|
VIEW : 3,161
เพิ่ม/แก้ไขข้อมูลเมื่ออายุได้ ๘ เดือน นางหน่าย ใจมั่นคง โยมมารดาผู้ให้กำเนิด ได้ถึงแก่กรรม ดังนั้น นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ สามีภรรยาซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้ขอเด็กชายน้อยๆ ที่มีอายุเพียง ๘ เดือน จากนายเทียน ใจมั่นคง โยมบิดาผู้บังเกิดเกล้า โดยรับอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม
เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี โยมบิดา-มารดาบุญธรรม (นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์) ได้นำเด็กชายแพ ไปฝากอยู่วัดกับสำนักอาจารย์ป้อม เพื่อที่จะศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยม คือ การเรียนภาษาไทย ภาษาขอม นอกจากนั้น ยังได้เรียนหนังสือมูลบทบรรพกิจ ทางธรรมก็มีพระมาลัยสูตร และยังได้หัดอ่านพระธรรม ๗ คัมภีร์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี โยมบิดา-มารดาบุญธรรม ได้ส่งไปศึกษาต่อที่สำนักวัดอาจารย์สม ภิกษุชาวเขมร วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ การศึกษาในกรุงเทพฯ ขั้นแรกได้เริ่มเรียนหนังสือโบราณท่องสนธิ เรียนมูลกัจจายนสูตร เป็นเวลา ๑ ปี ต่อมา ก็ไปเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ฯ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
บรรพชา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ วัดพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี พระอธิการพัน จนฺทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้นเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้เดินทางกลับไปอยู่วัดชนะสงคราม ตามเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านสามารถสอบไล่นักธรรมชั้นตรีได้ นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ต่อไปอีก จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ นับว่าได้นำเกียรติมาสู่วัดชนะสงคราม เป็นอย่างมาก จากนั้นท่านได้ไปเล่าเรียนที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ โดยเป็นศิษย์ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ นายเทียน ใจมั่นคง บิดาผู้บังเกิดเกล้าก็ได้ถึงแก่กรรม ท่านจึงเดินทางกลับไปจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อจัดการศพโยมบิดา แล้วกลับมาอยู่วัดชนะสงครามเช่นเดิม
อุปสมบท เมื่อวันพุธที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ พระอุโบสถวัดพิกุลทอง โดยมี พระมงคลทิพยมุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิเตชะ วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมงฺกโร” แปลว่า “ผู้ทำความเกษม”
พ.ศ. ๒๔๗๔ | เป็น เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง พระอารามหลวง |
พ.ศ. ๒๔๘๒ | เป็น เจ้าคณะตำบลถอนสมอ |
พ.ศ. ๒๔๘๓ | เป็น พระอุปัชฌาย์ |
พ.ศ. ๒๔๘๔ | เป็น เจ้าคณะอำเภอท่าช้าง |
พ.ศ. ๒๕๒๕ | เป็น เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี |
พ.ศ. ๒๔๘๓ | เป็น กรรมการตรวจธรรมสนามหลวง |
ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว พระมหาแพ ก็ได้เดินทางกลับสู่วัดชนะสงคราม เพื่อตั้งใจศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ให้ได้ในระดับสูงที่สุด เพื่อที่จะได้นำความรู้ ความสามารถที่ได้ฝักใฝ่ศึกษาเล่าเรียนนั้น นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อชุมชนและพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ พระมหาแพ พยายามที่จะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ อ่านหนังสือตำราเรียนอยู่เสมอ และในปีเดียวกันนั้นท่านสอบนักธรรมชั้นโทได้
โดยความมุมานะพยายาม โดยอาศัยแสงสว่างจากเทียนไขหรือตะเกียง โดยส่วนมากเพราะสาเหตุนี้ นัยน์ตาอันเป็นส่วนสำคัญของสังขาร ก็เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง ทุกครั้งที่ตรากตรำอ่านหนังสือมากเกินไปในที่สุด นายแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แนะนำไม่ให้อ่านหนังสืออีกต่อไป มิฉะนั้น นัยน์ตาอาจพิการได้
ดังนั้นภายหลังจากสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมก็ต้องยุติลง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีใจใฝ่การศึกษา พระแพ เขมังกโร จึงได้ศึกษาและปฏิบัติสมถกัมมัฎฐาน วิปัสสนากัมมัฎฐานในสำนักของพระครูภาวนาฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จนชำนาญและดำเนินการสั่งสอนให้แก่ประชาชนทั่วไป
เมื่ออายุประมาณ ๒๔-๒๕ ปี สมัยยังศึกษาอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้เริ่มสนใจในทางปฏิบัติเพื่อหาความสงบทางใจ จึงเข้าอบรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสำนักพระครูภาวนาฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้ความรู้ในแถวทางปฏิบัติมาพอสมควร และยังได้ศึกษาจากพระครูใบฎีกาเกลี้ยง วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นฐานานุกรมและศิษย์ผู้ใกล้ชิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านสร้าง-ลบผงพุทธคุณ พระครูใบฎีกาเกลี้ยง ท่านได้เมตตาสั่งสอนอบรม และมอบตำราเกี่ยวกับจิตศาสตร์วิทยาคมให้
ต่อมาทราบว่าในท้องที่อำเภอบางระจัน มีพระอาจารย์เรืองวิทยาคมอยู่รูปหนึ่ง มีคนนับถือและเกรงกลัวมากเพราะวาจาศักดิ์สิทธิ์ ชื่อ หลวงพ่อศรี เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ ท่านจึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ จนมีความสามารถและเป็นที่โปรดปรานของหลวงพ่อศรี เป็นอย่างยิ่ง
ท่านเล่าว่า หลวงพ่อศรี เมตตาสอนวิทยาคมให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง และในขณะที่ก่อสร้างพระอุโบสถ หลวงพ่อศรีก็แนะนำให้ท่านสร้างแหวน และทุกครั้งที่ท่านได้สร้างเสร็จ ท่านจะนำไปถวายหลวงพ่อศรีปลุกเสก (ท่านถามหลวงพ่อศรีว่า สร้างแล้วคนนิยมกันไหม หลวงพ่อศรี ท่านบอกว่านิยมมาก ให้สร้างมากๆ ท่านจะสนับสนุน) ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อศรีนี้เอง ทำให้ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ได้สำเร็จในเวลา ๒ ปีเศษ
พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ) มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ทางคณะแพทย์ได้เห็นสมควรนำหลวงพ่อเข้าพักรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี เนื่องจากตรวจพบว่าหลวงพ่อเป็นโรคปอดอักเสบ ทางคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนอาการดีขึ้น
ต่อมาในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ท่านอาการทรุดลง จนกระทั่งเวลา ๐๑.๓๐ น. ของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ ท่านได้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ไม่รู้สึกตัว และหัวใจหยุดเต้น ทางคณะแพทย์ได้ทำการช่วยจนหลวงพ่อฟื้นคืนชีพได้สำเร็จ และทางได้ถวายดูแลรักษาจนอาการดีขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒ หลวงพ่อท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ ณ ห้อง ๙๐๑ ชั้น ๙ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ๙๔ ปี โรงพยาบาลสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี สิริอายุได้ ๙๔ พรรษา ๗๓
พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็น
เปรียญธรรม ๔ ประโยค
|
พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็น
พระครูสัญญาบัตร
ที่ พระครูศรีพรหมโสภิต
ตำแหน่งพระครูผู้จัดการพระปริยัติธรรมและธรรมวินัย
|
พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท
ในราชทินนามเดิม
|
พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็น
พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ
ในราชทินนามเดิม
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น
พระราชาคณะชั้นสามัญ
ที่ พระสุนทรธรรมภาณี
[1]
|
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น
พระราชาคณะชั้นราช
ที่ พระราชสิงหคณาจารย์ พิศาลมงคลกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[2]
|
๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็น
พระราชาคณะชั้นเทพ
ที่ พระเทพสิงหบุราจารย์ ไพศาลสิทธิมงคล วิมลศาสนกิจจาทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[3]
|
๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็น
พระราชาคณะชั้นธรรม
ที่ พระธรรมมุนี สุทธศีลาจาร ไพศาลประชานารถ โอภาสศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
[4]
|
1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๗, ตอนที่ ๖๐ ง, ๑๖ เมษายน ๒๕๒๓, หน้า ๑๑ |
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๘ |
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๙, ตอนที่ ๑๐๑ ง, ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕, หน้า ๔ |
4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๓, ตอนที่ ๑๐ ข, ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙, หน้า ๖ |
kittinako.blogspot.com |
ลานธรรมจักร |
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com
www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่
พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook