สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.๙) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.๙)


 
ประสูติ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖
พระชนมายุ ๑๐๐ พรรษา
พรรษา ๘๐
สิ้นพระชนม์ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
สถิต วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๙


VIEW : 3,959

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

พระประวัติ


     สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตของพระชนกน้อย คชวัตร และพระชนนีกิมน้อย คชวัตร พระองค์มีน้องชาย ๒ คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร และนายสมุทร คชวัตร บิดาของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของนางกิมเฮ้ง หรือกิมเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของนางกิมน้อยที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู และนางกิมเฮ้งจึงตั้งชื่อหลานชายผู้นี้ว่า "เจริญ"

     พระชนกน้อย คชวัตร เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดสี่คนของเล็ก กับแดงอิ่ม คชวัตร เป็นหลานปู่-หลานย่าของหลวงพิพิธภักดี ผู้เคยเป็นข้าราชการชาวกรุงเก่า กับนางจีนผู้ภริยาหลวงพิพิธภักดีเป็นหลานยายของท้าวเทพกระษัตรี ส่วนพระชนนีกิมน้อย หรือน้อย ซึ่งเคยเปลี่ยนชื่อเป็นแดงแก้วนั้น มีบิดาเป็นคนเชื้อสายจีนคือนายเฮงเล็ก แซ่ตั๊น กับมารดาเชื้อสายญวนชื่อนางทองคำ ครั้นนายเฮงเล็กถึงแก่กรรม นางทองคำจึงสมรสใหม่กับนายสุข รุ่งสว่าง มีบุตรด้วยกัน ๔ คน

     เมื่อพระชันษาได้ ๘ ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม ๕ (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ในขณะที่มีพระชันษา ๑๒ ปี หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า "เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้าที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย" จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น


บรรพชาและอุปสมบท

     ทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ ) จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี พระครูอดุลยสมณกิจ (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

      พระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี พระครูอดุลยสมณกิจ (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัด หรุงนามสกุลเซี่ยงฉี เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทแล้วทรงจำพรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา 

     เมื่อออกพรรษาแล้ว ในศกเดียวกันได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ( หม่อมราชวงศ์ ชื่น สุจิตฺโต ป.๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (จู อิสฺสรณญาโณ ป.๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์


การศึกษาพระปริยัติธรรม

     พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) พระอุปัชฌาย์ ที่ตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเตรียมไว้ให้ โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลีโดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม ๓ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓

     พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมากในการสอบเปรียญธรรม ๔ ประโยค แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า "คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว" แต่เมื่อทรงคิดทบทวนและไตร่ตรองดูว่าทำไมจึงสอบตก ก็ทรงตระหนักได้ว่าเหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจากความประมาทโดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์สอบตก เมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๔ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕

     หลังจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา ๑ พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม ๙ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔


การศึกษา

ทรงเรียนพระปริยัติธรรมและทรงสอบไล่ได้ชั้นต่างๆ เป็นลำดับมาในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้
ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม จบชั้นประถม ๕ (เทียบชั้นมัธยม ๒) หลังจากทรงบรรพชาแล้ว
พ.ศ. ๒๔๗๒ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๗๓ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๗๓ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบได้ เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบได้ เปรียญธรรม ๗ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๑ สอบได้ เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๔ สอบได้ เปรียญธรรม ๙ ประโยค


เกียรติคุณ


พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับถวายปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับถวายอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้รับถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น สมาชิกสังฆสภา โดยตำแหน่ง
พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น กรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย
พ.ศ. ๒๔๘๙  เป็น พระวินัยธรชั้นอุทธรณ์
พ.ศ. ๒๔๙๓  เป็น กรรมการเถรสมาคม คณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราว
พ.ศ. ๒๔๙๖  เป็น กรรมการตรวจชำระคัมภีร์ฎีกา
พ.ศ. ๒๔๙๗  เป็น กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต ประเภทถาวร
พ.ศ. ๒๔๙๘  เป็น เลขานุการ ในองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นเลขานุการ ในองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ สมเด็จวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. ๒๔๙๙  เป็น พระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งทรงพระผนวชและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๙๙  เป็น รักษาการวินัยธรชั้นฎีกา
พ.ศ. ๒๕๐๐  เป็น กรรมการพิจารณาร่างพระเบียบบริหารวัดธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็น กรรมการคณะธรรมยุติ
พ.ศ. ๒๕๐๑  เป็น กรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระศาสนา และมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)
พ.ศ. ๒๕๐๓  เป็น สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง สั่งการองค์การปกครองฝ่ายธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๕๖  เป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๐๔  เป็น ผู้รักษาการณ์เจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค
พ.ศ. ๒๕๐๔  เป็น พระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๕๐๖  เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรก ตามพระราชบัญัญติคณะสงฆ์ พ. ศ. ๒๔๐๕
พ.ศ. ๒๕๑๕  เป็น เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร - สมุทรปราการ (ธ)
พ.ศ. ๒๕๑๗  เป็น ประธานกรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๑๙  เป็น ประธานกรรมการมูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์
พ.ศ. ๒๕๒๘  เป็น รองประธานกรรมการสังคีติการสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก
พ.ศ. ๒๕๓๑  เป็น รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๕๖  เป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๕๖  เป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๔  เป็น ผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๘๙  เป็น กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น กรรมการอำนวยการมหามงกุฎราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๙๔  เป็น กรรมการแผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๔  เป็น ผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๔  เป็น ประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๑๘  เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนครูปริยัติธรรมคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๓๑  เป็น นายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๓๑  เป็น นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย

งานเผยแผ่

พ.ศ. ๒๕๐๗  เป็น อนุกรรมการพิจารณร่างระเบียบการเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุและสามเณร
พ.ศ. ๒๕๐๙  เป็น ประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมยุตไปต่งประเทศของมหาเถรสมาคม

ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ

     พระองค์ได้เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการมาโดยลำดับ ดังนี้

  • พ.ศ. ๒๕๐๙ ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และดูกิจการพระธรรมทูตในประเทศอังกฤษและอิตาลี
  • พ.ศ. ๒๕๑๑ เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ อันเป็นผลให้ต่อมาได้มีการวางแผนร่วมกับชาวพุทธอินโดนีเซีย ในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น และได้ส่งพระธรรมทูตชุดแรกไปยังอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้ส่งพระภิกษุจากวัดบวรนิเวศ ออกไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖, และตั้งสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
  • พ.ศ. ๒๕๑๔ เสด็จไปดูการพระศาสนา และการศึกษาในประเทศเนปาล และอินเดีย ปากีสถาน ตะวันออก (บังคลาเทศ) ทำให้เกิดงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล ในขั้นแรก ได้ให้ทุนภิกษุ สามเณรเนปาลมาศึกษาพระพุทธศาสนาในไทย ที่วัดบวรนิเวศฯ
  • พ.ศ. ๒๕๒๐ เสด็จไปบรรพชาชาวอินโดนีเซีย จำนวน ๔๓ คน ที่เมืองสมารัง ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย
  • พ.ศ. ๒๕๒๘ ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ ไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดจาการ์ต้าธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการผูกพันธสีมาอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นครั้งแรกของประเทศอินโดนีเซีย และในปีเดียวกันนี้ ได้เสด็จไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากย แห่งเนปาล จำนวน ๗๓ คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
  • พ.ศ. ๒๕๓๖ เสด็จไปเจริญศาสนาสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เป็นครั้งแรก ที่ประเทศจีน ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน
  • พ.ศ. ๒๕๓๘ เสด็จไปเป็นประธาน วางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ ลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งรัฐบาลไทยจัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี

ด้านสาธารณูปการ

     ได้ทรงบูรณะซ่อมสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ

ปูชนียสถาน

     ได้แก่ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระบรมธาตุ เจดีย์ศรีนครินทรมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง

     พระอาราม ได้แก่ วัดสันติคีรี ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย วัดรัชดาภิเศก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี วัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพุมุด อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ วัดพุทธรังสี นครซิดนีย์ออสเตรเลีย วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย วัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร เมืองกิรติปูร เนปาล

โรงเรียน

  ได้แก่ โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร ยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต กาญจนบุรี

โรงพยาบาล

     ได้แก่ การสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร และตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี, โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี, และโรงพยาบาลสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม ๑๙ แห่ง ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายแห่ง

พระนิพนธ์

     ทรงนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป พอประมวลได้ดังนี้

ประเภทตำรา

     ทรงเรียบเรียงวากยสัมพันธ์ ภาค ๑-๒ สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบ การศึกษาของนักเรียนบาลี และทรงอำนวยการจัดทำ ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ

ประเภทพระธรรมเทศนา

     มีอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่พิมพ์เป็นเล่มแล้วเช่น ปัญจคุณ ๕ กัณฑ์, ทศพลญาณ ๑๐ กัณฑ์, มงคลเทศนา, โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ กัณฑ์, สังฆคุณ ๙ กัณฑ์ เป็นต้น

ประเภทงานแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

     ทรงริเริ่มและดำเนินการให้แปลตำราทางพุทธศาสนา จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น นวโกวาท, วินัยมุข, พุทธประวัติ, ภิกขุปาติโมกข์, อุปสมบทวิธี, และทำวัตรสวดมนต์ เป็นต้น

ประเภททั่วไป

     มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การนับถือพระพุทธศาสนา, หลักพระพุทธศาสนา, พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านล้ำเลิศ, ๔๕ พรรษาพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร (ไทย-อังกฤษ), วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ, พระพุทธศาสนากับสังคมไทย, เรื่องกรรม ศีล (ไทย-อังกฤษ), แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน, อาหุเณยโย, อวิชชา, สันโดษ, หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมจิต, การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่, บัณฑิตกับโลกธรรม, แนวความเชื่อ, บวชดี, บุพการี-กตัญญูกตเวที, คำกลอนนิราศสังขาร, และตำนานวัดบวรนิเวศ เป็นต้น

การปฏิบัติหน้าที่ด้านคณะสงฆ์


     หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม ๙ แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์อีกมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาของภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่งในฐานะเป็นพระเปรียญ ๙ ประโยค ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย

     เมื่อมีพระชันษาได้ ๓๔ ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ โดยราชทินนามทั้ง ๒ ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก

     ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาคและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ได้รับการสถาปนาที่ พระสาสนโสภณ พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ และยังคงดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย

สมเด็จพระสังฆราช


     พ.ศ. ๒๕๑๕ พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานสถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น

     เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ กล่าวคือ สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น โดยปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ บางพระองค์ ครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งครั้งมีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ (ในพระนามใช้ราชทินนาม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)

สิ้นพระชนม์


     สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๙:๓๐ นาฬิกา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต มีการเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มายังตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๒:๑๕ นาฬิกา ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงสรงน้ำพระศพในวันเดียวกัน เวลา ๑๗:๐๐ น. ทรงพระกรุณาโปรดถวายพระโกศกุดั่นใหญ่ทรงพระศพแทนพระโกศกุดั่นน้อย ประดิษฐานภายใต้เศวตฉัตรสามชั้น แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระเกียรติยศ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร และให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพเจ็ดวัน

     การนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานเลื่อนชั้นยศพระโกศจากพระโกศกุดั่นน้อยเป็นพระโกศกุดั่นใหญ่ตั้งแต่วันแรกที่สิ้นพระชนม์ ครั้นถึงวาระพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดถวายพระโกศทองน้อยทรงพระศพและให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้นกางกั้นพระโกศ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษเพราะยังไม่เคยปรากฏการพระราชทานเลื่อนพระโกศถึงสองครั้งมาก่อน

     สำหรับพระอัฐิของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกประดิษฐาน ณ พระตำหนักเดิม ซึ่งเป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารทุกรูป ส่วนที่สองประดิษฐานที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ทรงผนวชและส่วนที่สามประดิษฐานที่วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์สร้างขึ้น ส่วนพระสรีรางคารประดิษฐานที่พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

     ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในฐานะพระราชกรรมวาจาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร" ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป

สถานที่เนื่องด้วยพระนาม


  • โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ (เจริญ สุวฑฺฒโน) จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
  • โรงพยาบาลญาณสังวร เชียงราย
  • โรงพยาบาลญาณสังวร ชลบุรี
  • ตึก๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
  • อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สภากาชาดไทย
  • วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
  • อาคารสมเด็จพระญาณสังวร โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ (เจริญ สุวฑฺฒโน) จังหวัดกาญจนบุรี

สมณศักดิ์


๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภนคณาภรณ์
พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกคุณวิภูสิต ธรรมวิทิตคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ มลญาณสุนทร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ อุดมศีลจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี [2]
๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช
๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณราชาภินิษกรมณาจารย์ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนวิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร [3]

ตำแหน่งที่ได้รับการถวาย

     ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา (Supreme Holiness of World Buddhism) อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับการทูลถวายจากผู้นำชาวพุทธโลกจาก ๓๒ ประเทศเข้าร่วมประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกชนแห่งโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ในฐานะที่ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุด รวมทั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแห่งประเทศไทย ผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรมนำ ไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมีพระบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและทั่วโลก นับเป็นแบบอย่างของสากลโลก ซึ่งเป็นการมอบตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกของโลก

พระเกียรติยศพิเศษ

     พ.ศ. ๒๕๔๓ รัฐบาลแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้ทูลถวายสมณศักดิ์ ที่อภิธชมหารัฎฐคุรุ อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดแห่งคณะสงฆ์เมียนมาร์แด่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ พร้อมทั้งถวายที่ดินบริเวณพระมหาเจดีย์ชะเวดากอง ๑ เอเคอร์ สำหรับสร้างวัดไทยในสหภาพเมียนมาร์ด้วย ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปที่ ๒ ที่ได้รับสมณศักดิ์ตำแหน่งนี้ (พระองค์แรกคือ สมเด็จพระสังราชเจ้า กรมหลวง วชิรญาณวงศ วัดบวรนิเวศวิหาร)


ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔, ตอนที่ ๖ ง, ๑๒ มกราคม ๒๕๐๐, หน้า ๑
2. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๘๙, ตอนที่ ๒๐๒ ก, ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕, หน้า ๔
3. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า, เล่ม ๑๓๖, ตอนที่ ๔๐ ข, ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒, หน้า ๒
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
wikipedia.org


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook