พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร ป.ธ.๗) | พระสังฆาธิการ

พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร ป.ธ.๗)


 
เกิด ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๖๖
มรณภาพ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕
วัด วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
สังกัด มหานิกาย
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๗


VIEW : 2,698

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

สถานะเดิม


     พระมงคลราชมุนี มีนามเดิมว่า สนธิ์ พงศ์กระวี เกิด ณ วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๒๖๕ เวลา ๖.๐๐ น. เศษตรงกับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ณ ตำบลบ้านป่าหวาย อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โยมผู้ชายชื่อสุข โยมผู้หญิงชื่อทองดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๑ คน คือ

     ๑. นายบก ทิพโม
     ๒. นางจอย วงศ์เทียน
     ๓. นายพริ้ง พงศ์กระวี
     ๔. นางเที่ยง ราชวงศ์
     ๕. นางเม้า จินนิฤทัย
     ๖. พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ พงศ์กระวี)
     ๗. นางแสง จอนจา
     ๘. นางฉ่ำ พงศ์กระวี
     ๙. นางมี มิทิน
     ๑๐. นางขาว สุขกสิกร
     ๑๑. นายมงคล พงศ์กระวี

     เมื่อมีอายุได้ ๑๑ ขวบ ขณะนั้นโยมผู้ชายของท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว โยมผู้หญิงของท่านจึงได้นำท่านมาฝากไว้กับพระภิกษุบุญ (หลวงตาบุญ) ซึ่งเกี่ยวเป็นญาติกับโยมผู้หญิงของท่านที่วัดสุทัศน์เทพวราราม คณะ ๑๕ เพื่อให้ศึกษาอักขระสมัยฝ่ายบาลี ตามคตินิยมที่เล่าเรียนกันในยุคนั้น คือ เริ่มเรียนคัมภีร์สนธิ คัมภีร์นาม คือไปตามลำดับ


บรรพชา

     ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ อายุของท่านได้ ๑๓ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

     ในระหว่างที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไปตามปกติ จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว ตำบลบางแก้ว อำเภอนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม ในความปกครองของเจ้าคุณพุทธิวิถีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมในยุคนั้น ตราบจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ตามเดิม

     ในตอนที่ท่านจะกลับมานี้ ตามที่ท่านได้เคยกรุณาเล่าให้บรรดาศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยฟังว่า ขณะเมื่อท่านเข้าไปกราบลา เจ้าคุณพุทธวิถีนายกเพื่อจะกลับกรุงเทพฯ เห็นจะเป็นเพราะความกรุณาที่ท่านเจ้าคุณพุทธฯ มีต่อท่าน เพราะได้เอ่ยปรารภไม่อยากให้ท่านกลับกรุงเทพฯ เลย ท่านมีความประสงค์ที่ต้องการที่จะเอาไว้แทนตัวท่าน (เนื่องจากเจ้าคุณพุทธวิถีนายกองค์นี้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเชิงวิปัสสนาธุระมีผู้เคารพนับถือท่านมาก) แต่เมื่อท่านเจ้าคุณพุทธฯ ท่านเห็นว่าไม่สามารถจะขัดขวางหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ได้ ก็จำเป็นต้องอนุโลมผ่อนตามพร้อมกับประสาทคำพยากรณ์ให้ไว้ว่า "คนลักษณะอย่างเณรมันต้องเป็นอาจารย์คน" ซึ่งคำพยากรณ์ของท่านเจ้าคุณพุทธฯ ดังกล่าวนี้ก็ได้ประสิทธิผลสมจริงทุกประการ


อุปสมบท

     เมื่อท่านได้กลับคืนมาสู่วัดสุทัศน์ตามเดิมแล้ว ก็ได้ศึกษาธรรมวินัยต่อไปและได้เข้าสอบประโยคนักธรรมตรีได้ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เข้าสอบประโยคนักธรรมโทได้ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕

     อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปลัดสุวัฒน พระพรหมจริยคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (นาค สุมมนาโค) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพเวที และยังสถิตอยู่ที่วัดสุทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เสด็จพระอุปัชฌาย์ขนานนามฉายาว่า "ยติธโร" หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยตลอดมา

     ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สอบเปรียญธรรมได้ ๓ ประโยค และเป็นพระเปรียญรุ่นสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานนิตยภัตต์ เพราะปรากฏว่าต่อแต่ปีนั้นมา พระภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรมได้ แม้จนถึง ๙ ประโยค ก็ไม่ได้รับพระราชทานนิตยภัตต์เลยจนตราบเท่าทุกวันนี้

     ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ สอบเปรียญธรรมได้ ๔ ประโยค พร้อมทั้งได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมรักขิต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์ และในปีนั้นเองก็ได้ขึ้นครองเป็นเจ้าคณะ ๑๓ แทนเจ้าคณะเดิมที่ถึงแก่มรณภาพ

     ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านได้ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก คือถูกคนวิกลจริตฟันท่านด้วยมีดตอก ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่งเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ เวลาประมาณ ๔.๐๐ น. เศษ

     ผลจากการถูกทำร้ายอย่างสาหัสในคราวนั้น ทำให้ท่านอาพาธหนักไปพักหนึ่ง ประมาณสามเดือน ได้ขึ้นไปรักษาตัวอยู่ที่บ้านเดิมของท่าน เมื่อหายจากการอาพาธแล้วได้กลับคืนมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ตามเดิม และเมื่อมาถึงได้ขึ้นไปเฝ้าเสด็จพระอุปัชฌาย์ เสด็จทรงรับสั่งว่า "อ๋อ! มหาสนธิ์ เธอหายดีแล้วหรือ" แล้วท่านก็รับสั่งเรียกให้เข้าไปใกล้ ทรงจับศีรษะท่านไว้แล้วทรงเป่าให้ ๓ ครั้ง พร้อมกับทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า "ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่มีอะไรอีกแล้ว" คำรับสั่งประสาทพรของเสด็จในครั้งกระนั้นเป็นมหามนต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองป้องกันสรรพภัย ให้แก่ท่านตลอดมา เพราะนับแต่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าท่านได้รับอันตรายที่ร้ายแรงเลยตราบเท่าถึงกาลมรณภาพ

     อนึ่ง ในปีนั้นเองท่านได้เลื่อนตำแหน่งฐานานุกรมจากพระครูธรรมรักขิต เป็นพระครูวิจารณ์โกศล และเลื่อนจากพระครูวิจารณ์โกศล เป็นพระครูวิจิตร์สังฆการ ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์

     ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้เลื่อนตำแหน่งฐานานุกรมจากพระครูวิจิตร์สังฆการเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมในสมเด็จพระวันรัตปี พ.ศ. ๒๔๗๔ สอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรมเอก ๗ ประโยคแล้ว ท่านก็หยุดเข้าสอบประโยคต่อๆ ไปอีก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     ถึงแม้ว่าท่านจะปลงใจหยุดไม่เข้าสอบประโยคต่อๆไปอีก แต่ท่านก็ยังคงศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในพระไตรปิฎกอยู่เสมอ มิได้ว่างเว้นทอดทิ้งเลย ใช่แต่เท่านั้น ท่านยังเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาในศาสตร์ต่างๆ อีกด้วย ขึ้นแรกหันเข้าศึกษาค้นคว้าวิชาแพทย์แผนโบราณพยายามรวบรวมตำราแพทย์เอาไว้ได้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นท่านก็ได้ประกอบยาแก้โรคขึ้นไว้หลายขนาน เพื่อใช้บำบัดโรคภัยไข้เจ็บจากผู้ที่มาขอรับการรักษา โดยมิได้คิดมูลค่าแต่ประการใดเลย

     ยาที่ท่านประกอบขึ้นแต่ละขนานปรากฏว่ามีสรรคุณใช้บำบัดโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพราะผู้ที่มาขอเอาไปใช้นั้นต่างประจักษ์ผลความศักดิ์สิทธิ์ของยาที่ท่านประกอบขึ้นแทบทุกคน

     นอกจากวิชาแพทย์แล้วท่านยังสนใจในวิชาโหราศาสตร์ ทั้งในด้านพยากรณ์ด้วยศาสตร์ประเภทนี้เองนับว่าท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้ในวงจักรวาลโหรไทยอย่างเลอเลิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคำนวณฤกษ์ยามเพื่อประกอบพิธีการมงคลต่างๆ ฤกษ์ของท่านที่คำนวณให้ไปทุกคราว ปรากฏว่าให้ผลดีแก่เจ้าของงานแทบทุกราย และบางครั้งยังสำแดงนิมิตดีให้ประจักษ์ทันตาเห็นเป็นหลายครั้ง ดังเช่นเมื่อคราวให้ฤกษ์ยกช่อฟ้าที่วัดสุทัศน์ฯ เป็นต้น

     ในระยะหลังเมื่อใกล้กาลมรณภาพของท่าน เกียรติคุณในการคำนวณฤกษ์ได้แพร่เกียรติกำจายไปทั่วทิศานุทิศ ได้มีผู้ที่จะประกอบพิธีการมงคลต่างๆ พากันมาขอร้องให้ท่านช่วยคำนวณฤกษ์ให้แทบทุกเมื่อเชื่อวันและมากรายด้วยกัน ซึ่งท่านจำต้องใช้สมองอย่างหนักหน่วงในการนี้ อันเป็นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้พยาธิเข้าครอบงำท่าน

     ศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ท่านเชี่ยวชาญเจนจบเป็นพิเศษ แทบจะหาผู้เสมอเหมือนได้ยากคือ "ไสยศาสตร์" วิทยาการอันลี้ลับที่กล่าวถึงการใช้เวทมนตร์คาถา ท่านสนใจในวิชาประเภทนี้มาก ดูเหมือนว่าเริ่มแต่เป็นสามเณรเมื่อครั้งออกไปอยู่วัดกลางบางแก้ว กับท่านเจ้าคุณพุทธวิถีนายก

     แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าจะเชื่อถืออย่างงมงายโดยปราศจากเหตุผล ท่านได้พยายามค้นคว้าหาเหตุที่มาของมนต์และคาถาต่างๆ ได้โดยละเอียดถูกต้องเรียบร้อยและพิสดารยิ่ง จบแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีมนต์หรือคาถาบทใดเลย ที่ไม่เคยผ่านสายตาของท่าน

     พร้อมทั้งการค้นคว้าในหลักวิชาเวทมนตร์คาถานี้ ท่านก็ได้เพียรบำเพ็ญอบรมจิตใจของท่านในทางวิปัสสนาธุระควบไปด้วย เรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ก็ได้เคยสำแดงออกให้เห็นประจักษ์แก่ตาแก่ใจ ในเหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์โดยทั่วกันทุกคน จนแทบจะกล่าวได้ว่าสืบเบื้องหน้าต่อไปจะหาพระมหาเถราจารย์เยี่ยงท่านอีก ก็เปรียบเสมือนไปเดินงมเข็มในก้นท้องทะเลฉะนั้น

     วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ "พระศรีสัจจญาณมุนี" ซึ่งพระราชาคณะตำแหน่งนี้ มิได้เคยแต่งตั้งให้แก่พระเถระรูปใดเลยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ และดูเหมือนว่าจะเคยมีการแต่งตั้งกันบ้างก็แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเท่านั้น

     ฉะนั้นเมื่อตอนก่อนที่จะได้รับพระราชทานตำแหน่งที่พระศรีสัจจญาณมุนีนี้ ได้มีการประชุมกันเพื่อเลือกหาราชทินนามเพื่อขอพระราชทาน มีพระเถรรูปหนึ่งที่เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยได้ถวายความเห็นคัดค้านต่อเสด็จพระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งเป็นองค์ประธานในที่ประชุมนั้น และซ้ำทรงเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในที่ประชุมนั้นว่า ควรใช้ราชทินนามว่า พระศรีสัจจญาณมุนี

     พระเถระกรรมการรูปนั้นได้ถวายความเห็นว่า ตำแหน่งที่พระศรีสัจจญาณมุนีขึ้น ควรแก่ผู้ที่เป็นโหรเท่านั้น ถ้าจะให้มหาสนธิ์เป็นเห็นจะไม่เหมาะ แต่เสด็จกลับทรงนับสั่งว่า "มหาสนธิ์ของฉันก็เป็นโหรเหมือนกัน" เรื่องจึงเป็นยุติกันแค่นั้น 

     เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านได้ย้ายจากคณะ ๑๓ มาขึ้นครองคณะ ๑๑ ดำรงตำแหน่งพระราชาคณะที่พระศรีสัจจญาณมุนีสืบเรื่อยมาเป็นเวลา ๑๓ ปี

     วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านจึงได้เลื่อนจากตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราช

     ท่านได้ครองอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อมาจนถึงวันมรณภาพ มูลเหตุที่จะเกิดพยาธิเบียดเบียนท่านจนถึงแก่การมรณภาพนั้น ก็เห็นจะเป็นเพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ตรากตรำมาก เบื้องต้นก็ตรากตรำในการศึกษาเล่าเรียนและการงานจนแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนกล่าวคือ นับแต่ท่านเริ่มสอนได้เปรียญธรรมท่านก็อุทิศเวลาของท่านสอนหนังสือให้แก่พระภิกษุสามเณร สอนกันอย่างเอาจริงเอาจังทีเดียว พอว่างจากการสอน ท่านก็หันมาจับมาจับการเรียนของท่านต่อไปอีก วันหนึ่งจะหาเวลาพักผ่อนได้น้อยเต็มที เหตุนี้เองจึงทำให้สังขารของท่านบอบช้ำมาก และต่อมาภายหลังเมื่อว่างในด้านศึกษาแล้ว ท่านกลับมาเพิ่มภารกิจในหน้าที่ของพระมหาเถราจารย์อีก ได้รับนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ เสมอเป็นเนืองนิตย์ เช่นประกอบพิธีการหล่อพระพุทธรูป ซึ่งเป็นพิธีที่ใหญ่ต้องใช้เวลามาก เริ่มแต่การจารึกพระยันต์ ๑๐๘ ลงในแผ่นโลหะ ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จก็เป็นการทรมานสังขารมิใช่น้อย มิใช่ว่าจะทำกันเป็นบางครั้งบางคราวหรือนานทีปีหน ท่านปฏิบัติในธุรกิจเช่นนี้แทบว่าจะเป็นประจำทีเดียว แม้บางครั้งบังเกิดอาการอาพาธขึ้น ท่านก็พยายามแข็งขืนกลืนกล้ำกระทำพิธีดังกล่าวจนแล้วเสร็จไม่ยอมรามือ

     เมื่อเสร็จจากการลงแผ่นโลหะแล้ว จากนั้นก็ต้องนั่งปรกเข้าพิธีสวดพุทธาภิเษก นั่งปรกไปจนกว่าจะได้ฤกษ์เททอง การประกอบพิธีเช่นนี้แต่ละครั้งทำให้สุขภาพของท่านค่อยๆ เสื่อมทรุดลงทุกที เมื่อมีเวลาว่างพอที่จะได้พักผ่อนจำวัด ก็แทนที่จะได้รับการพักผ่อนอย่างสาสมเต็มที่ กลับต้องมานั่งรับแขกที่กุฏิอีกตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเหตุว่ามีผู้คนพากันไปมาหาสู่ท่านเสมอมิได้ขาด และเมื่อผู้ใดได้ไปสู่ถึงสำนักของท่านแล้ว ท่านจะต้องให้การต้อนรับเป็นอย่างดีโดยทั่วถึงกันทุกคน

     จากวันที่ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ จากพระศรีสัจจญาณมุนีเป็นพระมงคลราชมุนี สุขภาพของท่านก็เริ่มเสื่อมโทรมลงทุกที อาการอาพาธเริ่มปรากฏตัวขึ้นทีละน้อยๆ แต่ท่านเป็นผู้ที่กำลังใจเข้มแข็งอย่างเลิศ ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาเลย แม้จนกระทั่งเมื่อได้ทราบอาการของโรคจากผลการตรวจของนายแพทย์แล้วว่า ท่านกำลังอาพาธด้วยโรควัณโรค เหล่าศิษยานุศิษย์แทบทุกคน ตลอดจนบรรดาผู้ที่ถวายความเคารพนับถือในตัวท่านพยายามช่วยกันอ้อนวอนจะจัดหานายแพทย์มาถวายการรักษาพยาบาล แต่ท่านก็ยังคงยืนกรานเฉยเมยทำประดุจเป็นทองไม่รู้ร้อน เคยปฏิบัติกิจของท่านอย่างไร ท่านก็ปฏิบัติอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง หยูกยาที่มีผู้จัดหาไปถวายให้ฉัน บางครั้งก็ฉัน บางครั้งก็ไม่ฉัน อันนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้อาการอาพาธทวีขึ้นโดยรวดเร็ว จนในท้ายที่สุดเมื่ออาการอาพาธย่างเข้าขีดที่สุดแล้วท่านจึงยอมให้ถวายการรักษาพยาบาล ระยะหลังท่านได้ย้ายจากกุฏิใหญ่ลงมาอยู่กุฏิหัวมุมข้างด้านซ้าย แต่อาการอาพาธของท่านทรุดหนักเพียบลงเสียแล้ว จนที่สุดนายแพทย์จะเยียวยาไหว ในวันคืนวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ตรงกับวันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ยังเป็นปีเถาะตรีศก จุลศักราช ๑๓๑๓ เวลา ๒๑.๒๐ น. ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบท่ามกลางความวิปโยคอย่างใหญ่หลวง ของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งปวง

 


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๖๕ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๖๗ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๘ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๔ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๗๔ สอบได้ เปรียญธรรม ๗ ประโยค

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

 รักษาการเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม

สมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็น พระครูธรรมรักขิต ฐานานุกรมใน สมเด็จพระพุฒาจารย์
พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็น พระครูวิจิตร์สังฆการ ฐานานุกรมใน สมเด็จพระพุฒาจารย์
พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็น พระครูรองคู่สวด ที่ พระครูวิจารณ์โกศล ฐานานุกรมใน สมเด็จพระพุฒาจารย์
พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมใน สมเด็จพระวันรัต
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีสัจจญาณมุนี
๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็น พระราชาคณะเสมอตำแหน่งราช ที่ พระมงคลราชมุนี สุทธศีลพรตนิเวฐเจษฎาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ที่มา


ทำเนียบอดีตพระราชาคณะภาคกลาง
dharma-gateway.com


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook