พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร ป.ธ.๔) | พระสังฆาธิการ

พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร ป.ธ.๔)


 
เกิด ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔
อายุ ๙๖ ปี
อุปสมบท ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔
พรรษา ๗๖
มรณภาพ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
วัด วัดชลประทานรังสฤษดิ์
ท้องที่ นนทบุรี
สังกัด มหานิกาย


VIEW : 3,027

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระพรหมมังคลาจารย์ มีนามเดิมว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน (ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) ณ ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีชื่อเล่นว่า ขาว แต่โยมมารดาเรียกว่า หมา โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายวัน และนางคล้าย เสน่ห์เจริญ (จุลบุษรา) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตคนที่ ๔ กล่าวคือ มีพี่สาว ๒ คนชื่อ ขำ อนุวงศ์ และดำ บุญวิสูตร (เสียชีวิตทั้งคู่) พี่ชาย ๑ คนชื่อ พ่วง (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก) และน้องสาว ๑ คนชื่อ หนูกลิ่น กฤตรัชตนันท์ (ยังมีชีวิตอยู่) ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ เลี้ยงวัวควาย ฐานะพอกินพอใช้ไม่ถึงกับร่ำรวย

     วัยเด็ก พ.ศ. ๒๔๖๒ เข้าศึกษาชั้น ป.๑ เมื่ออายุย่างเข้า ๘ ขวบ ที่โรงเรียนประจำอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โรงเรียนนี้มีครูใหญ่ชื่อเลี่ยง เวชรังษี และมีครูดำ ม่องกี้, ครูเปลื้อง กาญจโนภาส, ครูฉัตร โสภณ เป็นครูสอน เรียนจบชั้น ป.๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในการศึกษาสมัยนั้นแล้วย้ายไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งนักเรียนเป็นชายล้วน (สมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังโรงเรียนเปิดภาคเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม มีครูโชติ เหมรักษ์ ต่อมาเป็นขุนวิจารณ์จรรยา เป็นครูใหญ่

     เนื่องจากโรงเรียนอยู่ไกลบ้าน จึงอาศัยวัดยางซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนเป็นที่พักจนจบ ม.๓ ขณะเรียน ม.๔ ต่อได้ครึ่งปี บิดาป่วยจึงต้องลาออกมาช่วยเหลือครอบครัว

     พ.ศ. ๒๔๗๐ ขณะอายุ ๑๖ ปี ได้ติดตาม “หลวงลุงพระอาจารย์พุ่ม ธมฺมทินฺโน วัดคูหาสวรรค์ ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ไปยังรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย แล้วต่อมากลับมาทำงานเหมืองแร่และสวนยาง ที่ จังหวัดภูเก็ต ได้ค่าจ้างวันละ ๙๐ สตางค์ 


บรรพชาอุปสมบท

     พ.ศ. ๒๔๗๒ อายุ ๑๘ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ณ วัดอุปนันทาราม ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยมี พระรนังควินัยมุนีวงศ์ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพิพัฒน์สมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์

     ต่อมา ท่านได้เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประชาบาล เงินเดือนๆ ละ ๒๕ บาท และเรียนนักธรรมไปพร้อมกันโดยสอบนักธรรมตรีได้ที่ ๑ ทั้งมณฑลภูเก็ต จนพระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ (ทนง บุนนาค) เจ้าเมืองภูเก็ตขณะนั้น ถวายรางวัลผ้าไตร ๑ ไตร นาฬิกา ๑ เรือน หัวข้อกระทู้ธรรมในการสอบครั้งนั้นคือ “น สิยา โลกวฑฺฒโน - ไม่พึงเป็นคนรกโลก”

     พ.ศ. ๒๔๗๔ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ณ พัทธสีมาวัดนางลาด ตำบลเขาเจียก อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง โดยมี พระครูจรูญกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาพลัด วัดคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูเคว็จ วัดคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ปทุมุตฺตโร” ซึ่งแปลว่า “ดอกบัวประเสริฐ หรือผู้ประเสริฐดุจดอกบัว

     พ.ศ. ๒๔๗๕ เทศน์ครั้งแรกที่วัดปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันพระวันหนึ่ง บังเอิญเจ้าอาวาสไม่อยู่ ชาวบ้านมาทำบุญและอยากฟังเทศน์ตามปกติ จึงนิมนต์พระปั่น ปทุมุตฺตโร (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) ขึ้นธรรมาสน์ เพราะเห็นว่ามีความรู้ขั้นนักธรรมเอก แล้วท่านก็สร้างความอัศจรรย์แก่ชาวบ้านบนศาลาวัด เมื่อแสดงธรรมเทศนาได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่อาศัยหนังสือใบลานเลยแม้แต่น้อย นับเป็นการเริ่มต้นชีวิตพระนักเทศน์ขึ้นครั้งแรก ณ วัดแห่งนี้

     ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ “พระโลกนาถพระภิกษุชาวอิตาเลียนผู้โด่งดัง มีแนวคิดจะเดินธุดงค์จากเมืองไทยผ่านประเทศพม่า อินเดีย และประเทศต่างๆ แถบยุโรปจนถึงประเทศอิตาลีบ้านเกิดเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกาศชักชวนพระสงฆ์สามเณรไทยเข้าร่วมเดินธุดงค์ พระปั่นมีความสนใจจึงชักชวนพระสงฆ์สามเณรอีก ๘ รูป (พระบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต ร่วมเดินธุดงค์ไปด้วย สามเณรมีรูปเดียวคือ สามเณรกรุณา กุศลาสัย) จากจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุงไปสมทบ ท่านพุทธทาสภิกขุก็ถูกพระโลกนาถชักชวนด้วย แต่ท่านปฏิเสธ มาบอกความในใจภายหลังว่า “ไม่เลื่อมใส เพราะพระฝรั่งรูปนี้ตั้งชื่อเหมือนพระพุทธเจ้า (นามโลกนาถ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า)” เรียกคณะธรรมทูตชุดนี้ว่า “พระภิกษุใจสิงห์

     ในบรรดาคณะธรรมทูต “พระภิกษุใจสิงห์” มี พระบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต เพียงรูปเดียวเท่านั้นที่สามารถสื่อสารกับ “พระโลกนาถ” ได้ เพราะท่านสามารถพูดเขียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ ซึ่งพระปั่น ปทุมุตฺตโร ได้เอ่ยถามวันหนึ่งว่าไปเรียนภาษาเหล่านี้มาจากไหน ท่านตอบสั้นๆ ว่า “เรียนเอง”

     ขณะคณะพระสงฆ์สามเณร ๙ รูป เดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช มีญาติโยมติดตามไปส่งมากมายนับพันคน และที่นี่ก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ฮือฮาอีกหน้าหนึ่ง เมื่อพระปั่นแสดงปาฐกถาธรรมด้วยการยืนเทศน์บนม้านั่ง หน้าไมโครโฟน หลังสถานีรถไฟ กลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ยืนเทศน์ของวงการสงฆ์เมืองไทย ซึ่งต่อมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากวงการสงฆ์ว่า ไม่เหมาะสม ไม่สำรวม บ้างก็ว่าไม่ได้เทศน์ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้อ่านจากใบลาน แต่เรื่องนี้ก็ได้รับการยอมรับในเวลาต่อๆ มา

     แต่การเดินทางจาริกแสวงบุญครั้งนี้ก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้ เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าแล้ว สุดท้ายพระปั่นจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย (คงมีแต่สามเณรกรุณา กุศลาสัย ติดสอยห้อยตามพระโลกนารถไปผจญภัยในภารตประเทศ) โดยท่านล่องใต้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอุทัย อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และสร้างตำนานการบรรยายธรรมนอกใบลาน ทันยุคสมัย จนเกิดการบอกเล่ากันปากต่อปาก ทำให้มีกิจนิมนต์ไปบรรยายธรรมอยู่มิได้ว่างเว้น

     พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖ ศึกษาภาษาบาลี ณ วัดสามพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค แล้วเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) จึงไม่ได้เรียนต่อ แล้วหันมาสนใจเทศน์สอนธรรมแก่ประชาชนในเวลาต่อมา


เกียรติคุณ


พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับรางวัล "สังข์เงิน" เป็นเกียรติในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๒๐ จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย
๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับรางวัลนักพูดดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๐ ประเภทเผยแพร่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับการยกย่องและคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี จากกรมการศาสนา โดยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ ๒ รางวัล คือ ประเภท ก.บุคคล และประเภท ข.สื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์)
พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับโล่เป็นเกียรติในการประชุมวิชาการ ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๘/๒๕๒๙ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับวุฒิบัตรสัญลักษณ์อนุรักษ์ผู้ประพฤติธรรม จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับโล่รางวัลคนดีศรีปักษ์ใต้ จากสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์
๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับรางวัลเหรียญทอง TOBACCO OR HEALTH MEDAL-๑๙๕๕ จากองค์การอนามัยโลก (ยูเนสโก) เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก
๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณวิทยากรผู้สัมมนาโครงการปีรณรงค์ประชาร่วมใจกำจัดโรคเรื้อน จากกระทรวงสาธารณสุข
พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานโล่รางวัลมหิดลวรานุสรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับถวายปริญญาการศึกษาศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับรางวัลศาสตรเมธี สาขาสังคมศาสตร์ ด้านศาสนาและปรัชญา จากมูลนิธิศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับใบประกาศเกียรติบัตรการบริจาคสมทบทุนจัดซื้อที่ดินมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จากพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับโล่รางวัลเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนพัทลุง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จากคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปีโรงเรียนพัทลุง
๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับใบประกาศรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบคนดีศรีแผ่นดิน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากฯพณฯ นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐ ของสำนักงานคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ เป็นประธานกรรมการคุรุสภา จาก ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศสดุดีเกียรติคุณผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากฯพณฯ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๕๐๓  เป็น เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์
พ.ศ. ๒๕๐๖  เป็น พระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ
พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๔๐  เป็น รองเจ้าคณะภาค ๑๘
พ.ศ. ๒๕๑๘  เป็น พระอุปัชฌาย์ ประเภทสามัญ
พ.ศ. ๒๕๓๕  เป็น เจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม เมืองฮินสเดล รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๒  เป็น เจ้าคณะภาค ๑๘
พ.ศ. ๒๕๔๒  เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๘

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. ๒๕๐๓  เป็น เจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลี วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จังหวัดนนทบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๒  เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา วัดชลประทานรังสฤษฎ์
พ.ศ. ๒๕๒๔  เป็น ผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษฎ์

งานเผยแผ่

พ.ศ. ๒๔๙๒ - ๒๕๐๒  เป็น องค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๐๓  เป็น องค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
พ.ศ. ๒๕๐๖  เป็น หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๙ (ตรัง กระปี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา พัทลุง นราธิวาส สตูล ปัตตานี และยะลา)
พ.ศ. ๒๕๑๘  เป็น ผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ ๑๖/๒๕๑๘, รุ่นที่ ๑๗/๒๕๑๙ จากกระทรวงยุติธรรม

งานด้านการเผยแผ่และศาสนากิจในต่างประเทศ

     พ.ศ. ๒๔๗๖ ร่วมคณะธรรมทูตชุดที่ชื่อว่า “พระภิกษุใจสิงห์” รวม ๔๕ รูป เดินธุดงค์ไปเผยแผ่ธรรมที่ประเทศพม่ากับ “พระโลกนาถ” พระภิกษุชาวอิตาเลียน โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานอุปถัมภ์รูปละ ๕๐ บาท พร้อมหนังสือเดินทาง

     พ.ศ. ๒๔๙๗ เดินทางไปเผยแผ่ธรรมและช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนาในต่างประเทศ อาทิเช่น ในทวีปยุโรป ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน ฯลฯ และร่วมประชุมกับขบวนการฟื้นฟูศีลธรรมโลก (M.R.A.) ที่เมืองโคซ์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนหลวงพ่อได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป

     พ.ศ. ๒๕๓๖ ไปร่วมประชุมและบรรยายในการประชุมสภาศาสนาโลก ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม-๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖

งานพิเศษ

     พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้แสดงพระธรรมเทศนาถวายแด่สมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๓ 
     พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้แสดงพระธรรมเทศนาถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ 
     - ได้แสดงพระธรรมเทศนาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ยิ่ง ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ 
     - เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น 
     พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเซียนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ ๗ ณ ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (๑๒th Asain Buddist Conference for Peace) 
     พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมและบรรยายในการประชุมสภาศาสนาโลก ๑๙๙๓ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม-๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖ (The ๑๙๙๓ Parliament of the world&#๓๙;s Religion) 
 

งานด้านวิทยานิพนธ์


     ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น

  • ทางสายกลาง
  • คำถามคำตอบพุทธศาสนา
  • คำสอนในพุทธศาสนา
  • หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
  • รักลูกให้ถูกทาง
  • ทางดับทุกข์
  • อยู่กันด้วยความรัก
  • อุดมการณ์ของท่านปัญญา
  • ปัญญาสาส์น
  • ชีวิตและผลงาน
  • มรณานุสติ
  • ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
  • ๗๒ ปี ปัญญานันทะ
  • กรรมสนองกรรม เป็นต้น

มรณกาล


     พระพรหมังคลาจารย์ (ปั่น ปญฺญานนฺโท) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยเหตุติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี ๕ เดือน พรรษา ๗๖

สมณศักดิ์


๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปัญญานันทมุนี [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชนันทมุนี ธรรมาวาทีคณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี ศรีภาวนาจารย์ สุนทรญาณพิสิฏฐ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมภาณ วิสาลธรรมวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมมังคลาจารย์ ไพศาลธรรมโกศล วิมลศีลาจารวินิฐ พิพิธธรรมนิเทศ พิเศษวรกิจจานุกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ที่มา


1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔, ตอนที่ ๖ ง, ๑๒ มกราคม ๒๕๐๐, หน้า ๑๑
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๘, ตอนที่ ๑๕๑ ง, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔, หน้า ๔
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๓
4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๑, ตอนพิเศษ ๕๗ ง, ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗, หน้า ๓
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคใต้
ลานธรรมจักร


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook