พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๖) | พระสังฆาธิการ

พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๖)


 
เกิด ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐
อายุ ๕๘ ปี
อุปสมบท ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
พรรษา ๓๗
มรณภาพ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
วัด วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๖


VIEW : 1,602

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระพรหมสุธี มีนามเดิมว่า เสนาะ ฝังมุข เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ บ้านสามเรือน ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากทางบ้านยากจน หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดสามเรือนแล้ว โยมพ่อจึงได้นำไปฝากกับอาจารย์ชุบ เจ้าอาวาสวัดสามเรือน เพื่อจะได้บวชเรียน


บรรพชาอุปสมบท

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ณ วัดบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ปญฺญาวชิโร" มีความหมายว่า ผู้มีปัญญาอันเฉียบแหลม

     หลังจากอุปสมบทก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ดูแลงานปกครอง ดูแลด้านการเงิน ในขณะเดียวกันยังเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมสนามหลวง และกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง

     เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร จึงแต่งตั้งพระพรหมสุธีเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

     ต่อมาในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาให้พระพรหมสุธีออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เพราะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่า พระพรหมสุธีมีพฤติกรรมส่อทุจริตต่องบประมาณแผ่นดิน จำนวน ๖๗ ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติเป็นค่าใช้จ่ายในพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จึงปลดพระพรหมสุธี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมหาเถรสมาคมและคณะสงฆ์โดยรวม รวมถึงไม่ให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคมต่อไป และในวันเดียวกันพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามสั่งพระพรหมสุธีพักการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสสระเกศ และให้พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) รักษาการแทน ต่อมาในวันที่ ๑๖ มกราคม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ได้สั่งให้พระพรหมสุธีพักการปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะภาค ๑๒ โดยให้พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) รองเจ้าคณะภาค๑๒ เป็นรักษาการเจ้าคณะภาค ๑๒ แทน


หน้าที่การงาน

ด้านการศึกษา

     ได้สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นเลขานุการประจำสำนักเรียน ทั้งแผนกธรรมและบาลี เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมสนามหลวง กรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวง อีกทั้งได้จัดตั้งวิทยุชุมชน เพื่อให้พระภิกษุได้บรรยายและแสดงธรรมเป็นประจำ นอกจากนี้ ได้จัดให้พระภิกษุไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนและจัดพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิไปแสดงปาฐกถาธรรม ให้การฝึกอบรมตามสถานศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ได้มอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่สอบนักธรรมและบาลีของสำนักเรียนวัดสระเกศ และวัดโสธรวราราม อีกทั้งมอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และแจกทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนและเด็กนักเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บริจาคปัจจัยเป็นทุนอาหารกลางวันแก่นักเรียนโรงเรียนบ้านสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดทั้งปี และจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ครบชุดให้อีกในปีถัดมา ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ครบชุดให้แก่โรงเรียนบาลีอบรมศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ด้านการสาธารณูปการ

      ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ให้ดำเนินการก่อสร้างศาลารับรองและกุฏิ รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์โรงเรียนพระปริยัติธรรม ตึกสมเด็จญาโณทยมหาเถระ (พ.ศ. ๒๕๐๑) และเป็นประธานดำเนินการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและหอไตร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ด้านการสาธารณสงเคราะห์

     ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติตามโอกาสอันควรตลอดมา อาทิ ได้มอบเครื่องนุ่งห่ม ให้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารในเขตปกครองหนตะวันออก และมอบปัจจัย อัฐบริขารที่จำเป็นให้แก่พระภิกษุสามเณรที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย (สึนามิ) ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในนามวัดโสธรวราราม วรวิหาร อีกทั้งได้รับมอบหมายจากกรรมการมหาเถรสมาคมเดินทางไปตรวจเยี่ยมเพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจแก่พระภิกษุสามเณรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ได้ให้จัดพิมพ์ปฏิทิน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ที่ระลึกพระพุทธโสธรเพื่อแจกจ่ายแก่พุทธศาสนิกชนและวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

     ได้ให้จัดพิมพ์หนังสือธรรมะเพื่อแจกจ่ายให้แก่พุทธศาสนิกชนที่เดินทางไปกราบไหว้นมัสการพระพุทธโสธร รวมทั้งได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้สื่อทุกประเภทเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และจัดกิจกรรมตามวัดต่าง ๆ ในเขตปกครองภาค ๑๒ อาทิ แสดงพระธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ลดละเลิกอบายมุขถวายเป็นพุทธบูชาอย่างต่อเนื่อง


การศึกษา

นักธรรมชั้นเอก
เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๕๒๕ พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาสัมคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๒๗ ปริญญามหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยปูนา ประเทศอินเดีย

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๕๓๓  เป็น เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
พ.ศ. ๒๕๓๖  เป็น พระอุปัชฌาย์วิสามัญ
พ.ศ. ๒๕๔๑  เป็น รองเจ้าคณะภาค ๙
พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๕๘  เป็น เจ้าคณะภาค ๑๒ [1]
พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๕๘  เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. ๒๕๔๗  เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม
พ.ศ. ๒๕๕๖  เป็น ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๕๘  เป็น เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

งานเผยแผ่

พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๕๘  เป็น ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

มรณภาพ


     วันจันทร์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลาประมาณ ๗.๐๐ น. มีผู้พบศพพระพรหมสุธี ซึ่งมรณภาพจากการทำอัตวินิบาตกรรมโดยใช้ประคดผูกคอตนเองกับขื่อภายในกุฏิ คาดว่ามรณภาพมาแล้วประมาณ ๖ ชั่วโมง สิริอายุได้ ๕๘ ปี ๓๕๒ วัน

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ ฐานานุกรมใน พระพรหมคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระปัญญาวชิราภรณ์ [2]
๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสิทธิมงคล วิมลศาสนกิจจาทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพโสภณ วิมลปัญญาโสภิต สิทธิวรกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมสิทธิเวที ศรีสังฆโสภณ วิมลปัญญาโสภิต วรกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [5]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมสุธี ศีลาจารโสภณ วิมลปัญญาโสภิต วรกิจจานุกิจประยุต วิสุทธิ์ศาสนวราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ที่มา


1. มติมหาเถรสมาคม เรื่อง เสนอขอแต่งตั้งเจ้าคณะภาคในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๑๒
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๙, ตอนที่ ๑๐๑ ง, ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕, หน้า ๘
4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๔, ตอนที่ ๒๖ ข, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๐, หน้า ๔
5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๗, ตอนที่ ๒๘ ข, ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓, หน้า ๒๓
ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิอยุธยา
wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook