พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) | พระสังฆาธิการ

พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ)


 
เกิด ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙
อายุ ๙๓ ปี
อุปสมบท ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐
พรรษา ๗๓
มรณภาพ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
วัด วัดประดู่ฉิมพลี
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 1,437

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระราชสังวราภิมณฑ์ มีนามเดิมว่า โต๊ะ รัตนคอน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน ณ บ้านคลองบางน้อย ตำบลบางพรหม อำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม โยมบิดาชื่อนายพลอย โยมมารดาชื่อนางทับ รัตนคอน


บรรพชาอุปสมบท

     บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยมี พระอธิการสุข เป็นอุปัชฌาย์

     บรรพชาได้วันเดียว พระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปการะท่านต่อมา เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็มาเรียนศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่ วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งต่อมามีพระอธิการคำ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา พร้อมทั้งเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์พรหม วัดประดู่ฉิมพลีอีกท่านหนึ่งด้วย

     จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี สามเณรโต๊ะ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ณ พัทธสีมาวัดประดู่ฉิมพลี โดยมี พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า อินฺทสุวณฺโณ


การศึกษา

     ท่านได้เรียนศึกษาปฏิบัติคันทธุระ วิปัสสนาธุระ หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นคนมีความเพียรพยายาม จนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นตรี

     ต่อมาหลวงปู่โต๊ะ ได้ออกธุดงค์จาริกไปทั้วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ท่านได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรม โดยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เรียนวิชาพุทธาคม และได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน และก็ได้ธุดงค์ไปยังภาคเหนือเพื่อศึกษาวิชากับพระอาจารย์อีกหลายท่าน และในขณะที่ท่านเดินธุดงค์ ท่านก็ได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชสิทธาราม ส่วนสหธรรมิกของท่านที่มีชื่อเสียงได้แก่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง หลวงพ่อกล้าย วัดหงส์รัตนาราม และต่อจากนั้น ท่านก็เดินทางไปยังภาคใต้ ไปที่จังหวัดปัตตานี และเมื่อหลวงปู่ท่านกลับมาที่ จังหวัดธนบุรี กลับมายังวัดประดู่ฉิมพลี ท่านก็ได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๔๕๖  เป็น เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี
พ.ศ. ๒๔๙๙  เป็น เจ้าคณะตำบลวัดท่าพระ
พ.ศ. ๒๔๙๙  เป็น รักษาการเจ้าอาวาสวัดประดู่ในทรงธรรม
พ.ศ. ๒๕๐๐  เป็น พระอุปัชฌาย์

มรณกาล


     พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) ท่านได้เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากว่า ตั้งแต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีผู้คนมานิมนต์ท่านให้ออกมาให้พร หรือ ขอความช่วยเหลือ ท่านจึงไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน สุขภาพท่านจึงไม่ค่อยแข็งแรง แต่ยังพอฉันอระไรได้มาก แม้จะรักษาอย่างดีเท่าใด แต่สุขภาพ กายสังขารของท่านก็ไม่อาจจะทนไหว ท่านได้อาพาธครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔ และก่อนมรณภาพได้เพียง ๗ วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะลูกศิษย์ทีเป็นพยาบาล ได้มาถวายรังนกอีก แต่คราวนี้สังเกตได้ว่า แขนของท่าน บวม ท่านอยู่ได้จนกระทั่งเมื่อเวลา ๐๙.๕๕ น. ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ ๙๓ ปี ๑๐ เดือน ๒๒ วัน พรรษา ๗๓

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา ๑๐๐ ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ

     และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็น พระครูสังฆวิชิต ฐานานุกรมใน สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูวิริยกิตติ์
พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระสังวรวิมลเถร [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสังวราภิมณฑ์ โสภณภาวนานุสิฏฐ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๐, ตอนที่ ๑๗๗ ง, ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๖, หน้า ๘
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๗, ตอนที่ ๖๐ ง, ๑๖ เมษายน ๒๕๒๓, หน้า ๑๐
‎ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคตะวันตก


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook