สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธมฺมสิริ ป.ธ.๕) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธมฺมสิริ ป.ธ.๕)


 
เกิด ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๐
อายุ ๗๕ ปี
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๐๐
มรณภาพ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖
วัด วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 1,616

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มีนามเดิม ฤทธิ์ หรือ ริด ตระกูลเดิมเป็นมหาดเล็กเกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๐


บรรพชาอุปสมบท

     เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ โยมพาไปฝากเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับพระมหาพลาย ป.ธ.๔ วัดนาคกลาง หลังโกนจุกได้บวชเป็นสามเณรและเล่าเรียนอยู่วัดราชบุรณราชวรวิหาร

     ถึงรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๐ อุปสมบท ที่วัดราชบุรณะ โดยมี พระธรรมวโรดม (สมบุรณ์ ป.ธ.๔) วัดราชบุรณะ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมรโมลี (นพ) วัดบุปผาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูทักษิณคณิศร (เสม) วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์


การศึกษา

    พออายุได้ ๑๔ ปีเข้าสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรกในปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๑ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตามาก ตรัสว่า "เด็กขนาดนี้กำลังจะจับเป็ดจับไก่ แต่สามเณรฤทธิ์อุตส่าห์เล่าเรียนจนแปลหนังสือได้เป็นเปรียญ" จึงพระราชทานรางวัล ๑ ชั่ง และเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งขณะพรรษา ๘ ได้อีก ๒ ประโยค จึงเป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยค ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานตาลปัตรพื้นโหมดเป็นเกียรติยศพิเศษ เพราะท่านเทศนาได้ดีต้องพระทัย

     หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ท่านไปครองวัดบพิตรพิมุข ต่อมาวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๑ ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่วัดอรุณราชวราราม โดยมีพระครูปลัด ๑ รูป พระครูฐานานุกรม ๓ รูป พระเปรียญ ๒ รูป สามเณรเปรียญ ๑ รูป พระอันดับ ๗ รูป ติดตามไปอยู่ด้วย

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

 เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข
พ.ศ. ๒๔๔๑ - ๒๔๕๖  เป็น เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม
พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๕๖  เป็น เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ

มรณกาล


     สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อาพาธเป็นโรคชรา มรณภาพเมื่อวันพุธที่ ๒๒ เมษายาน พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลา ๓ ยาม ปีฉลู สิริอายุได้ ๗๕ ปี ๓๑๘ วัน ในวันต่อมา เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต สวมลอมพอกโหมดถวายศพ แล้วเจ้าพนักงานยกศพตั้งบนแว่นฟ้า ๒ ชั้น ประกอบโกศไม้สิบสอง แวดล้อมด้วยฉัตรเครื่อง ๙ คัน แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทอดไตร ๑๐ ไตร และผ้าขาว ๒๐ พับ พระราชทานบังสุกุล และให้พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทุกวันมีกำหนด ๑ เดือน

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๑๗ เป็น พระราชาคณะ ที่ พระอมรโมฬี
๒ ตุลาคม จ.ศ. ๑๒๔๗ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๘) เป็น พระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่ พระโพธิวงษาจาริย ญาณนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึงกึ่ง
๒๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๐ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๔) เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ญาณวิสาระทะนายก ตรีปิฎกปรีชา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึง ๓ บาท และได้รับตาลปัตรแฉกพื้นแพรปักเลื่อม พัดรองโหมดเทศ และเครื่องบริขารเล็กน้อย เป็นเครื่องยศ
๒๐ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๓ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๗) เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายใต้ มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูษิต ทักษิณทิศคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนัตยภัตเดือนละ ๖ ตำลึง
๒๕ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๑ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๕) เป็น สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะอรัญวาสีและเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สับตวิสุทธิจริยาสมบัติ นิพัทธธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลมัชฌิมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี มีนิตยภัตเดือนละ ๗ ตำลึง และได้รับพัดรองเป็นรูปพระราชลัญจกรมหาอุณาโลมเป็นที่ระลึก
๑๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๔ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๘) เป็น สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลยสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญวาสี มีนิตยภัตเดือนละ ๑๐ ตำลึง

ที่มา


ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร
wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook