พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส ป.ธ.๖) | พระสังฆาธิการ

พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส ป.ธ.๖)


 
เกิด ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๗๑
ลาสิกขา พ.ศ. ๒๕๐๘
ถึงแก่กรรม ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖
วัด วัดเขาสวนกวาง
ท้องที่ ขอนแก่น
สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
วุฒิการศึกษา ป.ธ.๖


VIEW : 2,743

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระอริยคุณาธาร มีนามเดิมว่า เหล็ง โนนโม้ (บางแห่งกล่าวว่าชื่อ เร็ง หรือ เล็ง) ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น ไชยสาร เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ในเขตบ้านดอนยาง (หลังวัดศรีจันทร์ ในปัจจุบัน) บึงทุ่งสร้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โยมบิดาชื่อว่า เคน โนนโม้ (บางแห่งว่าโยมบิดาชื่อ จ่ม) โยมมารดาชื่อว่า โพธิ์ศรี โพธิสาร มีพี่น้อง ๘ คน (บางแห่งว่ามีพี่น้อง ๒ คน) คนพี่ชื่อ เบ่ง โนนโม้ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒

     มีศักดิ์เป็นหลานชายของ พระญาณวิศิษฏ์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา โดยพระอาจารย์สิงห์มีศักดิ์เป็นลุงของท่าน และมีศักดิ์เป็นหลานชายของ พระครูพิศาลอรัญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ.๓)

     **ชื่อและฉายาของท่านเหมือนกับพระเทพสิทธาจารย์ แต่เป็นคนละรูปกัน) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต)


บรรพชา

     เมื่อมีอายุพอศึกษาเล่าเรียนได้ โยมบิดามารดานำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดบ้านดอนยาง ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน โดยมี หลวงตาลุย เป็นพระอุปัชฌาย์ รวมทั้งให้การอบรมสั่งสอนเมื่อบรรพชาแล้ว

     ตามประวัติกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร เอาจริงเอาจังในสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียน มีความฉลาดเป็นเลิศ พระอุปัชฌาย์จึงมีความเห็นว่าควรจะสนับสนุนส่งเสริมให้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงขึ้น จึงส่งไปศึกษาเล่าเรียนกับ "หลวงปู่ธรรมธรณ์" ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ทรงวิทยาความรู้มาก ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่ามาเรียนอยู่ที่นี่นานเท่าใด และกลับไปที่จังหวัดขอนแก่นตอนไหน ได้มีโอกาสออกธุดงค์ปฏิบัติกรรมฐานตอนไหนในขระเป้นสามเณร รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลว่า ท่านได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ในสายไหน

     เรื่องการบรรพชาเป็นสามเณร แม้ว่าจะมีการระบุนามของพระอุปัชฌาย์ไว้เป็นเบื้องต้น แต่เชื่อว่า ก่่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ น่าจะมีการญัตติเป็นสามเณรธรรมยุตก่อนแน่นอน ส่วนจะเป็นพระเถระรูปใดเป็นพระอุปัชฌาย์ให้บรรพชาเป็นสามเณรธรรมยุต ยังไม่พบหลักฐาน เป็นไปได้ว่า อาจจะเป็น "พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ ซึ่งไปอยู่ที่วัดศรีจันทร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ แต่ข้อสันนิษฐานนี้ ยังไม่ใช่ข้อมูลที่แน่นอนได้ ต้องค้นหาหลักฐานในโอกาสต่อไป

     ในบางข้อมูลเขียนประวัติของท่านว่า อยากจะบวชเป็นเณร บิดามารดาเลยนำไปบรรพชาที่ป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร หรือบรรพชาเป็นสามเณรแล้วไปจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส ข้อนี้ไม่น่าจะใช่ เพราะจากข้อความตอนหนึ่งที่ท่านระบุไว้ในการเขียนประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต บอกว่า "เพิ่งมีโอกาสได้ไปกราบหลวงปู่มั่นและฝากตัวเป็นศิษย์ครั้งแรกที่วัดปทุมวนาราม ตอนหลวงปู่มั่นลงไปกรุงเทพฯ ก่อนจะไปเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในคราวที่พระอริยคุณาธารอุปสมบทพรรษาแรก" หากท่านเคยอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาสมาก่อน ย่อมได้มีโอกาสเจอหลวงปู่มันมาก่อนแล้ว


มาอยู่วัดสัมพันธวงศ์

     จากนั้น เดินทางเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์ แต่ไม่ทราบว่ามาขณะมีอายุเท่าใด คาดว่าเป็นช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๗๐ ช่วงแรกที่พระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสกเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ ๙ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๖๐) และเริ่มพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นมา ระยะนี้ ครูบาอาจารย์สายพระกรรมฐานภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เริ่มฝากพระภิกษุสามเณรให้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์จำนวนหลายรูป เพราะวัดธรรมยุตที่จะรองรับในขณะนั้นมีไม่มากนัก

     จากประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ตอนหนึ่ง กล่าวว่า
     "ครั้นจวนจะเข้าพรรษาคราวหนึ่ง (ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๗) ท่านได้ดำริที่จะเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม จึงพาสามเณรโชติไปฝากที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม จากนั้นตัวท่านจึงเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และได้เข้าพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมตามที่ประสงค์ แต่ศึกษาอยู่ได้ไม่นานนักท่านก็เลิก เพราะจิตใจของท่านเอนเอียงไปทางด้านธุดงค์กัมมัฏฐานมากกว่าเสียแล้ว จึงเพียงแต่อยู่ปฏิบัติธรรมและโปรดญาติโยมที่วัดสัมพันธวงศ์เท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้นภายหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับ (ธุดงต่อไปจังหวัดลพบุรี และพรมหาพลอยวัดสัมพันธวงศ์ตามไปนิมนต์ให้กลับไปจำพรรษาโปรดญาติโยมที่จังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๘)"

     จึงสันนิษฐานว่า พระอริยคุณาธารขณะเป็นสามเณร เดินทางมาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ในช่วงเดียวกันนี้ โดยอาจจะเป็นการฝากของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาขโม ผู้เป็นหลวงลุง หรือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นผู้ฝาก หรือไม่ก็ท่านพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ.๓) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์และอดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติผู้ใหญ่อีกท่าน เป็นผู้ฝาก

     ส่วนบางข้อมูลที่มีการพูดกันในบางแหล่งว่า ท่านเจ้าคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้อุปถัมภ์ฝากให้อยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์และให้อุปสมบทที่นี่ ข้อนี้ หากยึดตามหลักฐานในยุคนั้น ไม่น่าจะใช่ เพราะ

     - หากท่านมาเป็นสามเณรที่วัดบรมนิวาสแล้ว ไม่น่าจะได้ย้ายมาที่วัดสัมพันธวงศ์ เพราะยุคนั้น วัดบรมนิวาสได้เป็นสำนักเรียนเก่าแก่อยู่แล้ว หากมาอยู่จำพรรษาที่นั่นก่อน ย่อมจะศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่นั่น

     - วัดสัมพันธวงศ์ในยุคที่พระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสกเถร) มาเป็นเจ้าอาวาสใหม่ ๆ (พ.ศ. ๒๔๖๐) เป็นวัดที่ขึ้นตรงกับวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์ผู้ทรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าและเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นผู้ทรงสั่งการกำกับโดยตรง มีระเบียบต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อรับพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนแล้ว เช่น ต้องมีผู้ทำหนังสือฝากอย่างเป็นทางการ การซ้อมสวดมนต์ ๓๐ เลข การตั้งใจจะมาศึกษาเล่าเรียน ศึกษาและปฏิบัติอาจาระต่าง ๆ ตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งรัด เป็นต้น หากยังไม่เข้าระเบียบตรงนี้ จะไม่สามารถเข้ามาอยู่วัดและอุปสบทที่วัดสัมพันธวงศ์แห่งนี้ได้ในขณะนี้ เป็นที่แน่นอนว่า น่าจะเป็นการฝากตรงจากครูบาอาจารย์ในต่่างจังหวัดตามระเบียบมากกว่า

     - ด้วยข้อมูลของวัดในยุคนั้นทีที่มีระเบียบเคร่งครัดมาก ผู้ที่จัดการให้อุปสมบทและกราบอาราธนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์มาทรงนั่่งเป็นพระอุปัชฌาย์ คือ พระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ เมื่อครั้งยังเป็น พระครูวิบูลศีลขันธ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ในขณะนั้น โดยท่านพระอริยคุณาธารเมื่อยังเป็นสามเณรได้ผ่านระเบียบต่าง ๆ ของวัดสัมพันธวงศ์เรียบร้อยแล้ว วัดอื่น ๆ คงไม่สามารถมาสั่งการข้ามการปกครองได้ อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ ยุคนั้น วัดสัมพันธวงศ์ เป็นวัดที่ทรงกำกับโดยตรงจากสมเด็จพระสมณเจ้าฯ วัดบวรนิเวศวิหาร การสั่งการต่าง ๆ จักมาจากวัดอื่นได้ยาก

     ส่วนการที่ได้เข้าไปเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ น่าจะเป็นการเข้าไปกราบรับโอวาท ซึ่งอาจจะได้มีโอกาสตั้งแต่เป็นสามเณร เพราะพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาขโม ท่านเป็นสัทธิวิหารริกในท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ มาที่นี่บ่อย ๆ รวมทั้งท่านพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) วัดศรีจันทร์ ผู้เป็นญาติผุ้ใหญ่อีกรูปหนึ่ง ท่านเคยมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบรมนิวาสแห่งนี้ ก่อนออกไปปฏิบัติศาสนกิจและเป็นเจ้าอาวาสที่วัดศรีจันทร์ น่าจะเคยพามากราบรับโอวาทตั้งแต่เป็นสามเณร

     ท่านพระอริยคุณาธารได้มีโอกาสไปปฏิบัติรับโอวาทจากท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ น่าจะเป็นช่วงหลังอุปสมบทแล้ว แต่ไม่ใช่การไปอยู่ประจำ เป็นการไปกราบและรับโอวาทเรื่องการปฏิบัติกรรมฐานตามโอกาส รวมทั้งการได้ไปกราบและรับโอวาทจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นความสนใจที่ทำควบคู่กันไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์แห่งนี้

     การได้มีโอกาสออกธุดงค์ไปกราบและรับโอวาทจากครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน ท่านน่าจะทำได้เต็มที่หลังจากที่สอบผ่านเปรียญธรรม ๖ ประโยคแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติศาสนกิจช่วยงานคณะสงฆ์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ขณะมีอายุ ๒๑ ปี ณ วัดสัมพันธวงศ์ โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) ขณะทรงพระยศเป็น สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสกเถร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ ๙ ขณะยังมีสมณศักดิ์ที่ พระครูวิบูลศีลขันธ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

     เนื่องจากในขณะนั้น พระครูวิบูลศีลขันธ์ วัดสัมพันธวงศ์ ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ การอุปสมบทในช่วงนั้น จะกราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เสด็จมาทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้

     เรื่องชื่อของท่านพระอริยคุณาธารนั้น เดิมอาจจะชื่อ "เหล็ง" หรือ "เล็ง" จริง ๆ แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็น "เส็ง" ตอนอุปสมบทที่วัดสัมพันธวงศ์แห่งนี้ คาดว่า พระเดชพระคุณ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (นิทฺเทสโก) จะเป็นผู้เปลี่ยนให้ เพราะในกาลต่อมา ประวัติของพระเถระสองรูป ซึ่งเป็นสามเณรสายกรรมฐานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มาอุปสมบทที่วัดสัมพันธวงศ์ ท่านก็เปลี่ยนให้ในคราวอุปสมบท คือ สามเณรกงมา เปลี่ยนให้เป็น "นิตย์" และต่อมาเปลี่ยนเป็น "มานิตย์ หรือ มานิต" (ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์) และสามเณรทองทิพ (พระเทพสุเมธี วัดศรีโพนเมือง สกลนคร / มาพร้อมกับสามเณรกงมา) ท่านก็เปลี่ยนให้เป็น "ไพบูลย์"

     พระมหารัชชมังคลาจารย์ น่าจะเปลี่ยนชือจาก "เหล็ง หรือ เล็ง" มาเป็น "เส็ง หรือ เสง" ในคราวอุปสมบท และเริ่มใช้เป็นปีแรก โดยอนุโลมตามหลักฐานที่ปรากฏในการสอบพระปริยัติธรรม ป.ธ.๔ ได้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งเป็นปีแรกที่อุปสมบทนี้


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๑ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค สำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์
พ.ศ. ๒๔๗๒ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค สำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์
พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบได้ เปรียญธรรม ๖ ประโยค สำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

 เจ้าอาวาสวัดเขาสวนกวา
 เจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยเจ้าคณะภาค ๔ (ธ)
 เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส
 รั้งเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ)
 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ

     สุดท้าย ท่านได้ขอลาออกจากตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อมาปฏิบัติกรรมกรรมฐานอย่างเดียวที่สำนักวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

ลาสิกขา มรณกรรม


     พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส ป.ธ.๖) ได้ลาสิกขาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และอยู่ปฏิบัติธรรมสอนพระกรรมฐานที่สำนักเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

     ท่านมรณะในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖

สมณศักดิ์


๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระอริยคุณาธาร

ที่มา


ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคอิสาณ
พระมหาสำรวย นาควโร วัดสัมพันธวงศ์


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook