|
VIEW : 27,567
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลสามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงเป็นศิษย์ในสำนักสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ผู้เป็นนักปราชญ์ล้ำลึกและมั่นคงเคร่งครัดในพระธรรมวินัย สมเด็จพระพนรัตน์องค์นี้เกิดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมเจดีย์ ในสมัยกรุงธนบุรี ได้รับมอบหมายให้ไปจัดการสังฆมณฑลฝ่ายเหนือที่พิษณุโลก และได้เลื่อนเป็นที่พระพิมลธรรม แต่ต้องโทษในปลายรัชกาล เนื่องจากยึดมั่นในพระธรรมวินัย ไม่โอนอ่อนผ่อนตามพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสมเด็จพระพนรัตน์ ครองวัดพระเชตุพนฯ และได้เป็นพระอาจารย์ของสามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี ได้ถ่ายทอดพระธรรมวินัยและความรู้ทางด้านภาษาไทย และภาษามคธ บาลี โบราณคดี โหราศาสตร์ และเวทมนตร์ ตลอดทั้งวิธีลงเลขยันต์ต่างๆ สมเด็จพระพนรัตน์องค์นี้เป็นผู้อ่านประกาศเทวดา และเป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎกในรัชกาลที่ ๑ นอกจากนี้ได้นิพนธ์หนังสือภาษาบาลีไว้หลายเรื่อง และมีชื่อเสียงโด่งดังในการเทศน์มหาชาติ กัณฑ์ “นครกัณฑ์” ซึ่งบรรดาลูกศิษย์ของท่านก็ได้สืบทอดกันต่อๆ มาหลายรัชกาล
สามเณรพระองค์วาสุกรีได้ทรงศึกษาอย่างใกล้ชิดกับพระอาจารย์ ทรงได้รับการถ่ายทอดวิทยาการไว้ทั้งหมด รวมทั้งได้รับมอบตำรับตำราพิชัยสงคราม โหราศาสตร์ เวทมนตร์ และพระธรรมวินัยไว้ด้วยจึงทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญแตกฉาน นับได้ว่าเป็นนักปราชญ์ที่ล้ำลึกของยุคต้นรัตนโกสินทร์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ในรัชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังหลัง (เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์พระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ) ได้เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ได้มีเจ้านายตามเสด็จออกผนวชเป็นสามเณร เป็นหางนาคหลวง ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าชายวาสุกรี กับ พระองค์เจ้าชายฉัตร (กรมหมื่นสุรินทรรักษ์)
สามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี ประทับจำพรรษาและศึกษาอยู่ในวัดพระเชตุพนฯ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๑๙ พรรษา ก็ไม่ทรงสึก เนื่องจากอายุยังไม่ครบผนวชเป็นพระภิกษุจึงทรงเป็นสามเณรต่อไป จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒ ) จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๕๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “สุวณฺณรงฺสี” เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์
พระองค์เจ้าพระ “สุวณฺณรงฺสี” ทรงผนวชอยู่ได้ ๓ พรรษา สมเด็จพระพนรัตน์อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ก็ถึงแก่มรณภาพ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒ ) เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนฯ พระองค์โปรดแต่งตั้งให้พระองค์เจ้าพระ “สุวณฺณรงฺสี” เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์ วัดพระเชตุพนฯ
เมื่อทรงผนวชเป็นภิกษุได้ ๓ พรรษา ในระหว่างพรรษาที่ ๓ นั้น สมเด็จพระพนรัตน เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ผู้เป็นพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพ ครั้นออกพรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐิน จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ และให้ครองพระกฐิน และโปรดเกล้าฯ ให้ครองวัดพระเชตุพนในวันนั้น
จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ตั้งแต่ทรงผนวชได้เพียง ๓ พรรษา นับเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒ และต่อมาก็ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ ทรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะสามัญ
การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชาคณะครองวัดพระเชตุพนนั้น เป็นการเริ่มธรรมเนียมอย่างใหม่ขึ้นในทางการปกครองคณะสงฆ์ คือเจ้านายทรงรับสมณศักดิ์ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย เพราะก่อให้เกิดผลดีตามมาในภายหลัง แก่คณะสงฆ์และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ
ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒ ย้อนไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยปรากฏว่ามีเจ้านายที่ทรงผนวชได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ หรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์เลย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงริเริ่มประเพณีนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์และดำรงตำแหน่งทางการคณะสงฆ์ นับแต่นั้นมา เจ้านายที่ทรงผนวชอยู่ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ และดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์ที่สำคัญๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นจำนวนมาก
จะเห็นได้ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริเริ่มประเพณีตั้งเจ้านายให้ดำรงสมณศักดิ์ขึ้นในคณะสงฆ์นั้น ก่อให้เกิดผลดีแก่พระศาสนาและชาติบ้านเมืองหลายประการ กล่าวคือ
- เป็นทางให้เจ้านายทรงนิยมในการทรงผนวชอยู่นานๆ มากขึ้น เพราะเห็นทางที่จะเจริญในทางพระศาสนา และมีโอกาสที่จะทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและชาติบ้านเมือง ในทางที่ทรงพระปรีชาสามารถได้อย่างกว้างขวาง
- เป็นทางนำบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาสู่วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์ ทำให้วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์มีโอกาสพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว และกว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะเจ้านายย่อมทรงไว้ซึ่งพระชาติวุฒิและ พระคุณวุฒิที่ทรงได้รับการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดีจากราชสกุล เมื่อเข้ามาทรงผนวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของพระพุทธศาสนา เลยก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระศาสนา และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ
- เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จในการดำเนินกิจการทางพระศาสนาและคณะสงฆ์ เพราะเจ้านายย่อมเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นกิจการในทางพระศาสนาและคณะสงฆ์ที่ดำริและดำเนินการ โดยมีเจ้านายย่อมเป็นที่ทรงพร้อมด้วย พระชาติวุฒิ พระคุณวุฒิ และพระอิสริยยศ เป็นผู้นำย่อมเป็นที่ศรัทธาและไว้วางใจของคนทั่วไป จึงไม่เป็นการยากที่จะกระทำการนั้นๆ ให้บรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จ ดังเป็นที่ปรากฏในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ของไทยตลอดมา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกลาง แล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศบรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถ ปฐมพันธุมหาราชวรังกูร ปรเมนทรเรนทรสูริย์สัมมานาภิสักกาโรดมสถาร อริยสมศีลาจารพิเศษมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ ยุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร มโหฬารเมตยาภิธยาศรัย ไตรปิฎกกลาโกสล เบญจปดลเศวตฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตตมมหาบัณฑิตย สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกปฏิพัทธพุทธบริษัทยเนตร สมณคณินทราธิเบศรสกลพุทธจักโรประการกิจ สฤษดิศุภการ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร (ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็นกรมพระตามยศเจ้ากรม) ทรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาสังฆปริณายก ทั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ในทางอักษรศาสตร์ ก็ได้นิพนธ์เรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นิพนธ์บทกวีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีคุณค่าเป็นเพชรน้ำเอกทางวรรณกรรมของไทยตลอดมา
สำหรับวรรณกรรมศาสนา ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก หรือร่ายยาวมหาชาติ ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค เป็นต้น
ในทางพระพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเลือกพระอิริยาบถต่าง ๆ จากพุทธประวัติเป็นจำนวน ๓๗ ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เหล่านี้
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๓ นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากทั้งบทร้อยกรองและร้อยแก้ว สมพระเกียรติที่เป็น “รัตนกวี” ของชาติ วรรณกรรมของพระองค์ นับว่าเป็นสมบัติที่ประมาณค่ามิได้ พระนิพนธ์ต่างๆ มีดังนี้
โคลง
ฉันท์
ร่ายยาว
กลอน
ภาษาบาลี
พ.ศ. ๒๓๕๖ - ๒๓๙๖ | เป็น เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร |
พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๓๙๖ | เป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ |
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิรินทร มหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศใทราบโดยทั่วกัน ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระมหาสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้น ได้มีนามอย่างสังเขปว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นประเพณีสืบมา
จึงทรงพระราชดำริว่า สมด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระอุปัธยาจารย์ ได้ทรงรับพระมหาสมณุตาภิเษกเป็น มหาสังฆปริยนายกปธานาธิบดีสงฆ์ มาจนกาลบัดนี้ถึง ๑๐ พรรษาล่วงแล้ว ทรงมีคุณูปการในทางพระศาสนกิจยิ่งนัก พระองค์มีพระชนมายุเจริญยิ่งล่วง ๖๐ พรรษา ประจวบอภิลักขิตสมัยครบรอบวันประสูติ ทรงบำเพ็ญพระกุศลเฉลิมพระชันษา
สมควรจะสถาปนาพระนามในส่วนสมณศักดิ์ ให้ปรากฏพระเกียรติยศยิ่งขึ้น จึงควรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (มีสร้อยพระนามคงตามเดิม) เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสืบไปชั่วกาลนาน
อนึ่ง เมื่อได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์ปัจจุบันฉะนี้แล้ว จึงทรงพระราชดำริถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผู้ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์มาแต่อดีตกาล ก็มีคุณูปการในทางพุทธศาสนากิจสมัย นั้นมาเป็นอย่างยิ่ง สมควรจะสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นไว้เช่นเดียวกัน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งสองพระองค์นั้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ตั้งแต่บัดนี้สืบไปด้วย พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
(หมายเหตุ : รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสฯ ทรงมีพระชนมายุอยู่ในรัชกาลที่ ๔ เพียง ๒ พรรษา ก็ประชวรด้วยพระโรคชรา และสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ เวลาบ่าย ๓ โมง ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา
เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้มีตำแหน่งพระครูฐานานุกรม ประจำสำหรับรักษาพระอัฐิ ถึงเวลาเข้าพรรษาก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิทุกปี และถึงวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน วัดพระเชตุพนฯ ก็โปรดให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานในอุโบสถ ทรงสักการบูชาแล้วทอดผ้าไตร ให้พระฐานานุกรมสดับปกรณ์พระอัฐิเป็นประเพณีตลอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศสถาปนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส” เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔
|
ทรงได้รับเลื่อนเป็นเจ้าต่างกรมครั้งแรก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เป็น “กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์” และดำรงพระยศนี้อยู่จนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓ )
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศเลื่อน ”กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์” ให้ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ณ วันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔) และได้เลื่อนเป็น
“กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนาถ ปฐมพันธุมหาราชวรังกูร ปรเมนทรนเรนทรสูรสัมมานาภิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลาจารพิเศษมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ยุตมุตวาที สุวีรมนุญ อดุลยคุณคุณาธาร มโหฬารเมตตยาภิธยาศรัย ไตรปิฎกกลาโกศล เบญจปดลเศวตฉัตร สิริรัตโนปลักษณ มหาสมนุตตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิ์ธำรง มหาสงฆปริณายก พุทธสาสนดิลกโลกุตตมมหาบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฎิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ์ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกยปฎิพันธ พุทธบริษัทเนตร สมณคณินทราธิเบศร์ สกลพุทธจักโรปการกิจ สฤษดิศุภการ มหาปาโมกขประธานวโรดม บรมนาถบพิตร”
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ องค์การยูเนสโกได้มีมติรับข้อเสนอของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๒๕ ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก
องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศรายชื่อบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ และถวายพระเกียรติคุณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในฐานะ ปูชนียบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ ตามมติที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๒๕ ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ และชักชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมฉลองเนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook