สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.๙) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.๙)


 
ประสูติ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒
พระชนมายุ ๗๓ พรรษา
ผนวช พ.ศ. ๒๔๕๒
พรรษา ๕๓
สิ้นพระชนม์ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕
สถิต วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร


VIEW : 2,365

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

พระประวัติ


     สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า ปลด เกตุทัต ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู ณ บ้านในตรอกหลังตลาดพาหุรัด ติดกับวัดราชบุรณราชวรวิหาร เป็นบุตรขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ เกตุทัต) กับนางปลั่ง พระชนกของพระองค์เป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ แต่ด้วยปัญหาสุขภาพจึงได้กราบทูลลาออกก่อนที่จะทรงกรมหลวง


บรรพชาอุปสมบท

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เริ่มเรียนภาษาบาลีตั้งแต่พระชนมายุ ๘ ปี เรีย มูลกัจจายน์ ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้ประโยค ๑ ได้รับโปรดเกล้า ฯ จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้อยู่ที่วัดเบญจมบพิตร ต่อมาได้เข้าแปลประโยค ๒ และประโยค ๓ ได้ สอบได้ประโยค ๔ เมื่อพระชันษาได้ ๑๓ ปี ประโยค ๕ ถึงประโยค ๗ เมื่อพระชันษาได้ ๑๔, ๑๕, ๑๖ ปี ตามลำดับ สอบประโยค ๘ ได้เมื่อพระชันษาได้ ๑๙ ปี และประโยค ๙ เมื่อพระชันษาได้ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑

     ทรงอุปสมบทเป็นนาคหลวงสายเปรียญธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมเจดีย์ (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "กิตฺติโสภโณ"

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๖๘  เป็น เจ้าคณะแขวงกลาง จังหวัดพระนคร
พ.ศ. ๒๔๗๐  เป็น เจ้าคณะมณฑลพายัพ
พ.ศ. ๒๔๗๑  เป็น เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๔๗๑  เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็น เจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก
พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็น ประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น สังฆนายก
พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็น ผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และรักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๕  เป็น สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๓  เป็น พระคณาจารย์โท ในทางภาษาบาลี

พระกรณียกิจ


     พระองค์ทรงกระทำกิจทางพระศาสนามาโดยตลอด ด้วยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก ตลอดพระชนมชีพ พอประมวลสรุปได้ดังนี้

     ด้านการปกครอง เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะมณฑล กรรมการเถรสมาคม ประธานคณะบัญชาการคณะสงฆ์ แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช สังฆนายก และรักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

     ด้านการศึกษา เริ่มตั้งแต่การศึกษาในสำนักวัดเบญจมบพิตร ฯ การศึกษาในมณฑลพายัพ ทั้ง ๗ จังหวัด และแขวงกลางจังหวัดพระนคร เป็นกรรมการสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา

     ด้านการเผยแผ่ มีหนังสือธรรมที่ทรงนิพนธ์ พิมพ์ออกเผยแผ่ เป็นอันมาก เช่น มงคลภาษิต ปราภวภาษิต ศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งงานพระธรรมเทศนา ในโอกาสต่าง ๆ ที่ได้รับการยอย่องว่า มีสำนวนโวหารง่าย ๆ เป็นที่เข้าใจซาบซึ้ง

     ด้านการต่างประเทศ ได้เสด็จไปต่างประเทศเพื่อการพระศาสนาหลายครั้ง คือ

     พ.ศ. ๒๔๘๒ ไปตรวจการณ์คณะสงฆ์ ไทรบุรี และปีนัง แทนสมเด็จพระสังฆราช
     พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมงานฉัฎฐสังคายนาจตุตถสันนิบาต (สมัยไทย) โดยเป็นประธาน กระทำพิธีเปิดประชุมสังคายนา ณ สหภาพพม่า
     พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธีฉลอง พุทธชยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศลังกา และไปสังเกตการพระศาสนาในประเทศอินเดีย
     พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นหัวหน้าคณะไปเป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมธาตุ ณ วัดบุปผาราม เมืองปีนัง สหพันธรัฐมาลายา
     พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมพิธีฉลองพระพุทธชยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น และในปีเดียวกันนี้ ได้นำพระสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และได้เสด็จไปมนัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ที่อินเดีย
     พ.ศ. ๒๕๐๔ เสด็จไปสังเกตการพระศาสนา ในสหรัฐอเมริกา ตามคำทูลอาราธนาของมูลนิธิเอเซีย

ผลงาน


     งานด้านวิชาการและงานพิเศษ มีงานสำคัญคือ

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ๔ คัมภีร์ คือ อรรถกถาอุทาน อิติวุตตก มหานิเทศ และจุลนิเทศ

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์พระสุตตันคปิฎก ขุททกนิกาย ๓ คัมภีร์ คือ มหานิเทศ จุลนิเทศ และชาดก และได้ชำระคัมภีร์ สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย

     ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เป็นประธานกรรมาธิการแปล พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย จนจบพิมพ์เป็นเล่มได้จำนวน ๘๐ เล่ม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐

     เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้เป็นประธานสงฆ์ในงานรัฐพิธีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษของไทย

พระอวสานกาล


     สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.๙) สิ้นพระชนม์เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จ.ศ.๑๓๒๔ ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๑๖.๒๗ น. สิริพระชันษาได้ ๗๓ ปี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา ๒ ปี ๑ เดือน ๑๘ วัน

สมณศักดิ์


๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็น พระราชาคณะ ที่ พระศรีวิสุทธิวงษ์
๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูษิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพมุนี ศรีวิสุทธศีลาจารย์ ญาณนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรองหนกลาง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูษิต มัชฌิมคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆนายก
๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณะปธานาดิศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี
๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชอนุศาสนาจารย์ กิตติโสภณาภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมโศภน วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

ที่มา


ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร
wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook