สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.๙) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.๙)


 
ประสูติ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐
พระชนมายุ ๗๔ พรรษา
ผนวช ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐
พรรษา ๕๔
สิ้นพระชนม์ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
สถิต วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๙


VIEW : 2,203

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

พระประวัติ


     สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า ลำจวน ศิริสม ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น จวน ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ตรงกับวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

     เมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี ได้เข้ามาศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดคฤหบดี จังหวัดธนบุรี จนจบชั้น ป.๓ แล้วกลับภูมิลำเนา

     ถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงจบชั้นมัธยมศึกษา แล้วเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ไม่นานต้องลาออกเพราะประชวรโรคเหน็บชา ถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงไปศึกษาอยู่กับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทดฺโต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณารามราชวรวิหาร (วัดเขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพี่ชายของพระอัยกา (ตา) จนพระองค์มีพระชันษา ๑๖ ปี จึงได้มาศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม


บรรพชาอุปสมบท

     บรรพชา เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ.๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ.๗) เป็นพระสรณคมนาจารย์

     อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ.๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชกวี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ.๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

     ระหว่างดำรงสมณเพศได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในทางวิชาการ โดยเป็นบรรณาธิการหนังสือวารสารรายปักษ์สยามวัด ทำให้พระองค์มีความสามารถในการประพันธ์ต่าง ๆ มีโคลง ฉันท์ เป็นต้น


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๐ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๖๐ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๑ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๖๒ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๕ สอบได้ เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๖๗ สอบได้ เปรียญธรรม ๗ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้ เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๒ สอบได้ เปรียญธรรม ๙ ประโยค

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็น กรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๔๗๙  เป็น กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ฉบับใหม่
พ.ศ. ๒๔๘๕  เป็น สมาชิกสังฆสภา
พ.ศ. ๒๔๘๖  เป็น ผู้รักษาการ ในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส
พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๑๔  เป็น เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๔๘๙  เป็น ผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส
พ.ศ. ๒๔๙๓  เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายกสมัยที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น สังฆนายก สมัยที่ ๑
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๐๓  เป็น สังฆนายก ครั้งที่ ๒
พ.ศ. ๒๕๐๕  เป็น ผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๕๐๖  เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๔  เป็น สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๕๐๘  เป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ข้อ ๖

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๔  เป็น ครูสอนพระธัมมปทัฏฐกถา
พ.ศ. ๒๔๖๗  เป็น ครูสอนมังคัลถทีปนี โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์ฯ
พ.ศ. ๒๔๗๐  เป็น กรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๗๑  เป็น กรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอกในสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๗๑  เป็น กรรมการตรวจบาลี ประโยค ๔-๕-๖
พ.ศ. ๒๔๗๕  เป็น อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนบาลี สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น กรรมการและอนุกรรมการหลายคณะ คือ อนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียน เช่น นวโกวาท และ พุทธศาสนสุภาษิต
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น กรรมการอำนวยการหนังสือธรรมจักษุ
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น กรรมการอุปนายก
พ.ศ. ๒๔๗๖  เป็น นายกกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

งานเผยแผ่

พ.ศ. ๒๔๗๗  เป็น พระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก)
พ.ศ. ๒๔๗๙  เป็น กรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี
พ.ศ. ๒๔๙๗  เป็น ประธานกรรมการจัดรายการแสดงธรรมทางวิทยุในวันธรรมสวนะ

ด้านการต่างประเทศ

     เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ตามคำเชิญของพุทธบริษัทของประเทศนั้น ๆ ทรงไปร่วมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกที่ ย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔

งานพระนิพนธ์

  • พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงแปลตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เพื่อใช้เป็นตำรา
  • พ.ศ. ๒๔๘๒ ทรงแต่ง รตนตฺตยปฺปภาวสิทฺธิคาถาแทน รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา และได้ใช้สวดในพระราชพิธีต่อมา

     ยังมีพระนิพนธ์อีกมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง เช่น มงคลในพุทธศาสนา สาระในตัวคน วิธีต่ออายุให้ยืน การทำใจให้สดชื่นผ่องใส และฉันไม่โกรธเป็นต้น และมีพระธรรมเทศนาอีกหลายร้อยเรื่อง ที่สำคัญคือ มงคลวิเศษคาถา ที่แสดงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

สิ้นพระชนม์


     สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในท้องที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๑๐:๐๕ น. สิริพระชันษา ๗๔ ปี ๓๓๖ วัน คณะปฏิวัติประกาศให้สถานที่ราชการลดธงลงครึ่งเสา ๓ วัน และข้าราชการไว้ทุกข์ ๑๕ วัน เพื่อถวายความอาลัย และได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕

สมณศักดิ์


๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระกิตติสารมุนี
๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูษิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณ สุนทรธรรมภูษิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระศาสนโศภน วิมลญาณอดุลย์สุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูสิต ธรรมนิตยสาทร อุดมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสสุต พุทธพจนมธุรสธรรมวาที คัมภีรญาณปริยัติกุสโลภาส ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ วิสารศีลาจารวัตร เวไนยบริษัทประสาทกร ธรรมยุติกคณิสสรมหาสังฆนายก
๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ อุฏฐายีภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมสาสนโสภณ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

ที่มา


เว็บ-พระ
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคตะวันตก
ภิเดช อัชนกุล. ทำเนียบพระราชาคณะ จังหวัดราชบุรี. กรุงเทพมหานคร : ยอดสิงห์การพิมพ์. หน้า ๒๐-๒๑


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook