พระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม สุวณฺณสโร) | พระสังฆาธิการ

พระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม สุวณฺณสโร)


 
เกิด ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๕
อายุ ๙๓ ปี
อุปสมบท พ.ศ. ๒๓๘๗
พรรษา ๗๑
มรณภาพ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙
วัด วัดหนัง ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 1,673

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระภาวนาโกศลเถร มีนามเดิมว่า เอี่ยม ทองอู๋ เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๙ ปีมะโรง จัตวาศก ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของ นายทอง และ นางอู่ ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนอยู่ย่านบางขุนเทียน ริมคลองบางหว้า ครอบครัวของท่านเดิมใช้นามสกุล "ทองอู่" เป็นชื่อสกุลเริ่มแรก ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระราชบัญญัติ ให้มีนามสกุลบังคับใช้ ต่อมาไม่นาน มีเจ้านายพระองค์หนึ่ง ทรงทักท้วงว่า ชื่อสกุล "ทองอู่" ไปพ้องกับ พระนามของเจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งเข้า จึงต้องเปลี่ยนมาเป็น "ทองอู๋" สืบต่อมาถึงปัจจุบันนี้

     ในวัยเด็ก โยมพ่อโยมแม่ของท่านได้นำท่านมาฝากมาเรียนหนังสือที่สำนักหลวงปู่รอด อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ต่อมาเมื่ออายุ ๑๑ ปี ท่านได้เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดเลียบ


อุปสมบท

     อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ อายุครบ ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดราชโอรสาราม (วัดจอมทอง) อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (เขตจอมทอง กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) โดยมี พระสุธรรมเทพเถระ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมเจดีย์ (จีน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระภาวนาโกศลเถระ (รอด) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ได้ขนานนามว่า “สุวณฺณสโร

     หลังอุปสมบทท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนางนอง และได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมแต่คงสอบไม่ได้อีกเช่นเคย ท่านจึงต้องนั่งคุกเข่าประนมมือ ที่ท่านได้แปลอยู่ต่อหน้าพระคณาจารย์ผู้ใหญ่ จนพระเถระสมาคมคนหนึ่งชวนท่านไปอยู่ในสำนักเดียวกัน แต่ท่านปฏิเสธ

     ต่อมาท่านก็ได้เจริญรอยตามหลวงปู่รอด วัดโคนอนมาตลอดเวลา และได้ศึกษาวิปัสสนากรรมธุระกับพระภาวนาโกศลเถระ (รอด) เจ้าอาวาสวัดนางนอง ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่านเอง ซึ่งกำลังเลื่องชื่อมากในด้านวิทยาอาคมขลัง หลวงปู่เอี่ยมได้หันมาสนใจในด้านไสยเวท จนถึงขนาดได้เป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์รักมาก และในช่วงที่ท่านบวช ๑๖ พรรษา หลวงปู่รอด (พระอาจารย์ของท่าน) เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินวัดนางนอง เล่ากันว่า ท่านไม่ถวายอดิเรกนับเป็นความผิด ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกถอดสมณศักดิ์ และต้องย้ายไปอยู่ที่วัดโคนอน ท่านจึงติดตามพระอาจารย์ของท่านไปอยู่ที่วัดโคนอน และปรนนิบัติรับใช้ต่อจนกระทั่งมรณภาพ ต่อมาเมื่ออาจารย์ของท่าน (หลวงปู่รอด) ถึงแก่มรณภาพ ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคนอนสืบแทน

     เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าให้ "หลวงปู่เอี่ยม" ไปครอง "วัดหนัง" เนื่องจากไม่มีเจ้าอาวาส และรุ่งขึ้นอีก ๑ ปี องค์สมเด็จพระปิยะมหาราชก็ได้พระราชทานสมณะศักดิ์ ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ "พระภาวนาโกศลเถร" (เอี่ยม) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง

     ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประภาสยุโรป หลวงปู่เอี่ยมท่านก็ได้ทำนายไว้ว่าพระองค์ท่านจะบรรลุผลสำเร็จพระบรมราโชบายทุกประการ แต่จะต้องประสบกับสัตว์ที่ดุร้ายในยุโรป และท่านจะต้องทรงขี่มัน หลวงปู่ท่านได้มอบ พระคาถาเสกม้าให้หญ้ากิน และมอบยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้าให้กับพระพุทธเจ้าหลวง และจะปกป้องคุ้มครองพระองค์ท่านให้ทรงปลอดภัย และสุดท้ายฝ่ายฝรั่งก็ยอมสิโรราบในที่สุด คำสอนของท่านคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๔๑ - ๒๔๖๙  เป็น เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร
 เจ้าอาวาสวัดโคนอน

มรณกาล


     พระภาวนาโกศลเถร (เอี่ยม สุวณฺณสโร) ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ สิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี พรรษา ๗๑

สมณศักดิ์


๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ วิปัสสนาธุระ ที่ พระภาวนาโกศลเถร

ที่มา


ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook