|
VIEW : 1,964
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลเมื่ออายุได้ ๑๐ ปี ได้เรียนอักษรสมัยภาษามอญ ในสำนักพระอาจารย์นันท์ วัดศาลทอง แล้วได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์นันท์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้มาเรียนพระปริยัติธรรม ที่วัดปากอ่าว (เกล็ด) (คือวัดปรมัยิกาวาส ในปัจจุบัน) ภายหลังตามพระอาจารย์นันท์มาอยู่วัดชนะสงคราม ในกรุงเทพ ซึ่งต่อมาพระอาจารย์นันท์ได้เป็นพระวินัยธร (เข้าใจว่าเป็นฐานานุกรมในพระสุเมธาจารย์ เจ้าคณะรามัญ)
ในรัชกาลที่ ๔ อายุได้ ๒๒ ปี ได้ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบางพูด (นอก) เมื่อวันอาทิตย์แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ พ.ศ. ๒๓๙๙ พระปลัดเจ้าอาวาสวัดบางพูด (ใน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรรม วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวินัยธรนันท์ วัดชนะสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาอยู่ที่วัดชนะสงครามตามเดิม แล้วได้เข้าสอบไล่พระปริยัติธรรมเปรียญรามัญ สอบได้เปรียญ ๔ ประโยครามัญ (เทียบเท่าเปรียญไทย ๕ ประโยค ถือว่าจบเปรียญรามัญเพราะมีสูงสุดแค่เปรียญ ๔ ประโยคเท่านั้น) ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระครูราชปริตร (ตำแหน่งปริตรรามัญ) แล้วให้ไปรักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรมงคลอยู่คราวหนึ่ง ราวพ.ศ. ๒๔๑๐ เมื่อหม่อมเจ้าพระศีลวราลังการ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม สิ้นชีพิตักษัยแล้ว
รัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอุดมญาณ แล้วโปรดให้ครองวัดชนะสงครามสืบต่อมา จากการตรวจสอบจากเอกสารต่าง ๆ แล้วสันนิษฐานว่า ผู้บันทึกประวัติท่านอาจเข้าใจผิดได้ว่าท่านเป็นพระครูปริตจึงคิดว่าเป็นพระครูราชปริต ในจดหมายเหตุ การตั้งสมณศักดิ์นั้นปรากฏว่าท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสุนทรวิลาศ และในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะดังข้อความในจดหมายเหตุว่า
“วันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ (ปีเถาะ นพศก) ตั้งที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ให้พระครูสุนทรวิลาศ วัดชนะสงคราม เป็นพระอุดมญาณ เดิม (นิตยภัต) ๑ ตำลึง ๒ บาท ขึ้น ๑ ตำลึง ๒ บาท (รวม) ๓ ตำลึง พระปลัดอุตมทีปะ วัดชนะสงคราม เป็นพระครูสุนทรวิลาศ นิตยภัต ขึ้น ๑ ตำลึง ๒ บาท”
ในรัชกาลที่ ๕ (ปีใดไม่ปรากฏ) ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนเป็นพระสุเมธาจารย์ บริหารธรรมขันธ์ รามัญสังฆคณาธิบดี ที่ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่รามัญนิกาย (เสมอชั้นธรรม) มีนิตยภัต ๕ ตำลึง มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๕ รูปคือพระครูปลัด ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑
ต่อมามีอธิกรณ์มีความผิดโดยใช้อำนาจลงโทษพระปลัดคลัง วัดปรมัยยิกาวาศ เกินสมควร ทรงพระกรุณาโปรดให้ลดสมณศักดิ์และลดนิตยภัตลงมาเทียบตำแหน่งพระอุดมญาณ แต่ยังคงราชทินนามที่พระสุเมธาจารย์ตามเดิม แล้วให้ปฏิบัติราชการแก้ตัวต่อไป
เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๖ พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสไซโยก พระสุเมธาจารย์ (ศรี) ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย เมื่อเสด็จกลับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงสมณศักดิ์และรับนิตยภัตรตามเดิม ตามพระบรมราชโองการว่า
“พระราชาคณะรามัญ พระสุเมธาจารย์ เปลี่ยนตาลิปัตให้ถือพัดที่ธรรมอย่างเก่า เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกาย นิตยภัต เดิม ๔ ตำลึง ๒ บาท ขึ้น ๒ บาท (รวมเป็น) ๕ ตำลึง”
พ.ศ. ๒๔๑๐ - ๒๔๕๕ | เป็น เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม |
เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกาย |
ในรัชกาลที่ ๖ ราว พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านอาพาธด้วยโรคชรา สุขภาพไม่แข็งแรง รัชกาลที่ ๖ โปรดยกเป็นกิตติมศักดิ์ แล้วให้พระประสิทธิ์ศีลคุณ มาครองวัดแทนและในปีนั้นเองท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันศุกร์แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๗๔ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ เวลา ๒๐.๒๕ น. สิริอายุได้ ๗๘ ปี ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๙ หน้า ๒๑๐๘ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ร.ศ. ๑๓๑
พระสุเมธาจารย์ (สี) เจ้าคณะรามัญ วัดชนะสงคราม มียศเสมอชั้นธรรม อายุ ๗๘ ปี อาพาธเปนโรคชรา ถึงแก่มรณภาพเมื่อ วันที่ ๕ ธันวาคม ศก ๑๓๑ ฯ
เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระครูสุนทรวิลาศ
|
พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็น
พระราชาคณะ
ที่ พระอุดมญาณ
|
เป็น
พระราชาคณะเสมอชั้นธรรม
ที่ พระสุเมธาจารย์ บริหารธรรมขันธ์ รามัญสังฆคณาธิบดี
เจ้าคณะใหญ่รามัญนิกาย
|
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook