|
VIEW : 4,412
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลตั้งแต่เยาว์วัยได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากโยมบิดามารดาด้วยความรักและอบอุ่น ตามสมควรแก่ฐานะจนถึงวัยอันสมควรจึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดแสนเกษมซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านที่สุด โดยสภาพท้องถิ่นเป็นที่ราบลุ่มเป็นท้องทุ่งกว้างขวางมองโล่งสุดสายตาดินเหนียวสีดำ หน้าฝนจะปกคลุมด้วยหญ้าป่ากก และต้นข้าวสีเขียวขจี ให้ความรู้สึกสดชื่น เนื้อดินจะอ่อนนุ่ม ถ้ามีน้ำขังก็จะเป็นโคลนเลน การเดินทางไปมาหาสู่กันในหน้าฝนจะต้องเดินบนคันนา หรือใช้เรือแจวเรือพายเท่านั้นเดินลัดทุ่งนาไม่ได้แต่ในหน้าแล้งดินจะแห้ง แข็ง และแตกระแหง
ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงขอฝาก เด็กชายโพธิ์ ไว้กับหลวงปู่เปรม เจ้าอาวาสวัดแสนเกษม ให้อยู่เป็นเด็กวัด รับใช้หลวงปู่และเรียนหนังสือไทยในโรงเรียนวัด เพื่อตัดปัญหาในการเดินทาง ครอบครัว พ่อแม่ก็มาทำบุญที่วัดเป็นประจำได้รับรู้ความเป็นอยู่ตลอดเวลา ตัดปัญหาเรื่องความห่วงหากังวลใจด้วยความรักลงได้
การอยู่กับพระผู้ใหญ่มีผู้คนหลายระดับชนชั้นมาเคารพกราบไหว้ท่านเสมอ ถือเป็นโชคดีที่มีโอกาสจะได้เติบโตมาพร้อมกับการซึมซับเอาสิ่งดีงามจากผู้คนเหล่านั้นมาเป็นแม่แบบหล่อหลอมชีวิตของตน
เมื่อเรียนหนังสือจบชั้นประถมบริบูรณ์ (ประถมปีที่ ๔) ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ก็กลับมาอยู่ที่บ้านด้วยหวังจะช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพ และเป็นการฝึกงานเตรียมตัวเป็นเกษตรกรสืบต่อไป เมื่อเติบใหญ่ไปในภายภาคหน้า
เพียงปีแรก ที่กลับมาช่วยพ่อในอาชีพเกษตรกร ก็พบได้ด้วยตัวเองว่าเห็นท่าจะเอาดีทางนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีความชอบ (ฉันทะ) จึงขาดความขยันหมั่นเพียร (วิริยะ) ทำไปตามหน้าที่ ไม่มีความบากบั่น (จิตตะ) แม้จะต้องทำงานจนเสร็จก็ไม่ติดตามว่าผลเป็นเช่นไร (วิมังสา) แม้พ่อปลื้มเองในฐานะครู ก็มองออกว่า ลูก (ศิษย์) คนนี้คงเอาดีทางนี้ไม่ได้จึงมองหาลู่ทางที่เหมาะสมสำหรับลูกชายคนเดียวของตนต่อไป
พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุได้ ๑๔ ปี พ่อปลื้มจึงนำลูกชายกลับเข้าวัดอีกครั้งได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระครูมนูญสีลขันธ์ วัดหนองจอก เป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่ที่วัดแสนเกษมกับหลวงปู่เปรมอีกครั้ง แต่คราวนี้หลวงปู่เปรมมีอายุมากแล้ว อายุกว่า ๙๐ ปี (หลวงพ่อเล่าให้ฟัง) หลวงปู่ช่วยตัวเองได้น้อยก็ต้องปรนนิบัติท่าน (คงรวมถึงการสรงน้ำป้อนข้าวด้วยบางครั้ง) เพียง ๒ พรรษา หลวงปู่ก็สิ้น (ละสังขาร) และในช่วง ๒ พรรษา สามเณรโพธิ์ ก็สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท ตามลำดับหลวงปู่เปรม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์มีความขลังในหลายด้าน เช่นปลุกเสกปรอท ตะกรุดและน้ำมนต์ ได้เป็นที่พึ่งพิงช่วยขจัดทุกข์ร้อนของผู้ที่เคารพนับถือตลอดอายุของท่านในช่วงเวลาดังกล่าว สงครามมหาเอเชียบูรพายังไม่สงบมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯโดยเฉพาะแถวโรงไฟฟ้าวัดเลียบ,สะพานพระพุทธยอดฟ้าและสำเพ็ง ผู้คนคอยฟังสัญญาณเตือนภัยและเสียงเครื่องบินจะได้วิ่งเข้าที่หลบภัยทัน เศรษฐกิจย่ำแย่ ไม้ขีดไฟหนึ่งก้านต้องผ่าครึ่งจะได้ใช้ ถึง ๒ ครั้งเพราะหาซื้อยากของขาดตลาด (คำบอกเล่าหลวงปู่ศุข)
ในเวลานั้นพระครูวินัยธรทองศุข สิริวัฑฒโน (เงินมา) ที่รู้จักกันต่อมา คือ หลวงปู่ศุข ท่านจำอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม เห็นว่าวัดอยู่ในย่านอันตรายท่านจึงออกไปจำพรรษาที่วัดแสนเกษม แถวหนองจอกเพราะยังมีความปลอดภัย ด้วยห่างจากเขตสู้รบท่านจำอยู่ที่วัดแสนเกษมจนญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามสงบปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สงครามสงบแล้วหลวงปู่ศุขจึงย้ายกลับวัดสุทัศน์ฯและได้ให้สามเณรโพธิ์ติดตามมาด้วย คงเป็นเพราะมองเห็นแววและความใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียนพอที่จะปลูกฝังให้เป็นศาสนทายาทและเป็นกำลังสำคัญในการธำรงพระศาสนาสืบไปในอนาคตได้นำสามเณรมาฝากไว้ในสังกัดวัดสุทัศนเทพวรารามกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น (คำบอกเล่าหลวงปู่ไสว)
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ สามเณรโพธิ์ ก็สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม (เวลานี้ท่านได้เปลี่ยนชื่อเป็นสุพจน์และนามสกุลเป็น ชูติรัตน์)
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (โฉม ฉนฺโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีสมโพธิ (เสงี่ยม จันทสิริ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์ ยตินธโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า โชติปาโล
พ.ศ. ๒๔๙๘ | เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร |
พ.ศ. ๒๕๐๔ | เป็น พระวินยาธิการ |
พ.ศ. ๒๕๑๘ | เป็น หัวหน้าสงฆ์วัดไทยลอสแองเจลีส |
พ.ศ. ๒๕๒๑ | เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองซานฟรานซิสโก |
พ.ศ. ๒๕๒๔ | เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองแทมป้า |
พ.ศ. ๒๕๒๕ | เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดพระศรีรัตนาราม เมืองเซ็นต์หลุยส์ |
พ.ศ. ๒๕๒๙ | เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดพุทธจักรมงคลรัตนาราม เมืองฮาวาย |
พ.ศ. ๒๕๓๐ | เป็น พระอุปัชฌาย์วิสามัญ |
พ.ศ. ๒๕๓๓ | เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองซานดิเอโก |
พ.ศ. ๒๕๓๙ | เป็น ประธานกรรมการบริหารวัดมงคลรัตนาราม เมืองฟอร์ตวอลตันบีช |
พระมงคลเทพโมลี (สุพจน์ โชติปาโล) มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี พรรษา ๕๙
พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็น
พระปลัด
ฐานานุกรมใน พระพุทธิญาณมุนี (พุฒ)
|
พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็น
พระครูปลัด
ฐานานุกรมใน พระราชพุทธิญาณมุนี
|
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระครูพุทธมนต์วราจารย์
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่ พระพุทธมนต์วราจารย์
[1]
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็น
พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่ พระมงคลราชมุนี ศรีสิทธิมันตาภรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[2]
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น
พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่ พระมงคลเทพโมลี ศรีศุภกิจวิธาน มงคลสารวรประสิทธิ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[3]
|
1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๔, ตอนที่ ๑๒๘ ง, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๐, หน้า ๔ |
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๒, ตอนที่ ๒๖๓ ง, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘, หน้า ๓ |
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๔ |
ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook