สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)


 
ประสูติ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๒๗๖
พระชนมายุ ๘๙ พรรษา
พรรษา ๖๙
สิ้นพระชนม์ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๕
สถิต วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร


VIEW : 3,925

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

พระประวัติ


     สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า สุก พระองค์ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู จ.ศ. ๑๐๙๕ ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๒๗๖ (นับวันเดือนปีตามคัมภีร์จันทรคติ ประสูติเวลาไก่ขัน (ช่วงไก่กำลังอ้าปาก) การนับเวลาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงกับวันศุกร์ที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๒๗๖ นับวันเดือนปีตามคัมภีร์สุริยะยาตร์  ภายนอกกำแพงนอกคูเมือง ด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยา) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ณ ตำบลบ้านข่อย

ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า

     เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก

     เนื่องจาก พระองค์ทรงมีพระวรรณะขาวผ่องใส ไปข้างพระชนก ซึ่งเป็นชาวจีน พระชนก-ชนนีจึงขนานพระนามให้พระองค์ท่านว่า “สุก” มีความหมายว่า ขาว หรือ ใส

     ในเวลาที่พระองค์ประสูตินั้น ตรงกับยามที่เก้า เรียกว่ายาม “ไก่ขัน” ซึ่งเป็นการนับยามกลางคืน สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งกะเวลาประมาณได้ ๐๕.๔๘ นาที (เวลาตีห้า สี่สิบแปดนาที) ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์ วัดใกล้เคียงบ้านท่าข่อย

     เช่น วัดท่าข่อย (ท่าหอย) วัดพุทไธศวรรย์ วัดโรงช้าง กำลังทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้ามืดอยู่ เสียงสวดมนต์นั้นลอยลมมาถึงบ้านถ้าข่อย ซึ่งเงียบสงัด กล่าวกันว่า เวลาที่พระอาจารย์สุก ประสูตินั้น พระภิกษุกำลังสวดถึงบท “ชะยะปริตตัง” ตรงคำว่า ชะยันโต โพธิยา มูเล พอดี พร้อมกันนั้น ไก่ป่า ไก่วัด ไก่บ้าน ก็ร้องขันขาน รับกันเซ็งแซ่

     กล่าวอีกว่า ขณะที่พระองค์ประสูตินั้น ไก่ป่า ไก่บ้าน ไก่วัด พอถึงเวลาใกล้ยามไก่ขัน (ประมาณ ๐๕.๑๐ น.) ได้โบยบินมาในต้นไม้ใหญ่ ที่ใกล้บ้านมารดา-บิดา ของพระอาจารย์ พอถึงเวลายามไก่ขัน ไก่ป่า ไก่วัด ไก่บ้านทั้งสิ้น ได้พากันร้องขันขาน กันเซ่งแซ่ กลบเสียงพระสงฆ์สวดมนต์เวลาเช้ามืด แต่วันนี้ ไก่ทั้งสิ้น พากันร้องขานขัน กันนานกว่าทุกวัน ที่เคยได้ยินมาแต่ก่อน นับเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

     พระญาติ ข้างฝ่ายพระชนกของพระองค์ เป็นชนชาวจีน พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาสามชั่วอายุคนแล้ว คุณทวดเป็นพนักงานเรือสำเภาหลวง ตำแหน่งนายสำเภา เรียกเป็นภาษาจีนว่า จุ้นจู๋ มียศเป็น ขุน เป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดอยู่ในกรมพระคลังสินค้า พระมหัยยิกาของพระองค์ท่านรับราชการในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

     สมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ทางราชสำนักได้จ้างชาวต่างประเทศ มาเป็นพนักงานเดินเรือสำเภา ค้าขายระหว่างประเทศ มีชนชาวจีน เป็นต้น มาถึงรุ่นพระมหัยยิกา ของพระองค์ท่าน ก็เข้ารับราชการในกรมพระคลังสินค้าเช่นกัน มียศเป็นขุน ตำแหน่ง นายอากรปากเรือ ซึ่งเป็นอากรสินค้าขาเข้า อากรสินค้าขาออก ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่ พระอัยยิกาของพระองค์ท่านรับราชการอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ

     พระชนกของพระองค์มีพระนามว่า “เส็ง” เป็นเชื้อสายจีน สืบสายสกุลมาจาก พระอัยยิกาและพระมหัยยิกาของพระองค์ท่าน พระชนกรับราชการในกรมพระคลังสินค้า มียศเป็น ขุน ตำแหน่ง นายอากรนา อากรสวน ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระชนนีมีพระนามว่า “จีบ” เชื้อสายไทย ญาติทางฝ่ายพระชนนีของพระองค์ รับราชการ มียศเป็น ขุน เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำแหน่ง นายอากรสวน นายพลากร เก็บค่าสวนผลไม้ ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

     นอกจากรับราชการแล้ว พระชนนีของพระองค์ยังมีอาชีพทำสวน ทำนา ค้าขายข้าว ส่งให้กับกรมพระคลังสินค้า ส่งขายต่างประเทศอีกด้วย


อุบัติคู่พระบารมี

     กล่าวกันว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้อุบัติคนดีของศรีอยุธยาขึ้นสองพระองค์ กาลต่อมาปรากฏมีพระเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังในต้นกรุงรัตน์โกสินทร์ และทรงมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้

     พระองค์แรกทรงมีชื่อเสียงในทางราชอาณาจักร คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ผู้ทรงสร้างกรุงรัตน์โกสินทร์ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี

     พระองค์ที่สองทรงมีชื่อเสียงในทางพุทธจักร คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์ปฐมพระวิปัสสนาจารย์ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นพระอาจารย์กัมมัฏฐานประจำยุครัตนโกสินทร์ เรื่องราวของพระองค์ท่านนั้นได้รับการเล่าลือสืบขานมานาน สองร้อยปีเศษล่วงมาแล้ว ผ่านมาหลายชั่วอายุคน ทั้งในรูปแบบของจดหมายเหตุของทางราชการ และจดหมายเหตุของชาวบ้าน

     จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทั้งสองพระองค์นั้น เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีสร้างสมมาแต่อดีตกาล และต่างทรงเกื้อกูลซึ่งกัน ด้วยทรงสถาปนาความเจริญให้กับทั้งราชอาณาจักรและพุทธจักร พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับพระประวัติของ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) และธรรมทายาทของพระองค์ท่านทุกองค์ จึงมีปรากฏเรื่องราวมาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้


ชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์

     ขณะทรงเจริญพระชันษาได้ประมาณ ๑๒-๑๓ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น ทรงมีความสามารถ ตรัสภาษาจีนได้ เนื่องจากทรงได้ยินพระชนกเจรจากับข้าทาสบริวารทุกวัน และพระชนกของพระองค์ท่านซึ่งมีเชื้อสายจีน สอนให้พระองค์ท่านด้วย

     เมื่อทรงเจริญวัยขึ้นมา พระชนก-ชนนีก็ให้พระองค์ท่านไว้จุก ต่อมาเมื่อพระองค์ท่าน ทรงมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๓ พรรษา ทางบ้านของพระองค์ท่านก็จัดงาน โสกันต์ คือ งานโกนจุก ตามประเพณีไทย มีการอาราธนานิมนต์พระสงฆ์ วัดโรงช้าง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) มาเจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล พระสังฆเถรผู้ใหญ่ทำพิธีตัดจุก

     เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ทรงรักการอ่าน การเขียนทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และทรงมีพระปรกตินิสัย รักความสงบวิเวก พระองค์ท่านไม่ชอบเสียงอึกทึกวุ่นวาย ทรงมีพระทัยสุขุมเยือกเย็น เป็นคนเจรจาไพเราะ พูดน้อยอ่อนหวาน แบบคนไทย ติดมาข้างพระชนนี

     นอกจากนี้ ยังทรงชอบความสงบสงัดร่มเย็นของป่าดง บริเวณหลังสวน-ไร่นาของบ้านท่าน ติดกับป่าโปร่ง โล่งตลอดไปไกล เลยป่าโปร่งออกไป ก็เป็นป่าทึบบ้าง ป่าโปร่งบ้าง เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด

     เช่น หมูป่า ลิง ไก่ป่า กระรอก นก หลากหลายพันธุ์ ส่งเสียงร้อง เสียงขัน แข่งขันกันเซ็งแซ่ เป็นธรรมชาติ เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระปรกตินิสัยเมตตาติดพระพระองค์มาแต่กำเนิด ตลอดเป็นนิจกาล บรรดานกกา ลิงป่า เห็นพระองค์ท่านเดินมาแล้ว มักส่งเสียงร้องหันมาทางท่านเหมือนทักทาย

     ส่วนบรรดาไก่วัด ไก่บ้าน เห็นพระองค์แล้ว มักเดินเรียบเคียงร้องเสียงกุ๊กๆ เข้ามาหาพระองค์เสมอ ด้วยเมตตาจิตของ พระองค์ท่านนั้นเอง บรรดาไก่ป่าเห็นพระองค์เดินไปป่า มักเดินตามไปบ้าง บินตามไปบ้าง เมื่อพระองค์ทรงเดินกลับบ้าน ไก่ป่าก็เดินมาส่งท่านบ้าง บินตามมากับท่านบ้าง ลิงป่า นกป่า ก็ร้องและขันขานเหมือนทักทาย ตามส่งท่าน

     ทุกครั้งที่บ้านของพระองค์ มีเสียงอึกกระทึก วุ่นวาย ที่เกิดขึ้นจากการสั่งงานในบ้านของหัวหน้าบริวาร พระองค์มักชอบดำเนิน เดินหลบเสียงอึกกระทึก อืออึง ไปในป่าหลังบ้านแต่ลำพังพระองค์เดียวเสมอ พระองค์ทรงดำเนินไปเรื่อยๆ ห่างไกลจากที่ไร่ ที่สวน และหมู่บ้าน เข้าถึงป่าโปร่งอันเป็นที่เงียบสงบ จิตของพระองค์ก็สงบวิเวก

     เมื่อจิตของพระองค์สงบวิเวก พระองค์ก็จะทรงประทับนั่งลงตามโคนไม้ในท่านั่งปรกติ จิตก็ตั้งมั่น สงบเป็นสมาธิ และทรงแลเห็นรุกขเทวดาที่สิงสถิตตามต้นไม้ จากสมาธิจิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์ บางครั้งพระองค์ทรงเห็นว่าองค์เองอยู่ในเพศสามเณรบ้าง อยู่ในเพศบรรพชิตบ้าง

     แต่ครั้งนั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ จึงยังไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดีนัก (หรือท่านจะเข้าใจไม่อาจทราบได้ เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตสูง) และเมื่อพระองค์ทรงดำเนินไป หรือทรงดำเนินกลับจากป่า มักจะมี ไก่ป่า นก กา บินตามพระองค์ท่านไปเสมอๆ ด้วยได้รับกระแสความเมตตาของพระองค์ท่าน

     พระองค์มักจะได้พบกับพระสงฆ์สัญจรจาริกธุดงค์ มาปักกลดพักแรมอยู่ ณ บริเวณป่าโปร่งนั้นเสมอๆ พระองค์ทรงเห็นภาพนี้จนเคยชิน รุ่งเช้าพระสงฆ์รุกขมูล จะเดินออกจากชายป่ามารับอาหารบิณฑบาตร ในหมู่บ้านของพระองค์เสมอๆ ทุกครั้ง

     บางทีก็มีพระสงฆ์รุกขมูลมาจากที่อื่น พระองค์ทรงพบเห็นบ่อยๆ ณ ที่บริเวณแห่งนั้น ซึ่งเป็นที่เงียบสงบ ห่างไกลผู้คน ไม่พลุกพล่าน และพระสงฆ์รุกขมูล สามารถเดินมาบิณฑบาตโปรดสัตว์ ในหมู่บ้านท่าข่อย ได้สะดวก เพราะไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนัก ที่บ้านของพระองค์พระชนก-ชนนีของท่าน ออกใส่อาหารบิณฑบาต ตอนเช้าพระสงฆ์ทุกวัน มิได้ขาด ไม่เลือก ไม่เจาะจงพระสงฆ์ บางครั้งพระองค์ก็ทรงร่วมใส่ อาหารบิณฑบาตรด้วย

     วันหนึ่งเมื่อพระองค์ทรงเดินเข้าไปป่าโปร่งหลังสวนของบ้านท่านอย่างที่เคยไปทุกครั้ง แต่ครั้งนั้น พระองค์โสกันต์ คือโกนจุกแล้ว ณ ที่บริเวณแห่งนั้น พระองค์ท่านก็ได้พบพระภิกษุเถรผู้เฒ่า เพิ่งกลับมาจากสัญจรจาริกธุดงค์รูปหนึ่ง มาปักกลดพักผ่อนอยู่ ณ ที่บริเวณนั้น เมื่อท่านเดินมาถึง พระภิกษุเถรผู้เฒ่านั่งอยู่ในกลดก็กล่าวทักทายขึ้นก่อนว่า

     เออข้าฯมานั่งคอยเอ็งที่นี่นานหลายชั่วยามแล้ว พระองค์เห็นก็จำได้ว่า พระภิกษุเถรผู้เฒ่านั้นคือ ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) วัดที่อยู่ใกล้หมู่บ้านท่านนั้นเอง เนื่องจากพระชนก-ชนนีของท่าน ไปทำบุญที่วัดท่าข่อยบ่อยๆ อีกทั้ง ท่านขรัวตาทองก็มารับอาหารบิณฑบาตที่บ้านท่านเป็นประจำทุกเช้า โดยทางเรือ

     ท่านขรัวตาทอง ได้กล่าวกับ พระองค์ต่อไปอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่เจ้าจะต้องไปเรียนหนังสือกับข้าฯ ที่วัด พระองค์เองก็มีความประสงค์ที่จะไปเรียนหนังสือที่วัดเหมือนกัน เพราะพระองค์มีความใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียน ท่านขรัวตาทอง ได้กล่าวต่อไปอีกว่า พรุ่งนี้เพลาเช้าข้าฯ เข้าไปบิณฑบาตที่บ้านเจ้า ข้าจะบอกกับพ่อแม่ของเจ้า

     เวลานั้น ท่านขรัวตาทอง เพิ่งกลับจากสัญจรจาริกธุดงค์ เพราะเป็นเวลาเกือบจะเข้าพรรษาแล้ว ได้มาปักกลดพักผ่อนอิริยาบทอยู่ ณ ที่บริเวณแห่งนั้น ตั้งใจจะคอยพบพระองค์ (เด็กชายสุก)

     กล่าวกันว่า ท่านขรัวตาทอง รูปนี้ ท่านมีความเชี่ยวชาญทางสมถะ-วิปัสสนากัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ มีญาณแก่กล้า จึงสามารถที่จะทราบได้ว่าพระองค์ (หมายถึงหลวงปู่สุก เนื่องจากท่านคุ้นเคย กับท่านขรัวตาทอง มานานแล้ว) มักจะมาที่บริเวณนี้บ่อยๆ ท่านขรัวตาทอง จะมาปักกลดที่นี่ทุกปี ปีนี้ท่านจึงปักกลดคอยพบพระองค์ท่าน ไม่ไปให้ถึงวัดท่าข่อย (ท่าหอย) เลยทีเดียว

     พอรุ่งเช้า ท่านขรัวตาทองก็เข้ามาบิณฑบาตโปรดสัตว์ที่บ้านมารดาบิดาของพระองค์ มารดาบิดาของท่านเห็นพระภิกษุเถรชราผู้นี้แล้วก็ดีใจ ยกมือขึ้นนมัสการท่าน เพราะจำได้ว่า คือท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย ที่เคยเคารพนับถือกันมาก และคุ้นเคยกันมานาน พระชนก-ชนนีของพระองค์ก็กล่าวกับท่านขรัวตาทองว่า

     ท่านกลับมาจากรุกขมูลแล้วหรือ โยมจะนำลูกชายไปฝากเรียนหนังสือกับท่านที่วัด ท่านขรัวตาทอง กล่าวว่า ข้าก็ตั้งใจจะมาบอกโยมให้นำลูกชายไปเรียนหนังสือที่วัด เมื่อมีใจตรงกันทั้งสองฝ่าย ก็เป็นอันตกลงที่จะนำลูกชายไปฝากวัด เรียนหนังสือ


ชีวิตในวัยบวชเรียน

     สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น วัดคือที่อบรมสั่งสอนกุลบุตร ครูที่อบรมสั่งสอนคือพระสงฆ์ พระสงฆ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรู้มากมายหลายด้าน เด็กที่ได้เล่าเรียนหนังสือก็จะมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้น ไม่นิยมให้เด็กผู้หญิงไปเรียนหนังสือที่วัด เพราะครูที่สอนหนังสือเป็นพระสงฆ์ จึงไม่เหมาะที่เด็กผู้หญิงจะไปเรียน

     ครั้นเวลา แม่แลง (การนับเวลากรุงศรีอยุธยา) พระชนก-ชนนี ได้นำดอกไม้ธูปเทียน ตามประเพณีไทย นำพระองค์ไปฝากตัวกับ ท่านขรัวตาทอง ณ วัดท่าข่อย

     ต่อมาพระองค์ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดท่าข่อย ริมคลองบ้านข่อย ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งนับเป็นพระอาจารย์ พระองค์แรก ของพระองค์

     พระขรัวตา คือพระสงฆ์ที่คงแก่เรียน เรียนรู้วิชาการทุกอย่างไว้มาก มีพรรษายุกาลมาก เชี่ยวชาญสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ มีความรู้ความสามารถ ในการสอน อ่าน-เขียน อักขระขอม-ไทย ในการบอกหนังสือจินดามณี ในการบอกหนังสือคัมภีร์มูลกัจจายน์ (หนังสือเรียนไวยากรณ์บาลี) เป็นต้น เป็นพระสงฆ์ ที่มักน้อย สันโดษไม่มีสมณะศักดิ์ จึงเรียกขานกันว่า “พระขรัวตา”

     พระสงฆ์ในสมัยอยุธยาท่านมีความรู้ทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ สม่ำเสมอกัน สมัยนั้นนิยมเล่าเรียนศึกษาทั้งปริยัติ และปฏิบัติ ควบคู่กันไป โดยไม่แยกศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน

     อนึ่ง ท่านขรัวตาทอง ทางการคณะสงฆ์ เรียกขานท่านว่า พระอธิการทอง สถิตวัดท่าข่อย (ท่าหอย) ท่านขรัวตาทองมีชนมายุอยู่มาถึงในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา

     ท่านขรัวตาทอง ท่านจึงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์บอกพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับพระองค์แรก ของพระอาจารย์สุก ครั้งบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดท่าข่อย (ท่าหอย)

     ท่านขรัวตาทอง ท่านบรรพชา-อุปสมบทอยู่วัดโรงช้าง ต่อมาย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหอย ท่านศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ สืบต่อมาจาก พระครูวินัยธรรมจ้อย วัดท่าเกวียน กรุงศรีอยุธยา พระครูวินัยธรรมจ้อย ท่านเป็นศิษย์ศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ มาจาก พระพนรัตน (แปร) วัดป่าแก้ว กรุงศรีอยุธยา พระพนรัตน (แปร) ท่านมีพระชนมชีพอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าเสือ อยู่มาจนถึงพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ท่านขรัวตาทองท่านเป็นพระอานาคามีบุคคลพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา


พระปฏิปทาเมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร

     กล่าวกันว่า เมื่อท่านขรัวตาทอง กลับมาจากรุกขมูลครั้งนั้น อีกทั้งเหลือเวลาอีก เกือบเดือนก็จะเข้าพรรษาแล้ว ท่านขรัวตาทอง ดำริว่าสังขารชราภาพมากแล้ว จะไม่ออกธุดงค์อีก

     เมื่อเด็กชายสุก มาอยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านขรัวตาทอง ครั้งนั้น ท่านขรัวตาทอง มักเล่าเรื่องราวให้เด็กชายสุกฟัง

     ต่อมาเด็กชายสุกอยากจะออกไปธุดงค์บ้างโดยจะขอตามพระอาจารย์ไป แต่ ท่านขรัวตาทอง ไม่คิดออกธุดงค์แล้ว แต่ท่านเมตตาตาสงสารเด็กชายสุก อยากออกธุดงค์บ้าง ท่านขรัวตาทอง ท่านเล็งเห็นอุปนิสัยเด็กชายสุก มีอัธยาศัยทางนี้

     อยู่มาวันหนึ่งก่อนเข้าพรรษาประมาณ ๑๐ วัน ท่านขรัวตาทอง เรียกพระอาจารย์แย้มมาบอก ฝากวัดไว้สาม-สี่วันแล้วเรียกเด็กชายสุกมา บอกว่าจะพาออกธุดงค์ไปป่าเขาสามสี่วัน ท่านขรัวตาทอง ท่านมีอภิญญาจิต ชั่วเวลาไม่เท่าไร ท่านก็พาพระอาจารย์สุกมาถึงกลางป่าแห่งหนึ่ง พักปักกลด และออกเดินอยู่สามสี่วัน ท่านก็กลับถึงวัดท่าหอย ด้วยเวลาไม่กี่ยาม ด้วยอภิญญาจิต (ย่นระยะทาง)

     พระอาจารย์สุก ได้บรรพชาเป็นสามเณรครั้งนั้น พระองค์ท่านได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านขรัวตาทอง ผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งตอนนั้นท่านทุพพลภาพ ชราลงมากแล้ว

     สามเณรสุก ได้ผลัดเปลี่ยนกับสามเณรองค์อื่นๆ คอยดูแลพระอาจารย์ ต้มน้ำร้อน น้ำชา กลางวัน พระองค์ท่านทรงเล่าเรียนหนังสือภาษาไทย คัมภีร์จินดามณี

     ในเวลากลางคืน พระอาจารย์ของพระองค์ได้สอนให้นั่งสมาธิ โดยการสำรวมจิต สำรวมอินทรีย์ แต่การนั่งสมาธิเมื่อครั้งพระองค์เป็นสามเณรน้อยๆ นั้น พระอาจารย์ของพระองค์บอกให้พระองค์นั่งเจริญสมาธิเพื่อเป็นพื้นฐานไว้เท่านั้น แต่สามเณรน้อยๆ มีนิวรณ์ธรรมน้อย จิตจึงข่มนิวรณ์ธรรมได้เร็ว จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เร็ว จึงเป็นเหตุให้ สามเณรสุก ในครั้งนั้นมีพื้นฐานทางสมาธิภาวนาแต่นั้นมา

     กล่าวว่า เมื่อพระองค์ทรงสำรวมจิต เจริญสมาธิครั้งนั้น และด้วยบุญบารมี ของพระองค์ที่ได้สั่งสมมาช้านาน จิตของพระองค์ท่านก็ บรรลุถึง ปฐมฌาน ในวิสุทธิธรรมแรกๆ ท่านขรัวตาทองพระอาจารย์ของพระองค์ ตรวจดูเหตุการณ์นี้แล้วก็รู้ว่าพระองค์ท่านเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิด จะเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต แต่ท่านขรัวตาทอง ก็ไม่ได้สอนอะไรให้พระองค์เพิ่มเติม เพราะเห็นว่าพระองค์ยังเล็กอยู่ เพียงแต่บอกให้พระองค์ท่านนั่งสำรวมจิต ให้เป็นสมาธิอย่างเดียว

     ครั้นเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๖-๑๘ พรรษา ท่านขรัวตาทอง พระอาจารย์ของพระองค์เห็นว่าพระองค์พอจะรู้เรื่องสมาธิบ้างแล้ว จึงเริ่มบอกพระปีติ ๕ พระยุคล ๖ พระสุขสมาธิ ๒ ประการ และพระอานาปานสติบ้าง แต่มิได้ให้เข้าสะกด ตั้งใจไว้ให้ท่านอุปสมบทก่อน จึงจะให้ปฎิบัติสมาธิเป็นเรื่อง เป็นราวเป็นแแบบแผนที่หลัง และครั้นเมื่อท่านมีชนมายุได้ ๑๖-๑๘ พรรษา ท่านขรัวตาทอง ก็สอนให้ท่านอ่าน-เขียน อักษรขอมไทย จนพระองค์ท่านพอมีความรู้บ้าง

     ท่านขรัวตาทอง พระอาจารย์ของพระองค์ เล็งเห็นว่า กาลข้างหน้าเมื่อพระองค์ท่านทรงอุปสมบทแล้ว เวลานั้นจะมีพระมหาเถราจารย์ชี้แนะพระกัมมัฎฐานมัชฌิมาพระองค์ท่านเอง และ ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) ก็รู้ว่า อายุของท่านจะอยู่ไม่ถึงอุปสมบท สามเณรสุก เป็นพระภิกษุ


ทรงลาบรรพชา

     กาลเวลาผ่านไป พระองค์ก็สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ จนจบตามหลักของคัมภีร์จินดามณี และอักขระขอม พระอาจารย์ของ พระองค์ท่าน ก็สอนให้พระองค์ เมื่อทรงมีชนมายุย่างเข้าได้ ๑๖-๑๘ พรรษานี่เอง

      หลายปีต่อมาที่บ้านของพระองค์ บรรดาพี่น้องได้ออกเรือนไป (แต่งงาน) ท่านมีความสงสารพระชนก-ชนนี เป็นยิ่งนัก เนื่องจากท่านแก่ชราลงแล้ว ยังต้องมาดูแลกิจการเลือกสวนไร่นาอีก พระองค์จึงมีความดำริที่จะขอลาบรรพชา ออกมาจากสามเณร มาช่วยพระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ดูแลกิจการเลือกสวนไร่นา คนงานข้าทาสบริวาร เพื่อตอบแทนพระคุณพระชนก-ชนนี เพราะไม่อยากเห็นท่านลำบากกาย ลำบากใจ

      ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๒๙๔ พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา พระองค์จึงไปขออนุญาต ท่านขรัวตาทอง องค์พระอุปัชฌาย์ ขอลาบรรพชาจากสามเณร เพื่อออกไปช่วยพระชนก-ชนนี ดูแลกิจการเลือกสวนไร่นา ควบคุมคนงานข้าทาสบริวาร พระอุปัชฌาย์เห็นว่าพระองค์มีความกตัญญูต่อพระชนก-ชนนี ก็อนุญาตให้พระองค์ท่านลาบรรพชาไป

     เมื่อพระองค์ลาบรรพชาไปนั้น เมื่อว่างจากกิจการงาน พระองค์ท่านมักหลบไปเจริญสมาธิในป่าหลังบ้านเสมอๆ บางครั้งก็ไปวัดท่าหอยนั่งเจริญสมาธิบ่อยครั้ง และทรงเข้าหาพระอาจารย์ ท่านขรัวตาทอง เพื่อสอบอารมณ์ จนพระองค์สามารถเห็นรูปทิพย์ได้ ฟังเสียงทิพย์ได้ เรียกว่า ทรงเจริญกัมมัฎฐานสองส่วนได้ เห็นรูปทิพย์ และฟังเสียงทิพย์ ต่อมาพระองค์ทรงสามารถกระทบจิตได้อีกด้วย

      เมื่อพระองค์ทรงลาบรรพชาไปช่วยพระชนก-ชนนีดูแลกิจการได้ประมาณ ๒ ปีเศษ ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) ก็ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบลงด้วยโรคชรา

      เมื่อครบร้อยวันการทำบุญสรีระสังขารของท่านขรัวตาทอง พระองค์ และชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ก็ไปช่วยงานปลงศพ ท่านขรัวตาทอง ณ วัดท่าหอย

      เสร็จงานปลงศพท่านขรัวตาทอง วัดท่าหอย แล้วชาวบ้านทั้งหลายในวัดท่าหอย ได้ยกให้ พระอาจารย์แย้ม วัดท่าหอย ศิษย์ท่านขรัวตาทอง ขึ้นเป็นพระอธิการ วัดท่าหอย เป็นองค์ต่อมา


ทรงอุปสมบท

     ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๒๙๗ พระชนก-ชนนีของพระองค์ท่านชราภาพลงมากแล้ว พวกลูกๆ ต่างก็พากันมาคอยปรนนิบัติรับใช้ และช่วยดูแลกิจการ การทำสวนไร่นา ควบคุมข้าทาสบริวาร เป็นการแสดงความกตัญญู อันเป็นคุณธรรมที่บุตรพึงมีแก่มารดาบิดา

      ครั้งนั้นพระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ต้องการที่จะให้พระองค์ท่านอุปสมบท บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ตัวพระองค์เองก็มีความประสงค์ที่จะอุปสมบท บวชเรียน เพื่อทดแทนบุญคุณพระชนก-ชนนีด้วย ซึ่งเวลานั้นพระชนก-ชนนีของท่านก็มีความสุขสบายดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากการได้พักผ่อน จากการทำมาหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากมีพวกลูกๆ มาคอยดูแลปรนนิบัติรับใช้ และช่วยดูแลกิจการต่างๆ

      ครั้นเวลาใกล้เข้าพรรษาในปีนั้นประมาณต้นเดือนแปด พระชนก-ชนนีได้นำพระองค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์บวชเรียนกับ ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า วัดโรงช้าง ซึ่งเป็นวัดใหญ่อยู่นอกกำแพงเมือง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแนวเดียวกันกับวัดพุทไธศวรรย์ ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓-๔ เส้น ฝังตรงข้ามกับวัดโรงช้าง เลยคูเมืองไปทางทิศใต้เป็นประตูเมือง ชั้นนอก วัดโรงช้าง เป็นวัดใหญ่ เคยเป็นที่เลี้ยงช้างหลวงมาแต่โบราณกาล ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า วัดโรงช้าง ท่านเคยเป็นอุปัชฌาย์-อาจารย์ ของพระมหัยิกา และพระบิดาของพระองค์ท่านมาแต่กาลก่อน

      ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า ท่านมีนามเดิมว่า “สี” ชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่า หลวงปู่สี เป็นพระครูฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระครูรักขิตญาณ สถิตวัดโรงช้าง พระครูรักขิตญาณ (สี) ท่านศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ สืบต่อมาจาก พระครูวินัยธรรม (จ้อย) วัดท่าเกวียน อยุธยา พระครูวินัยธรรม (จ้อย) เป็นศิษย์ พระพนรัต (แปร) วัดป่าแก้ว ในรัชสมัยพระเจ้าเสือ กล่าวกันว่า ท่านพระครูรักขิตญาณ (สี) ท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล

      พระครูรักขิตญาณ (สี) นั้นท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาอุปสมบท พระอาจารย์สุก และเป็นพระอาจารย์บอกพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ เบื้องต้น องค์ที่สอง (เป็นการทบทวน) และสอนบาลี คัมภีร์พระบาลีมูลกัจจายน์เบื้องต้น ให้กับ พระอาจารย์สุก เมื่ออุปสมบทบวชเรียนในพรรษาต้นๆ ณ วัดโรงช้าง

      มีเรื่องเล่าว่า ในวันที่พระอาจารย์สุก บรรพชา-อุปสมบทที่วัดโรงช้างนั้น เมื่อพระสงฆ์ทำญัตติกรรมเสร็จลง ก็บังเกิดอัศจรรย์ ปรากฎมีแสงสว่าง เหลืองอร่ามพุ่งออกมาทางช่องประตูพระอุโบสถที่เจาะช่องไว้ พร้อมกันนั้นก็มีเสียงไก่ป่า ไก่บ้าน ไก่วัด ร้องกันระงมเซงแซ่ไปหมด คล้ายเสียงอนุโมทนาสาธุการบุญกุศล ผู้คนที่มาในงานบรรพชา-อุปสมบท เห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็ยกมือขึ้นอนุโมทนาสาธุการกันทั่วหน้าทุกตัวตนด้วยความปีติใจ

      กล่าวว่าแสงสว่างนั้น เป็นแสงของเทวดา และพรหมทั้งหลาย มาแสดงอนุโมทนายินดีที่พระอาจารย์สุกได้บรรพชา-อุปสมบทในครั้งนั้น

      พระอาจารย์สุก บรรพชา-อุปสมบทแล้ว ทรงได้รับพระฉายานามทางพระพุทธศาสนาว่า “พระปุณณะปัญญา” อุปสมบทแล้วในพรรษานั้นพระองค์ท่านได้ศึกษาการอ่าน เขียน อักขระขอมไทย เพื่อเป็นการทบทวน และเตรียมพระองค์ ในการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และศึกษา พระคัมภีร์บาลีมูลกัจจายน์ ซึ่งจารึกพระคัมภีร์ด้วยอักขระขอม ไทย

      การศึกษาภาษาบาลี คัมภีร์มูลกัจจายน์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่โบราณกาลนั้น กุลบุตรผู้บวชเรียน มีความประสงค์ที่จะศึกษา พระธรรม หรือพระบาลีคัมภีร์มูลกัจจายน์ ต้องเริ่มต้นด้วยการหัดเขียน หัดอ่าน อักษร ขอม ก่อน เพราะพระคัมภีร์พระธรรม และคัมภีร์บาลีจารไว้ด้วยอักษร ขอม กุลบุตรผู้บวชเรียน จะศึกษาพระคัมภีร์มูลกัจจายน์ หรือคัมภีร์พระบาลีใหญ่ ต้องท่องจำหลักไวยากรณ์ รากศัพท์อันเป็นสูตรมูล ทั้งภาคมคธ และภาคไทย ล้วนจารึกด้วยอักษรขอมทั้งนั้น

     ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ทรงจัดการข้างฝ่ายอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทรงพระราชดำริจัดการข้างฝ่ายพุทธจักรเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมโทรมเศร้าหมองเพราะการจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆ ตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงแสวงหาพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษจากที่ต่างๆ มาตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร เพื่อช่วยรับภาระธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป และก็ในคราวนี้เองที่ได้

     “ทรงโปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร

     พระอาจารย์วัดท่าหอยดังกล่าวนี้ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั่นเอง

     ครั้นถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

     “ศรีศยุภมัศดุ ฯลฯ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ (ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙) ให้พระญาณสังวรขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร อดิสรสังฆเถรา สัตวิสุทธิจริยาปรินายก สปิฎกธรามหาอุดมศีลอนันต์ อรัญวาสี สถิตย์ในราชสิทธาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จาฤกกฤตฤกาลอวยผลพระชนมายุศม ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด”

     สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในปีเดียวกันกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และนั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช

     ด้วยได้เห็นบัญชีนิมนต์พระสวดมนต์ในสวนขวา มีนามสมเด็จพระญาณสังวร อยู่หน้าสมเด็จพระสังฆราช เห็นจะเป็นด้วยมีพรรษาอายุมากกว่า

     สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับพระราชทานพัดงาสาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำวิจิตรกว่าพัดสำหรับพระราชาคณะสมถะสามัญ

     สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้ทรงเป็นพระอาจารย์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ครั้งยังทรงเป็น พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร ดังกล่าวแล้ว

     เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสีนิยมความสงบวิเวก จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มาอยู่ “วัดพลับ” อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร

     นอกจากนี้ เพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระราชทานใหม่ในที่ติดกับวัดพลับนั่นเอง เมื่อสร้างพระอารามใหม่เสร็จแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมวัดพลับเข้าไว้ในเขตของพระอารามใหม่นั้นด้วย แต่ยังคงใช้ชื่อว่าวัดพลับดังเดิม

     ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้ บริเวณอันเป็นวัดพลับเดิมนั้นอยู่ด้านตะวันตกของวัดราชสิทธารามปัจจุบันนี้

      อนึ่ง สำหรับวัดพลับ หรือวัดราชสิทธารามนั้น นับแต่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้มาอยู่ครองแต่ครั้งยังทรงเป็นที่ พระญาณสังวรเถร แล้ว ก็ได้กลายเป็นสำนักปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระที่สำคัญ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องประวัติวัดมหาธาตุว่า

      “ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ วัดอรัญวาสีที่สำคัญ ก็คือ วัดสมอราย ๑ กับ วัดราชสิทธาราม ๑”

      และพระเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น คงเป็นที่เคารพนับถือทั้งในฝ่ายเจ้านายในพระบรมราชวงศ์และในหมู่ประชาชนทั่วไป จึงได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์และเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์หลายพระองศ์ ดังได้กล่าวมาแล้ว

      อนึ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ก็ได้เสด็จมาประทับทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ และทรงศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนัก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธาราม นี้เป็นเวลา ๑ พรรษา โดยมีพระตำหนักสำหรับทรงบำเพ็ญสมาธิกรรมฐานโดยเฉพาะ เรียกว่า พระตำหนักจันทน์ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงสร้างถวาย ยังคงมีอยู่สืบมาจนบัดนี้

      นอกจากนี้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในรัชกาลที่ ๒ ก็ได้เสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระ ในสำนัก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธาราม เช่นกัน

      ดังที่พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชาธิบาย ไว้ในเรื่องวัดสมอรายอันมีนามว่า “ราชาธิวาส” ว่า

      “ได้ทรงประทับศึกษาอาจาริยสมัยในสำนักวัดราชาธิวาส ทรงทราบเสร็จสิ้นจนสุดทางที่จะศึกษาต่อไปอีกได้ จึงได้เสด็จย้ายไปประทับอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม คือ วัดพลับ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญเชี่ยวชาญในการวิปัสสนาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชในที่นั้น แต่หาได้ประทับประจำอยู่เสมอ ไม่เสด็จไปอยู่วัดพลับบ้าง กลับมาอยู่สมอรายบ้าง

      เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงสร้างพระศิรจุมภฏเจดีย์ไว้เป็นคู่กันกับพระศิราศนเจดีย์ ที่ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสำคัญว่า เคยเสด็จประทับศึกษา ณ สำนักอาจารย์เดียวกัน”

      เกี่ยวกับราชประเพณีนิยมทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ที่ทรงผนวชนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายไว้ว่า

      “อนุโลมตามราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดประดู่นั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยเป็นวัดอรัญวาสี อยู่ที่สงัดนอกพระนคร เพราะการศึกษาธุระในพระศาสนามีเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายคันถธุระต้องเล่าเรียนพระปริยัติธรรมโดยมคธภาษา อันต้องใช้เวลาช้านานหลายปี ไม่ใช่วิสัยผู้ที่บวชอยู่ชั่วพรรษาเดียวจะเรียนให้ตลอดได้

      แต่วิปัสสนาธุระอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นการฝึกหัดใจในทางสมถภาวนา อาจเรียนได้ในเวลาไม่ช้านัก และถือกันอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าชำนิชำนาญในทางสมถภาวนาแล้ว อาจจะนำคุณวิเศษอันนั้นมาใช้ในการปลุกเศกเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนในวิชาพิไชยสงครามได้ในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ เจ้านายที่ทรงผนวชมาแต่ก่อนจึงมักเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดอรัญวาสี เพื่อทรงศึกษาภาวนาวิธี”

      นัยว่าการศึกษาวิปัสสนาธุระ ของสำนักวัดราชสิทธาราม ในสมัยที่ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงครองวัดอยู่นั้นเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะผู้ครองวัดทรงเชี่ยวชาญและมีกิตติคุณในด้านนี้เป็นที่เลื่องลือ ครั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และเสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุแล้ว การศึกษาวิปัสสนาธุระแม้จะยังมีอยู่ แม้จะไม่รุ่งเรืองเท่ากับสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ยังทรงครองวัดนั้นอยู่ก็ตาม


พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง

     สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมาก ของพระบรมราชวงศ์ มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ปรากฏนาม พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ นับแต่คราวทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

      (๑) พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้ว วันแรกเสด็จประทับที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการฉลองเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน)

      (๒) พ.ศ. ๒๓๓๗ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๒ แต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๑ (พระนามเดิม จุ้ย) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

      (๓) พ.ศ. ๒๓๓๘ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พระนามเดิม บุญมา) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร วัดพลับ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมกิตติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

      (๔) พ.ศ. ๒๓๔๕ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระราชวังหลัง ในรัชกาลที่ ๑ (เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิม ทองอิน) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

      (๕) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระญาณสังวรเถร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์

      (๖) พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์

      แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นพระอาจารย์ ซึ่งกลับกันเป็นตรงกันข้าม

      ในเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่องความทรงจำ ว่า

      “พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ น่าจะกลับกันกับที่กล่าว (ในพระราชพงศาวดาร) คือสมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอาจารย์ถวายศีล เพราะสมเด็จพระญาณสังวร เป็นผู้มีอายุพรรษามาก นั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช (มี) ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แม้สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่ก่อน น่าจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์”

      นอกจากนี้ยังมีหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง กล่าวว่า

      “ด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๒ องค์ เป็นคู่กัน อยู่ที่ลานหน้าวัดราชสิทธาราม (อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระญาณสังวร) องค์หนึ่งขนานนามว่า ‘พระศิราศนเจดีย์’ ทรงอุทิศในพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกองค์หนึ่งมีนามว่า ‘พระศิรจุมภฏเจดีย์’ เป็นพระบรมราชูทิศในพระนามของพระองค์เองยังปรากฏอยู่ ตรัสว่าเพราะได้เคยเป็นศิษย์สมเด็จพระญาณสังวรมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์”


สมเด็จพระญาณสังวรรูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” นั้น นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นตำแหน่งที่ พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ

     ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงตั้ง พระอาจารย์สุก วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ซึ่งเป็นพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษในทางวิปัสสนาธุระ เป็นที่พระราชาคณะนั้น ก็ทรงตั้งในราชทินนามว่า พระญาณสังวรเถร อันเป็นราชทินนามที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ

     ครั้นมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระญาณสังวรเถร (สุก) ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ก็โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ ตามราชทินนามเดิม ที่ได้รับพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑

     สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเป็น “สมเด็จพระญาณสังวร” รูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๓๖๓ - ๒๓๖๕  เป็น เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
พ.ศ. ๒๓๖๓ - ๒๓๖๕  เป็น สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


     ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๒ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. ๑๑๘๑ นี้ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ

     เดิมทรงพระราชดำริที่จะตั้ง สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ถึงได้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ ณ เดือน ๔ พ.ศ. ๒๓๖๒ ปีเถาะ เอกศก นั้นแล้ว แต่เมื่อปีมะโรง โทศก ข้างต้นปี เกิดอหิวาตกโรคมาก ยังไม่ทันจะได้ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช ถึงเดือน ๑๑ มีโจทก์ฟ้องกล่าวอธิกรณ์สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) ว่าชอบหยอกเอินศิษย์หนุ่มด้วยกิริยาที่ไม่สมควรแก่สมณะ ชำระได้ความเป็นสัตย์ อธิกรณ์ไม่ถึงเป็นปาราชิก จึงเป็นแต่ให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระราชาคณะและเนรเทศไปจากพระอารามหลวง

     ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่ และได้เป็นพระอาจารย์ เป็นที่เคารพในพระราชวงศ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีเถาะ เอกศก พ.ศ. ๒๓๖๒

     ครั้นเมื่อถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง โทศก จ.ศ. ๑๑๘๒ ตรงกับวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงทรงตั้งสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช

ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

     “ศริศยุภอดีตกาล พระพุทธสักราช ชไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤกไตรสัตฐีสัตมาศ ปัตยุบันกาล นาคสังวัจฉรมฤคศฤระมาศ ศุกขปักขคุรุวาระนวมีดิถี ปริจเฉทกาลอุกฤษฐ

     สมเด็จบรมธรรมมฤกะมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนา ให้สมเด็จพระญาณสังวรเปนสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศร วรทักษิณาสฤทธิสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณาธิกร จัตุพิธบรรพสัช สถิตในพระศรีรัตนมหาธาตุบวรวิหารพระอารามหลวง”

     เมื่อ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๘ พรรษาแล้ว ดังนั้น จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ไม่ถึง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์ เหตุที่ไม่ได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน สันนิษฐานว่าเพราะทรงเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ แต่ประเพณีการเลือกสมเด็จพระสังฆราช คงถือเอาคันถธุระเป็นสำคัญ

     สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ จึงไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน มาในครั้งนี้เห็นจะทรงพระราชดำริว่า พรรษาอายุท่านมากอยู่แล้ว มีพระราชประสงค์จะสถาปนาให้ถึงเกียรติยศที่สูงสุดให้สมกับที่ทรงเคารพนับถือ เข้าใจว่าเห็นจะถึงทรงวิงวอน ท่านจึงรับเป็นสมเด็จพระสังฆราช

พระอวสานกาล


     สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๑ ปี กับ ๑๐ เดือนเท่านั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย ในรัชกาลที่ ๒ มีพระชนม์มายุได้ ๘๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

     พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูง บางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงด้วยเหตุที่ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถืออย่างยิ่งนั้นเอง

     ส่วนการพระเมรุนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อเดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๖๕ นั้น

     ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิ ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

     ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ขนาดย่อมขึ้นอีก ประดิษฐานไว้ในหอพระนาก พร้อมกันกับรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม ซึ่งเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของพระองค์ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) อีกองค์หนึ่งขนาดเท่าพระองค์จริง

     พระราชดำริเดิม เข้าใจว่าคงจะทรงสร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของพระองค์เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ยังไม่ทันได้เชิญไปประดิษฐาน เพราะการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดมหาธาตุ ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์ดังกล่าวนี้ จึงค้างอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

     ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ ปรากฏตามหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ ว่า โปรดเกล้าฯ ให้เชิญไป เมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๑๔ พ.ศ. ๒๓๙๕ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแท่นจำหลักมีลวดลายเป็นรูปไก่เถื่อนเป็นที่รองรับ พระรูปเพิ่มเติมขึ้น และยังคงสถิตอยู่ในพระวิหารวัดมหาธาตุมาจนบัดนี้

สมณศักดิ์


เป็น พระราชาคณะ ที่ พระญาณสังวร
พ.ศ. ๒๓๕๙ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระญาณสังวร อดิสรสังฆเถรา สัตวิสุทธิจริยาปรินายก สปิฎกธรามหาอุดมศีลอนันต์ อรัญวาสี
พ.ศ. ๒๓๖๓ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ ปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศรวรทักษิณาสฤทธิสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

ที่มา


ลานธรรมจักร
ทำเนียบพระราชาคณะชาติภูมิกรุงเทพมหานคร


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook