|
VIEW : 2,284
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลท่านพุทธทาสภิกขุ มีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมียในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพุมเรียงยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านพุทธทาสภิกขุอพยพจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น พานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย
งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่าง บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย แม้ที่สวนโมกขพลาราม งานไม้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการทำกันเองของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความสามารถในทางกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งอิทธิพลต่อท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก โดยผลงานธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น
มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ตาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ทำให้มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ได้ส่งต่อมาที่บุตร และหล่อหลอมให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา
ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ ๓ ปี และ ๖ ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน[๒] และใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ อุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก โดยมี พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่
พ.ศ. ๒๔๗๓ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค |
๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๒ | ได้รับถวายพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย |
๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ | ได้รับถวายอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร |
๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ | ได้รับถวายปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง |
๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ | ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ | ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ | ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ |
๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ | ได้รับถวายศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
พ.ศ. ๒๔๙๒ | เป็น เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา |
ประธานสงฆ์ สวนโมกขพลาราม |
นอกจากสมณศักดิ์และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างๆ ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังสือแก่นพุทธศาสน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จากองค์การยูเนสโก
พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลทำประโยชน์ฝ่ายบรรพชิตเนื่องในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ได้รับรางวัลเป็นสัญลักษณ์เสาอโศก และเงินสดจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ. ๒๕๓๗ คุรุสภาประกาศยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่งต่อการศึกษาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี กระทรวงศึกษาธิการ
๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลไทย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมทางธรรมะเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล ท่านพุทธทาสภิกขุ
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น "พุทธทาส" เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนาดังบทประพันธ์ของท่านที่ว่า
พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย | แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง |
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง | นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา |
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย | ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา |
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา | ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย |
พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย | อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย |
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย | โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ |
แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว | แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย |
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย | ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง |
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย | ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง |
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง | เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง |
ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด | ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง |
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง | ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ |
พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็น
เปรียญธรรม ๓ ประโยค
|
พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระครูอินทปัญญาจารย์
|
๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญ
ที่ พระอริยนันทมุนี
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็น
พระราชาคณะชั้นราช
ที่ พระราชชัยกวี สมาธินทรีย์คณาธิปัตย์ โมกขพลวัตรธรรมสุนทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[1]
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็น
พระราชาคณะชั้นเทพ
ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี ศรีภาวนาจารย์ สุนทรญาณพิสิฏฐ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[2]
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น
พระราชาคณะชั้นธรรม
ที่ พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[3]
|
1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔, ตอนที่ ๑๐๗ ง, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๐, หน้า ๒๙๕๓ |
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๘, ตอนที่ ๑๕๑ ง, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔, หน้า ๒ |
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๑ |
ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคใต้ |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook