ว่าตระกูลของปู่ เป็นตระกูลที่พอมีอันจะกิน ตามฐานะของชาวชนบท แต่ความรู้สึกภายใน ที่ประสบกับความพลัดพรากจากไป ของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ผู้เอาอกเอาใจ ผู้ให้ความอบอุ่น ผู้ปกป้อรักษาในทุก ๆ ด้าน ก็คงมีสภาพไม่ผิดอะไรกับคนที่มีบ้านใหญ่โต แต่ถูกพายุหนุนหอบไปกับสายลม แม้จะมีหน่วยสงเคราะห์ให้ความเมตตา ก็ไม่สามารถทดแทนความอาลัยนั้นได้ จึงทำให้เด็กชายวันคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะขณะที่บิดาของท่านกำลังเจ็บหนัก ได้สั่งเสียไว้ว่า

     “เมื่อออกโรงเรียนแล้ว ขอให้ลูกบวชให้พ่อ ก่อนจะคิดเรื่องอื่น ๆ จะอยู่ได้ในศาสนานานเท่าไรไม่บังคับ

     คำสั่งเสียนี้แหละ เป็นเครื่องกระตุ้นอันสำคัญอีกแรงหนึ่ง ที่ทำให้เด็กชายวันตัดสินใจออกบวช

     วันหนึ่งจึงเข้าไปกราบลาปู่โดยกล่าวสั้น ๆ ว่า “ขอไปบวช” ปู่ได้ยินหลานมาออกปากกราบลาอยู่ซึ่งหน้าเช่นนั้น ถึงกับพูดไม่ออก เพราะความรักความอาลัยในหลาน แต่พระอาจารย์วันก็ไม่ลดละความพยายาม ผลสุดท้าย ปู่ก็จำต้องอนุญาตให้บวชด้วยความอาลัย

     เมื่อตัดสินใจบวชแน่นอนแล้ว พระอาจารย์วัน ได้ถูกนำตัวไปฝากไว้กับท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านตาลโกนไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร

     ในการไปบวชครั้งนี้ ก็ได้ให้เงินติดตัวไปด้วย ๑ บาท เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นในการใช้จ่ายมากนัก เมื่อไปอยู่วัดระยะแรก ๆ ก็ยังไม่รีบร้อนอะไร เพราะตามธรรมดา เด็กที่ไปอยู่วัดกรรมฐาน จะต้องได้รับการฝึกให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ให้เป็นเสียก่อน หมายความว่าเด็กจะได้รับการอบรมในข้อวัตรต่าง ๆ เช่นการปฏิบัติตนต่อพระภิกษุสามเณร ต่อบุคคลโดยทั่วไป รวมทั้งกิริยามารยาทในอิริยาบถต่าง ๆ ตลอดจนการฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาไปด้วย เป็นเวลาหลายเดือน บางคนเป็นปีหรือหลายปี แล้วแต่อาจารย์จะเห็นเหมาะสม เพราะถ้าหากได้รับการฝึกหัดดีแต่เบื้องต้น เมื่อบวชเข้ามาแล้ว อาจารย์ก็ไม่ต้องยุ่งยากลำบากในการแนะนำสั่งสอนบ่อย ๆ

     สำหรับพระอาจารย์วัน พอไปอยู่วัดไม่นาน ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ก็บอกให้ท่องคำขอบรรพชา ประจวบกับโอกาสอำนวย กล่าวคือขณะที่กำลังท่องคำขอบรรพชาอยู่นั้น พอดี ท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระธรรมเจดีย์ จูม พนฺธุโล) กลับจากไปงานผูกพัทธสีมาที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี แวะพักที่วัดศรีบุญเรือง บ้านงิ้ว ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน ท่านพระอาจารย์วัง จึงนำไปบรรพชา ณ วัดศรีบุญเรือง เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ (ขณะนั้นพระอาจารย์วันมีอายุ ๑๕ ปี) โดยมี พระเทพกวี เป็นพระอุปัชฌายะ

     เมื่อได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระอาจารย์วัน ได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส ๒ พรรษา จากนั้นท่านพระอาจารย์วังก็พาท่านออกเที่ยววิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ เมื่อใกล้เข้าพรรษา พระอาจารย์ก็พาไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอท่าบ่อศรีสงคราม อีก ๒ พรรษา รวมเป็นเวลา ๔ พรรษาที่ได้อบรมในทางปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์วัง

     พอย่างเข้าพรรษาที่ ๕ จึงกราบลาอาจารย์เพื่อไปศึกษาทางฝ่ายปริยัติธรรมที่วัดสุทธาวาส อันที่จริงวัดสุทธาวาสในสมัยนั้นก็เป็นวัดป่า ฉันอาหารมื้อเดียว ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ก็เหมือนวัดป่าทุกอย่าง เพียงแต่เพิ่มการศึกษาปริยัติธรรมเข้าไปเท่านั้น

     การศึกษาด้านปริยัติธรรมของพระอาจารย์วัน ได้เริ่มต้นเรียนนักธรรมชั้นตรีที่วัดสุทธาวาสนี้ ระหว่างสอบนักธรรม ฝรั่งได้เอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองสกลนคร ชาวเมืองต้องหลบภัยหนีไปอยู่นอกเมือง ปล่อยให้เป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง แต่ญาติโยมก็ได้จัดอาหารแห้งไปมอบให้สามเณรทำอาหารถวายพระ โดยเฉพาะ คุณโยมนุ่ม ชุวานนท์ พร้อมด้วยคณะญาติ ได้มอบอาหารไว้สำหรับทำถวายพระเณรทุก ๆ เช้า

     ในขณะที่บ้านเมืองกำลังประสบภัยสงคราม คล้ายบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะอำนาจลูกระเบิดฝรั่ง ดูเป็นภัยที่น่าสะพรึงกลัวอย่างหนึ่งในสมัยนั้น จึงมีเรื่องแปลก ๆ ขำ ๆ มาเล่าสู่กันฟังในภายหลังได้เสมอ แม้แต่เรื่องเกี่ยวกับพระอาจารย์วันก็มีเช่นกัน

     กล่าวคือ ภิกษุสามเณรต่างก็ขุดหลุมหลบภัยกันตามคำแนะนำของทางราชการบ้านเมือง พระอาจารย์วัน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณรก็ขุดหลุมหลบภัยกับเขาเช่นกัน แต่แทนที่จะขุดเป็นหลุมใหญ่เช่นคนอื่น ๆ กลับขุดเป็นหลุมเล็ก ๆ ลงไปได้เฉพาะคนเดียว

     วันหนึ่งขณะที่เครื่องบินกำลังบ่ายโฉมหน้าจะมาทิ้งระเบิดเช่นเคย เสียงเตือนภัยทางอากาศก็ดังกังวานขึ้น ประชาชนพลเมืองพระเณรต่างก็วิ่งเข้าที่หลบภัยกันจ้าละหวั่นด้วยความตกใจ พระสงฆ์บางองค์วิ่งไปลงหลุมของคนอื่น เลยถือโอกาสหลบอยู่เลยก็มี

     หลุมหลบภัยของสามเณรวัน ขณะที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดนั้น ปรากฏว่ามีพระสงฆ์โจนลงไปหลบภัยอยู่ก่อนแล้วสามองค์ สามเณรวันจึงลงไปอัดอยู่เป็นองค์ที่สี่ หลุมหลบภัยที่ทำไว้เฉพาะคนเดียวเมื่ออัดเข้าไปถึงสี่ ท่านผู้อ่านก็นึกภาพเอาเองก็แล้วกัน ว่าจะอยู่กันในสภาพเช่นไร

     ที่ร้ายไปกว่านั้น บางองค์วิ่งเข้าไปในกอไผ่ พอเครื่องบินกลับไปแล้วออกมาไม่ได้ ต้องร้อนถึงพระสงฆ์องค์อื่นต้องใช้มีดถางให้ออกมาก็มีสัญชาตญาณการหนีภัยโดยเฉพาะมรณภัยนั้น สัตว์ทุกหมู่เหล่ากลัวกันทั่วทุกชีวิต เพราะจะกลัวอะไรก็แล้วแต่ ย่อมมาสรุปรวมลงที่กลัวตายนั่นเอง

     เมื่อเสร็จจากการสอบนักธรรมแล้ว พระสิงห์ ธนปาโล ที่เคยอยู่ด้วยกันกับท่านอาจารย์ยังได้ไปแวะเยี่ยม และชวนพระอาจารย์วัน ไปด้วย เพื่อไปศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ฝ่ายกรรมฐาน แล้วในที่สุดพระอาจารย์วัน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์เสาร์ ที่วัดป่าบ้านท่าฆ้องเหล็ก ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองอุบลราชธานี

     ขณะที่ไปอยู่กับพระอาจารย์เสาร์ นั้นยังท่องหลักสูตรนักธรรมชั้นโทไปด้วย พระอาจารย์เสาร์ ได้กำชับว่า สามเณรที่มีอายุ ๑๙ ปี ต้องท่องปาติโมกข์ให้ได้ จึงจะให้ไปเรียนนักธรรม พระอาจารย์วัน ก็ท่องปาติโมกข์อยู่ประมาณ ๒๐ วัน จึงขึ้นใจ

     ต่อจากนั้นจึงกราบลาพระอาจารย์เสาร์ ไปเข้าเรียนนักธรรมต่อที่วัดพระแก้วรังษี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพระพิบูลสมณกิจ (เก้า) เป็นเจ้าอาวาส

     พระอาจารย์วัน อาศัยอยู่กับท่านพระครูบุณฑริกบรรหาร (ทองดำ) เมื่อถึงเวลาสอบนักธรรมต้องเดินทางไปสอบที่ กิ่งอำเภอบุณฑริก ซึ่งปัจจุบันทางราชการได้ยกขึ้นเป็นอำเภอบุณฑริกแล้ว พอเสร็จจากการสอบนักธรรม กลับไปที่อำเภอพิบูลมังสาหารได้ไม่กี่วัน ก็เป็นไข้มาเลเรีย เพราะในยุคนั้นไข้มาเลเรียชุกชุมมาก ยาควินินก็หาซื้อได้ยาก เพราะอยู่ในระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒

     ต่อจากนั้น พระสิงห์ ธนปาโลได้พาไปเยี่ยมญาติของท่านที่บ้านโนนยาง อำเภอยโสธร ระหว่างที่พักอยู่ราวป่าใกล้บ้านนั้นเอง พระสิงห์ได้ขอร้องพระอาจารย์วัน ให้บวชเป็นพระ โดยให้ญาติผู้ใหญ่ของพระสิงห์เป็นผู้จัดบริขาร

     ตามความรู้สึกของพระอาจารย์วัน ต้องการที่จะอุปสมบทเมื่ออายุ ๒๕-๒๖ ปี คือไม่ปรารถนาจะแก่พรรษากว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน จึงเรียนความขัดข้องในใจของท่านเองต่อพระสิงห์ แต่พระสิงห์ไม่เห็นด้วย พระอาจารย์วัน จึงเสนอวิธีใหม่คือขอลาสิกขาไปเที่ยวสนุกก่อนประมาณ ๑๕ วันจึงค่อยบวชเป็นพระ ฝ่ายพระสิงห์ท่านก็ไม่ยอมเช่นเคย ญาติพี่น้องทางบ้านก็ไม่ได้ข่าว

     ผลสุดท้ายจึงต้องตัดสินใจบวชเป็นพระ สนองเจตนาดีของพระสิงห์ท่าน โดยเดินทางไปอุปสมบทที่วัดสร่างโศก (วัดศรีธรรมาราม ในปัจจุบัน) อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เวลา ๑๖.๑๐ น. โดยมี พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ (ทองพูล โสภโณ ) วัดสร่างโศก (วัดศรีธรรมาราม) จังหวัดยโสธร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาคล้าย วิสารโท เป็นพระกรรมวาจาจารย์

มรณกาล


     พ.ศ. ๒๕๒๓ เดือนเมษายน ท่านได้รับอาราธนานิมนต์ทางกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยพระคณาจารย์อื่น ๆ อีก ๔ รูป คือ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม จึงได้รวมกันที่ จังหวัดอุดรธานี เพื่อขึ้นเครื่องบิน เพราะลูกศิษย์ต้องการถวายความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง

     ได้ขึ้นเครื่องบินที่ อุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เมื่อเครื่องบินมาถึงเขตจังหวัดปทุมธานี อำเภอคลองหลวง เหลือระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเศษ เครื่องบินได้ตั้งลำและลดเพดานบินเพื่อเตรียมลงสู่สนาม แต่เนื่องจากเครื่องบินได้ประสบพายหมุนและประกอบกับฝนตกหนัก เครื่องบินจึงเสียหลักตกลงที่ท้องนาเขตอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พระอาจารย์วันพร้อมด้วยคณะจึงถึงแก่มรณภาพพร้อมด้วยผู้โดยสารอีกเป็นจำนวนมาก ที่รอดชีวิตเป็นผู้ที่นั่งทางส่วนหางของเครื่องบิน เพราะส่วนหางของเครื่องบินยังอยู่ในสภาพดี

     เมื่อพระอาจารย์วัน และคณะ ถึงแก่มรณภาพแล้วจึงนำศพไปตกแต่งบาดแผลที่โรงพยาบาลภูมิพลและนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ วัดพระศรีมหาธาตุ โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ทั้ง ๗ วัน วันแรกพระราชทานหีบทองทึบ วันต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้เปลี่ยนใหม่เพราะทรงเห็นว่าไม่สวยงาม จึงได้เปลี่ยนเป็นหีบลายทอง

     หลังจาก ๗ วันแล้ว ในวันที่ ๕ พฤษภาคม สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามทรงเป็นเจ้าภาพ วันที่ ๖ พฤษภาคม คณะรัฐบาลซึ่งมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะศิษย์ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่พระอาจารย์วัน และคณะที่จากไปอย่างยิ่งยวด ยังความปลื้มปิติยินดีแก่ญาติ เพื่อนสหธรรมิก ลูกศิษย์และท่านที่เคารพนับถือของพระอาจารย์วันและคณะหาที่สุดมิได้

     เมื่อครบกำหนดการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายที่วัดพระศรีมหาธาตุแล้วก็ได้อัญเชิญศพพระอาจารย์วัน และคณะกลับสู่ยังวัดเดิม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หัวหน้าแผนกพระราชพิธีเป็นผู้ดูแลโดยตลอด

     สำหรับรถยนต์ที่เชิญศพ พระคณาจารย์ต่าง ๆ คุณหมอปัญญา ส่งสัมพันธ์ แห่งโรงพยาบาล แพทย์ปัญญา เป็นผู้จัดหา และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นอย่างดียิ่ง

     วันพุธที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เวลา ๐๔.๐๐ น. รถเชิญศพได้เคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยมีรถตำรวจทางหลวงนำ ถัดมาเป็นรถหลวง รถพระอาจารย์สมชาย ฐิติวิริโย และรถเชิญศพพระอาจารย์วัน ตามลำดับ เวลา ๐๗.๐๐ น.เศษขบวนเชิญศพถึงจังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุสามเณรซึ่งมีพระชินวงศาจารย์ พระครูคุณสารสัมบัน พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกาได้นำข้าวห่อมาต้อนรับคณะเชิญศพ และมาเคารพศพเป็นจำนวนมาก หลังจากพระฉันอาหารและเจ้าหน้าที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ขบวนเชิญศพได้ออกเดินทางต่อไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี เมื่อเวลา๑๒.๓๐ น. ทางวัดโพธิสมภรณ์และชาวจังหวัดอุดรธานี ได้จัดต้อนรับเป็นอย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้นำประชาชนหลายจังหวัดมารอและเคารพศพเสร็จแล้ว เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น.เศษ รถเชิญศพจึงได้แยกย้ายกันไปยังวัดต่าง ๆ สำหรับศพพระอาจารย์วัน ได้ไปถึงวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. นับว่าการเชิญศพถึงวัดได้รับความสะดวกสบายปลอดภัยทุกประการ

     เมื่อเชิญศพไปถึงวัดแล้วได้ตั้งบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นเจ้าภาพ ต่อจากนั้นก็มีหน่วยงานต่าง ๆ รับเป็นเจ้าภาพติดต่อมาอีกหลายรายประชาชนทั้งใกล้และไกลได้มาคารวะศพและเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมจนถึงปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) และสตมวาร (๑๐๐ วัน) โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธาน นับว่าเป็นมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ หลังจาก ๑๐๐ วันแล้วก็ยังเปิดให้ประชาชนได้บำเพ็ญกุศลเรื่อยมาเพื่อสนองความต้องการของประชาชน

     วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมคารวะศพและทรงเยี่ยมประชาชนที่มาถวายการต้อนรับ ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว เป็นการส่วนพระองค์

     วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมคารวะศพ ทรงวางพวงมาลาและทรงจัดดอกไม้ถวายเป็นการส่วนพระองค์

     วันเสาร์ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ จากภูพานราชนิเวศน์ ไปพระราชทานเพลิงศพพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตตโม) ณ เมรุวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

สมณศักดิ์


๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร [1]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๕, ตอนที่ ๓๔ ง, ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๑, หน้า ๕
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคอิสาณ
www.dharma-gateway.com


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook