สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.๖) | พระสังฆาธิการ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.๖)


 
ประสูติ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐
พระชนมายุ ๙๗ พรรษา
ผนวช ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑
พรรษา ๗๗
สถิต วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
ท้องที่ กรุงเทพมหานคร
วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๖, ศน.บ., พธ.ด.(กิตติ์), ศน.ด.(กิตติ์)


VIEW : 13,205

เพิ่ม/แก้ไขข้อมูล

พระประวัติ


     สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ตรงกับแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระชนกชื่อ นับ ประสัตถพงศ์ พระชนนีชื่อ ตาล ประสัตถพงศ์ เป็นบุตรคนที่ ๒ จากพี่น้องทั้งหมด ๙ คน มีพระอนุชา ๑ ในนั้นคือ พระพรหมมงคลวัชราจารย์ (ไสว วฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร จังหวัดราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ ๔ ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป.๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐


บรรพชาอุปสมบท

     เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ พระองค์บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์


การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๓ สอบได้ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๘๔ สอบได้ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๘๖ สอบได้ นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๘๖ สอบได้ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้ เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๙๑ สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๙๓ สอบได้ เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๕๐๐ สำเร็จ ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ.) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๑๒ จบ ปริญญาโท ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จาก มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย


เกียรติคุณ


พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ จากสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ จากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ตำแหน่ง

ฝ่ายปกครอง

พ.ศ. ๒๕๓๑ - ๒๕๕๐  เป็น เจ้าคณะภาค ๑๔ - ๑๕ (ธ)
พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๕๒  เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม (โดยแต่งตั้ง)
พ.ศ. ๒๕๕๐  เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ - ๑๕ (ธ)
พ.ศ. ๒๕๕๑  เป็น เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๖๐  เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม (โดยตำแหน่ง)
พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต [1]
พ.ศ. ๒๕๖๐  เป็น ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
 กรรมการคณะธรรมยุต

งานเผยแผ่

พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๖  เป็น รองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒
พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๕๘  เป็น รองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๑
พ.ศ. ๒๕๕๘  เป็น แม่กองงานพระธรรมทูต

สมเด็จพระสังฆราช


     วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๑๘.๓๐ น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

สมณศักดิ์


๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระปริยัติกวี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี ศรีปริยัติวราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์ สุนทรธรรมานุนายก วิสุทธิสาธกสาธุกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์ สุนทรวาสนวงศวิวัฒ ศรีปริยัติกิจจานุกิจ ปาพจนวิภูษิตคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [5]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [6]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี [7]
๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช [8]

ที่มา


1. มติมหาเถรสมาคม เรื่อง เสนอแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๘, ตอนที่ ๑๕๑ ง, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔, หน้า ๗
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๘, ตอนที่ ๒๐๖ ง , ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔, หน้า ๓
4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๗, ตอนที่ ๒๔๒ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๓, หน้า ๒
5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๒, ตอนพิเศษ ๔๗ ง, ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘, หน้า ๓
6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๗, ตอนที่ ๒๘ ข, ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓, หน้า ๗-๑๐
7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๗, ตอนที่ ๗ ข, ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, เล่ม ๑๓๔, ตอนที่ ๕ ข, ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐, หน้า ๑
wikipedia


แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook